กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมหารือกับผู้แทนเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO กว่า 200 คนจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศ ‘PLUS 3’ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกใน ‘ประชุมสัมมนาเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับภูมิภาคอาเซียนบวกสาม’ หรือ ‘ASEAN+3 REGIONAL LEARNING CITIES CONFERENCE 2024’ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2567
สหประชาชาติประมาณการว่า ปัจจุบันประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนเกือบ 700 ล้านคน และกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเมือง “เมื่อพื้นที่ในเมืองโตขึ้น ความท้าทายและโอกาสต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน” ซึ่งความท้าทายที่เกิดขึ้น มีตั้งแต่ปัญหาเร่งด่วน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหนาแน่นของประชากรเมืองที่ส่งผลไปยังสภาพเศรษฐกิจและสังคม การสูญเสียอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น ไปจนถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานยูเนสโกประจำภูมิภาคกรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน ‘ประชุมสัมมนาเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับภูมิภาคอาเซียนบวกสาม’ หรือ ‘ASEAN+3 REGIONAL LEARNING CITIES CONFERENCE 2024’ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างภาคีเครือข่ายในภูมิภาค เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและเร่งให้เกิดความก้าวหน้าในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของวาระการศึกษาปี 2573 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDG 4: การศึกษาที่มีคุณภาพ และ SDG 11: เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน โดยเชิญผู้นำเมืองแห่งการเรียนรู้ นายกเทศมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูง จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี เครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ 38 เมืองของประเทศไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านเมืองแห่งการเรียนรู้และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ UNESCO, UN Habitat, UNDP และ NGO และผู้แทนภาคีเครือข่ายสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้มหาชน กทม. นายกเทศมนตรีและนายกเทศบาลเมืองในเครือข่ายการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วม
เบส พงศกร แก้วเกื้อญาติ เยาวชนวัย 17 ปีในโครงการ Freeform School โดยคลองเตยดีจัง เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือกของ กสศ. เป็นตัวแทนเยาวชนขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง ‘การขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’
เขาเล่าว่า หลายปีที่หลุดไปจากระบบการศึกษา ไม่เคยคิดว่าจะกลับมาเรียนหนังสืออีก กระทั่งคุณป้าที่เป็นประธานชุมชนชวนให้ลองเข้าเรียนที่ Freeform School เบสจึงพบว่า ‘ห้องเรียนนอกกรอบ’ ที่เข้าไปค้นพบ คือพื้นที่ของการจัดการเรียนรู้ซึ่งต่างไปจากโรงเรียนปกติ และจึงตระหนักว่าตัวเขาเอง “ไม่ได้อยากเรียนหนังสือ” หากที่ผ่านมาเขาแค่ไม่รู้มาก่อนว่าอยากเรียนอะไร หรือจะเอาวิชาความรู้ที่ได้ไปต่อยอดชีวิตอย่างไร
เบสนำเสนอบทเรียนสั้น ๆ จากประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ซึ่งทำให้เขาเข้าใจถึงความหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิตว่า “ตอนอยู่ในโรงเรียนปกติ ผมไม่เคยชอบเรียน ติดเพื่อน รู้สึกสนใจเรื่องอื่นมากกว่า จนวันหนึ่งต้องออกจากโรงเรียน จากนั้นได้ลองเข้าไปที่ Freeform School และพอใช้เวลาสักพัก ก็เข้าใจว่า ‘การเรียนรู้ที่มีเป้าหมายชัดเจน’ โดยเฉพาะการเรียนเพื่อประกอบอาชีพ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่แรงบันดาลใจ ให้รู้สึกอยากพยายามค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบจนพบ และจากนั้นก็จะพร้อมเดินหน้าเรียนรู้ต่อไปไม่หยุด”
