เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เครือข่าย Program Manager (PM) Node คณะทำงานจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สถาบันวิชาการ เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายครูและโรงเรียน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงาน ณ โรงแรมยะลาแกรนด์พาเลซ จังหวัดยะลา
ในเวทีเสวนาหัวข้อ ‘การบูรณาการทุนและทรัพยากรระดับพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้’ ได้เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับคนทำงานเรื่องการพัฒนาภาคีเครือข่าย พัฒนาความรู้ และกระบวนการขับเคลื่อนในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งทั้งหมดจะมีการบูรณาฐานข้อมูลร่วมกัน ตลอดจนการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่มีชีวิตและอัปเดตให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด เนื่องจากเยาวชนมีการเคลื่อนย้ายถิ่นตลอดเวลา ดังนั้นข้อมูลที่ใช้จึงต้องมีความแม่นยำและทันสถานการณ์
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ คือความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กลุ่มบัณฑิตอาสา กลุ่มจิตอาสา ที่ล้วนเป็นกลไกสำคัญในการร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษา และช่วยคลี่คลายปัญหาเด็กหลุดจากระบบได้
นายมุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า การประชุมเสวนาครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เนื่องจากปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และความร่วมมือของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในพื้นที่
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ. และภาคี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการทำงานด้านเด็กและเยาวชนร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดกลไกการทำงานที่่เข้มแข็งและมีการบูรณาการของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเชื่อว่าหลังจากนี้ทั้ง 3 พื้นที่จะมีฐานข้อมูลของเด็กและเยาวชนที่อัพเดตเพื่อนำไปสู่การต่อยอดหรือหนุนเสริมการทำงานต่อไป
ด้านนางสาวรุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา กล่าวว่า อบจ.ยะลา ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดยะลาจากทุกภาคส่วนขับเคลื่อนงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสและลำบากยากจนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา โดยมีกลไกหลักที่มาจากการรวมตัวของหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น องค์กรเอกชน และภาคประชาสังคม บูรณาการการทำงานจนเกิดผลสัมฤทธิ์ที่สามารถช่วยเหลือ ฟื้นฟู และพัฒนาเด็กและเยาวชนในจังหวัดยะลาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา พัฒนาทักษะอาชีพ พัฒนาทักษะชีวิต ทั้งยังได้พัฒนากลไกภาคีเครือข่ายการทำงานโดยจัดตั้งสภาการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเป็นองค์กรหนุนเสริมและมีการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนงานตามภารกิจหลักของหน่วยงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเด็กและเยาวชนในจังหวัดยะลา
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดเวทีเครือข่ายการเรียนรู้ร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวทางการช่วยเหลือและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สภาวการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อภาวะโภชนาการของเด็กปฐมวัย กลุ่มที่ 2 สภาวการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อการหลุดจากระบบการศึกษา และกลุ่มที่ 3 สภาวการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อการเป็นแม่วัยใส โดยในวงเสวนามีการคลี่โจทย์ปัญหาในพื้นที่และแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในแต่ละกลุ่ม