กสศ. ระดมพลังสื่อ ร่วมหารือระดมสมอง จับคู่กลไกจังหวัดสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

กสศ. ระดมพลังสื่อ ร่วมหารือระดมสมอง จับคู่กลไกจังหวัดสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 17 จังหวัด จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘สร้างเครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนมาตรการ Thailand Zero Dropout และสร้างความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่’ โดยมีคุณกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าว 3 มิติ คุณสมยศ เกียรติอร่ามกุล รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ด้านสร้างสรรค์และหลอมรวมเนื้อหา ไทยพีบีเอส มาร่วมแชร์ประสบการณ์และมุมมองในการนำเสนอข่าวสารด้านการศึกษาที่ส่งผลกระทบ สร้างแรงกระเพื่อม และการมีส่วนร่วมของสังคม

ภายในงานได้รับเกียรติจาก 10 บรรณาธิการข่าว มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำเสนอข่าวเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน อาทิ คุณอนันต์ ลือประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการอำนวยการ The People คุณโกวิท โพธิสาร บรรณาธิการข่าว เว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด  (The Esan record)  คุณมิรา เวฬุภาค บรรณาธิการ MAPPA  คุณชุติมา ซุ้นเจริญ บรรณาธิการ The Potential  คุณจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวดิจิทัลฐานเศรษฐกิจ คุณภาสกร จำลองราช บรรณาธิการสำนักข่าวชายขอบ (Transbordernews) คุณพลวุฒิ สงสกุล Feature Editor The standard คุณสุภชาติ เล็บนาค บรรณาธิการ The Momentum คุณสันติพงษ์ ช้างเผือก ผู้ชำนาญการอาวุโส ศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและการเรียนรู้ Thai PBS และคุณสุพัด ทีปะลา บรรณาธิการข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์มติชน โดยบรรณาธิการทุกท่านยังร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับคณะทำงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 17 จังหวัดและสื่อมวลชนในจังหวัด เพื่อวางแผนการรณรงค์สื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและความเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่

คุณพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา ราว 2.8 ล้านคน ในตัวเลขนี้ กสศ. และภาคีเครือข่ายทั้งภาคนโยบายและในระดับพื้นที่ร่วมกันดูแลได้ราว 1.4 ล้าน ยังมีเด็กและเยาวชนอีกจำนวนมากที่ต้องการมองเห็นและการสนับสนุน ทั้งในด้านคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวน 1.02 ล้านคน จากฐานข้อมูล Thailand Zero Dropout ขณะที่แผนกลยุทธ์ 3 ปี (2568-2570) ของ กสศ. คือการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้เด็กทุกคนทั้งอยู่ในระบบและนอกระบบ ได้รับการเรียนรู้ตามศักยภาพ ที่มีความยืดหยุ่นรองรับข้อจำกัดของชีวิต 

“ทั้งหมดนี้เพียงกำลังของ กสศ. ไม่สามารถสร้างความสำเร็จได้ จึงอยากชวนทุกคนในสังคมมาเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ในการจัดการเรียนรู้ระดับจังหวัด คือการมีระบบข้อมูลร่วมกัน มีโจทย์ในการขับเคลื่อนงานร่วมกัน ดึงสังคมเข้ามาเห็นความสำเร็จร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพราะการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของครู หรือของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน กิจกรรมวันนี้เป็นการจับมือร่วมกันระหว่างคนทำงานกับภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำที่มีส่วนร่วมของทุกคน”

คุณกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศรายการข่าว 3 มิติ กล่าวว่า บรรณาธิการหรือคนทำข่าวต้องนิยามตัวเองว่าเป็นคนนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ วัน ซึ่งไม่ใช่เพียงคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ยูทูปเบอร์ เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลง สำหรับคนภาคสื่อ หมายถึง ‘นัยยะของการระดมพลังทางสังคม’ ซึ่งสื่อสารมวลชนจะเป็นตัวกลางของการส่งต่อเรื่องราวนั้น ๆ  ทั้งนี้การได้เห็นเคสเด็กเยาวชนที่ได้รับการดูแลสนับสนุนจาก กสศ. และคณะทำงานระดับจังหวัด ทำให้ในฐานะคนทำงานภาคสื่อ ต้องมองต่อไปว่าจะมีวิธีการสื่อสารเล่าเรื่องสู่สังคมอย่างไร