“Freeform School” เป็นการจัดการเรียนรู้ในโครงการ “Mobile School เข้าโรงเรียนไม่ได้ให้โรงเรียนไปหา” ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 12 ที่กำหนดให้องค์กรเอกชนมีสิทธิจัดการศึกษา และออกวุฒิได้ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย
Freeform School ใช้การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานทั้ง Onsite และ Online แบ่งกระบวนการออกเป็น 4 ขั้นตอน เริ่มจาก
- กิจกรรมเข้าค่ายเสริมทักษะ ที่จะชวนเด็กเยาวชน ซึ่งแตกต่างด้วยพื้นเพ และสาเหตุหลากหลายที่ทำให้ไม่อาจเรียนรู้ในระบบโรงเรียนปกติ มาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดและส่งต่อแรงบันดาลใจระหว่างกัน
- ทำบันทึกการเรียนรู้ประจำวัน จากกิจกรรมที่สนใจหรืออาชีพการงานที่แต่ละคนทำ อาทิ งานซ่อมรถ พนักงานเสิร์ฟอาหาร การทำงานบ้าน การเล่นดนตรี ฯลฯ
- เรียนรู้ผ่านใบงานใน 8 กลุ่มสาระ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ฯลฯ เพื่อเรียนรู้วิชาตามมาตฐานหลักสูตรแกนกลาง
- ทำโครงงานเพื่อจบการศึกษา ซึ่งผู้เรียนเลือกได้ว่าจะ ‘ทดลองปฏิบัติ’ (Practical Experiment) หรือ ‘ศึกษาและค้นคว้า’ (Study & Research) โดยใช้หัวข้อจากเรื่องที่สนใจ หรือเป็นกิจกรรมที่อยากทำแต่ต้องการเก็บประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งทาง Freeform School จะมีทุนตั้งต้นให้ราว 5,000 บาท เป็นค่าเครื่องมืออุปกรณ์
สำหรับเบส ซึ่งเลือกทดลองปฏิบัติเกี่ยวกับ ‘การแต่งเพลง’ และเล่าเรื่องราวการทำงานผ่านช่องยูทูป (YouTube) และ ติ๊กต็อก (TikTok) เขาบอกว่าการทำโครงงานไม่เพียงเปิดโอกาสให้ลงมือทำในสิ่งที่สนใจ หากสิ่งที่เรียนรู้ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ยังช่วยขัดเกลาทักษะ เสริมประสบการณ์ และเติมเต็มความมั่นใจให้มองเห็นช่องทางอีกมากมายในการประกอบอาชีพ
“ตอนนี้ผมทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร แต่สิ่งที่อยากเรียนรู้จริง ๆ คือเรื่องการแต่งเพลง จึงเลือกทำโครงงานในหัวข้อนี้ มันจึงเป็นโอกาสครั้งแรกที่ได้ลองแต่งเพลงจริงจัง ได้ทำคลิปเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งเขียนเพลง แต่งทำนอง ไปจนถึงขั้นตอนมิกซ์และอัดเสียง ซึ่งพอได้ทำต่อเนื่องผมก็พบว่ามันไม่ได้แค่สนุก แต่ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากมายในงานสายนี้ที่ต้องเรียนรู้ต่อไปไม่สิ้นสุด ผมจึงเริ่มคิดถึงการเรียนต่อในระดับสูงเพื่ออยากจะประกอบอาชีพทางด้านนี้”
บทเรียนของเบส เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของแนวคิดเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่เป้าหมายสำคัญอยู่ที่ ‘การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต’ โดยเชื่อมโยงสถาบันการศึกษา การฝึกอบรม และวัฒนธรรม และดึงดูดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย โดยเฉพาะภาคเอกชนและภาคประชาสังคม มาร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่ ‘ประชากรทุกช่วงวัย’ สามารถเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ และนำการเรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างเส้นทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตของตนเองได้
ซูฮย็อน คิม (Ms. Soohyun Kim) ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคของยูเนสโก ยกย่องว่า “การทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นจริงได้สำหรับพลเมืองทุกคน คือความมุ่งมั่นอันน่าชื่นชม” โดยปัจจุบันทั่วโลกมีเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO 356 แห่งใน 79 ประเทศ ถ้านับเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 19 แห่ง ในประเทศจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี มีรวมกัน 70 แห่ง ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมมีเมืองแห่งการเรียนรู้ 10 แห่งทั่วประเทศ โดยเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ใหม่ในปี 2567 รวม 3 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น และยะลา