“ต้องใช้พลังของคนหมู่มากในการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเด็กที่หลุดหรือเสี่ยงหลุดจากระบบนั้นไม่ได้มาจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มันเกี่ยวพันไปถึงทุกเรื่องทุกมิติรอบตัวเด็ก ดังนั้นการจะพาเด็กให้เข้าถึงโอกาสเรียนรู้ เราต้องทำหลายด้านไปพร้อมกัน และต้องอาศัยมือจากหลายฝ่าย สำหรับในภาคสื่อแล้วการส่งต่อเรื่องราว ข้อมูล หรือรูปแบบการทำงานของคณะทำงานจังหวัดออกไปอย่างต่อเนื่อง ย่อมเท่ากับเราสามารถบอกสังคมให้รับรู้ว่ามีเด็กกลุ่มนี้อยู่จริง และสังคมจำเป็นต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อพาน้อง ๆ เหล่านี้กลับมายืนหยัดในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้ได้” 

ด้าน คุณสมยศ เกียรติอร่ามกุล รองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส กล่าวว่า ไทยพีบีเอส เป็นสื่อที่ไม่เพียงชี้ให้เห็นปัญหา แต่จะชวนมองไปถึงโอกาสในการหาทางออกจากปัญหาด้วย (Solution Journalism) ดังนั้นภารกิจสำคัญคือสื่อจะต้อง ‘สร้างพลังพลเมือง’ ที่ประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมทุกกลุ่ม เพื่อร่วมกันทำงานไปสู่ความเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ โดยการสื่อสารต่อสังคมในเรื่องความเหลื่อมล้ำ จะเกี่ยวพันกับคนสองกลุ่มหลัก 1.คนที่รับผลกระทบโดยตรงจากความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเข้าไม่ถึงโอกาสหรือสวัสดิการรัฐในมิติต่าง ๆ และ 2.คนที่รับรู้ว่าปัญหาดังกล่าวมีอยู่จริงในสังคมไทย ซึ่งบางคนได้เข้ามามีส่วนในการทำงานแก้ปัญหา และเป็นผู้สร้างพลัง สร้างกลไกต่าง ๆ ในสังคมแล้ว กับบางกลุ่มที่แม้รับรู้แต่ยังมองว่าปัญหานั้นเป็นเรื่องไกลตัว

“บทบาทของสื่อมวลชนในการสื่อสารกับสองกลุ่มนี้ คือต้องทำให้คนทั้งสองกลุ่มเห็นบทบาทของตัวเองในกระบวนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่แม้รับรู้ แต่ยังมองปัญหาอยู่ในที่ไกล ๆ การเอาเคสมาเล่ามาบอกต่อ จึงเป็นงานที่สื่อจะต้องทำเพื่อชี้ชวนให้เห็น และกระตุ้นเตือนว่าในปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทุก ๆ วันจะมีผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น และมีรูปแบบของปัญหาที่แตกต่างหลากหลายขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงเป็นงานที่ต้องใช้เวลา และต้องการพลังของทุกคนมาร่วมผลักดันให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น”

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในตอนท้ายว่า การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อเด็กทุกคนนั้น งานสื่อสารรณรงค์เป็นเรื่องสำคัญ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคนทำงานภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชนครั้งนี้ เป็นสองแรงบวกสำคัญที่จะนำไปสู่การมีส่วนร่วม และการเปลี่ยนแปลงของสังคมในเชิงโครงสร้าง

“ผมเห็นภาพของการลงขันลงแรงของคนแต่ละภาคส่วนที่ค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาทำงานร่วมกันในเรื่องของการศึกษาและปัญหาเด็กและเยาวชน ผมคิดว่าถ้าเราจับมือกันครบทุกภาคส่วนเช่นนี้ อีกไม่นาน ความเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นกับประเทศของเราอย่างแน่นอน”