“เมืองเหล่านี้กำลังสร้างเส้นทางไปสู่ความรู้ เพื่อให้มั่นใจว่าการเรียนรู้จะไม่จำกัดอยู่เพียงในโรงเรียนหรือในห้องเรียนเท่านั้น แต่ต้องขยายออกไปยังทุกพื้นที่ ไม่ว่าสวนสาธารณะ บนท้องถนน ในบ้าน หรือสถานประกอบการต่าง ๆ”
ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคของยูเนสโก กล่าวว่า แนวทางของประเทศไทยต่อแนวคิดเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ นอกจากจะสอดคล้องกับหลักการโดยรวมของยูเนสโกแล้ว ยังมีจุดเด่นคือกลยุทธ์และความคิดริเริ่ม ที่เน้นขับดันลักษณะเฉพาะทางบริบทสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของเมืองนั้น ๆ ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงสร้างเมืองที่ครอบคลุมผู้คนทุกกลุ่ม และยั่งยืนขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น บพท. ยูเนสโก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กระทรวงศึกษาธิการ และกรุงเทพมหานคร
เมื่อโลกเปลี่ยน ผู้คนต้องปรับตัว การเรียนรู้เองก็ต้องก้าวไปสู่วิธีการใหม่ ๆ
ราอูล วาลเดส โคเตรา (Mr. Raúl Valdés-Cotera) ตัวแทนเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก กล่าวว่า หลายเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จึงต้องส่งเสริมให้พลเมืองเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อรับมือทุกความผันผวนท้าทาย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ สังคม เศรษฐกิจ จนถึงผลพวงจากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างไรก็ตามแต่ละเมืองก็มีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่แตกต่างกัน ในวาระนี้ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ‘ASEAN+3 REGIONAL LEARNING CITIES CONFERENCE’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องมาจากแนวปฏิบัติและประสบการณ์ในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยประเทศไทยมีความสามารถด้านการเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาไปสู่การฝึกอบรม และยังมีวัฒนธรรมเฉพาะที่โดดเด่น ทั้งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายครอบคลุม ตลอดจนมีภาคีด้านการศึกษาที่หลากหลายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ที่ช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมและวิธีการที่ประชาชนสามารถนำการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน และกำหนดแนวทางการเรียนรู้ของตนเองได้
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า ด้วยความแตกต่างทางบริบทโครงสร้างสังคมวัฒนธรรม แต่ละเมืองจึงจำเป็นต้องเรียนรู้แลกเปลี่ยน และนำเสนอต้นแบบการพัฒนาเมืองที่มีความเฉพาะตัว เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจและองค์ความรู้สำหรับการสร้างพื้นที่สำหรับคนทุกคน โดยความสำคัญของการสร้างพื้นที่ร่วมกัน คือการแลกเปลี่ยนข้อมูล บนฐานความหลากหลายของชาติพันธุ์ ของวัฒนธรรม ของความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งท้ายที่สุดทุกความแตกต่างจะมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียว คือการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันโดยทุกคนมีส่วนร่วม
“งานครั้งนี้ที่กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพ เราจะมีโอกาสได้แสดงให้นานาชาติเห็นแนวคิดและผลลัพธ์ของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ตามบริบทของเรา บนกรอบแนวคิดที่ต้องการพัฒนาเมืองไปพร้อมกับเรียนรู้ถึงรากเหง้า จิตวิญญาณ และวิถีชีวิตของผู้คนทั้งอดีตและปัจจุบันที่อยู่ภายในเมืองและพื้นที่รายรอบ”
ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “การเรียนรู้เป็นเครื่องมืออันทรงพลังของการเปลี่ยนแปลง โดยหากผู้นำหรือผู้บริหารตระหนักว่า ทุกเขตเมืองมีศักยภาพที่จะสร้างพื้นที่เรียนรู้ของคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย และส่งเสริมให้พลเมืองเข้าถึงและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองหรือชุมชนสังคมได้ เชื่อว่าทุกเมืองจะสามารถเร่งกระบวนการพัฒนาได้ ดังนั้นความสำคัญของการนำเสนอต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ของแต่ละเมือง รวมถึงทุกข้อเสนอแนะและทุกบทสรุปของงานครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลอันมีค่าต่อการทำงานวิจัยเรื่องการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่จะมีประโยชน์มากกับอีกหลายเมืองที่จะเข้ามาร่วมเครือข่ายต่อไปในอนาคต”
พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังตื่นตัวเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างมาก เห็นได้จากนอกจากสิบเมืองที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโกแล้ว ยังมีเมืองที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองการเรียนรู้อีกมากกว่าสามสิบแห่ง เราจึงได้เห็นความตั้งใจพัฒนาและนำเสนอสิ่งดี ๆ ของแต่ละเมือง ซึ่งนอกจากเรื่องของความภาคภูมิใจแล้ว ยังถือว่าเป็นประโยชน์ในแง่ของการชักชวนส่งต่อให้เมืองอื่น ๆ ก้าวเข้ามาร่วมกันในปีต่อ ๆ ไปด้วย
“สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ เราเชื่อว่าสถาบันการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ขององค์ความรู้ ทรัพยากร และเครือข่าย ในการจัดการเรียนรู้ที่ขนานกันไป ระหว่างการศึกษาในห้องเรียนและพื้นที่ข้างนอก ตัวอย่างที่เห็นชัดคือจังหวัดพะเยา ที่มีมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นผู้นำการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยมี กสศ. รับบทบาทเป็นฝ่ายเติมเต็มและประสานเชื่อมโยงความร่วมมือ ซึ่งถือเป็นการทำงานสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นเรื่องความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพราะการทำงานให้สำเร็จได้นั้นไม่อาจพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา และต้องเรียนอย่างมีความสุข”
สำหรับบทบาทของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ด้านการเดินหน้าผลักดันเรื่อง ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ที่สะท้อนผ่านนิทรรศการ นอกจากเรื่องราวของเบสกับการเรียนรู้ผ่าน Freeform School ที่เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ‘MobileSchool เข้าโรงเรียนไม่ได้ให้โรงเรียนไปหา’ ยังมีการนำเสนอการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิตในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การเรียนรู้ผ่าน ‘ศูนย์การเรียน’ การจัดการเรียนรู้ด้วยโมเดล ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ และยังมีห้องประชุมย่อยที่นำเสนอเรื่องราวการทำงาน ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ที่จังหวัดพะเยา ขอนแก่น และยะลา
รวมถึงอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ คือ ความร่วมมือของ กสศ. กับกรุงเทพมหานคร ผ่าน ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ: ABE’ ในการ ‘การพัฒนาตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนน’ บนพื้นที่เขตคลองเตยและเขตปทุมวัน เพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนรู้สำหรับคนทุกกลุ่ม ทั้งเพื่อวุฒิการศึกษาและการพัฒนาอาชีพ โดยเริ่มต้นที่กลุ่มเป้าหมายหลักคือเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา พร้อมมีทุนสนับสนุนให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้ตามความสนใจ มีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับภาคเอกชน มุ่งตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และสนับสนุนการจัดพื้นที่เรียนรู้ในสวนสาธารณะ สามเด็กเล่น ห้องสมุด หรือจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพในชุมชน
โดยทั้งหมดได้นำมาจัดแสดงผ่านกิจกรรมสาธิต ซึ่งผู้ร่วมงานสามารถเข้าชมพร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสนอแนะแนวทางร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนผลักดันให้การ ‘ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้’ เป็นวาระสำคัญทางสังคมต่อไป
เนื้อหาส่วนหนึ่งอ้างอิงจากเว็บไซต์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)