แปลและเรียบเรียง: นงลักษณ์ อัจนปัญญา
ทางการโปแลนด์เร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแม่แบบทางการศึกษาด้วยการออกกฎหมายฉบับใหม่เกี่ยวกับการฝึกพัฒนาทักษะของนักเรียนอาชีวะ ตั้งเป้าเพิ่ม “มืออาชีพ” ที่ตอบโจทย์ตลาดงานในอนาคต
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Warsaw Business Journal ของโปแลนด์ รายงานว่า ทางกระทรวงการพัฒนาได้แต่งตั้งทีมทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษาหลายสิบคน เพื่อศึกษาและพิจารณาทบทวนการร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่ว่าด้วย ทักษะและการศึกษาทวิภาคี (Act on Crafts and Dual Education) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการปรับปรุงระบบการศึกษาด้านการอาชีวะศึกษา หรือสายอาชีพของประเทศ
สำหรับเป้าหมายหลักของกฎหมายฉบับใหม่นี้มีขึ้นเพื่อพัฒนากระบวนการหรือขั้นตอนวิธีการของการศึกษาด้านการอาชีวศึกษา ให้สามารถสอดคล้องกับสภาวะตลาดในโลกยุคใหม่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะเปิดทางให้การเรียนการสอนด้านอาชีวะมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวตอบสนองได้ตรงตามความต้องการของการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว
รายงานระบุว่า หนึ่งในการร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพของอาชีวศึกษาของโปแลนด์ ก็คือการดำเนินการเชื่อมโยงธุรกิจอุตสาหกรรมโรงเรียนไว้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ (special economic zones) และกำหนดทิศทางทางการศึกษาควบคู่ไปกับนโยบายใหม่อย่าง แผนการพัฒนาที่ส่งเสริมระบบนิเวศน์ (ecology) เทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (electromobility) และอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)
Olga Semeniuk รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาโปแลนด์กล่าวว่า อุตสาหกรรมโรงเรียนในอนาคตจะมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายฉบับใหม่ที่ทางกระทรวงการพัฒนากำลังเตรียมจัดทำอยู่ โดยมุ่งให้ความสนใจในการบ่มเพาะขัดเกลาทักษะฝีมือเฉพาะทางของผู้เรียนเป็นหลัก
“ทางกระทรวงกำลังทำงานเพื่อจัดเตรียมกลุ่มคนมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชำนาญในแขนงต่างๆ สำหรับโลกอนาคต ซึ่งรวมถึงความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน์เพื่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และระบบอุตสาหกรรมแห่งดิจิทัล 4.0” Olga Semeniuk กล่าว
รองรัฐมนตรีหญิงแห่งกระทรวงการพัฒนาโปแลนด์ยังเสริมอีกด้วยว่า ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ด้านทักษะและระบบทวิภาคี จะยกระดับสถานะของผู้เรียนในฐานะนักศึกษาที่กำลังศึกษาขัดเกลาฝีมือของตนเอง และในฐานะเด็กฝึกงานที่กำลังจะกลายเป็นมืออาชีพในตลาดในอนาคต
สำหรับมืออาชีพในสาขาต่างๆ ที่ว่านี้ Olga Semeniuk เปิดเผยว่า จะแตกต่างออกไปตามความต้องการของตลาดในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศโปแลนด์
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมทักษะฝีมือแห่งโปแลนด์ พบว่า ปัจจุบัน มีโรงเรียนสายอาชีพด้านการอาชีวะศึกษาที่เป็นเอกชนในโปแลนด์ทั้งสิ้น 38 แห่ง ให้การศึกษาอบรมนักเรียนนักศึกษาทั้งหมดเกือบ 6,000 คน และมีครูคณาจารย์ทำหน้าที่สอนอยู่มากกว่า 1,100 คน
สถาบันอาชีวศึกษาเอกชนแห่งแรกของโปแลนด์ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 1993 โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มขององค์การด้านทักษะฝีมือ ที่ผสมผสานกระบวนการฝึกงานเข้าไว้กับบรรดาช่างฝีมือ ภายใต้สัญญาจ้างงานชั่วคราว ซึ่งช่างฝีมือเหล่านี้ได้รับการศึกษาในภาคทฤษฎีจากโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ขณะเดียวกันก็เป็นสมาชิกสมาคมอาชีพที่มีบทบาทระดับกลางในองค์กร
ความท้าทายของตลาดงานในห้วงเวลานี้ล้วนเกี่ยวข้องกับทักษะฝีมือและความเป็นมืออาชีพที่จะสามารถตอบโจทย์กับความต้องการและความแตกต่างหลากหลายของภูมิภาคยุโรปในอนาคต ซึ่งเรากำลังพูดถึงความสำคัญของกลยุทธ์ทางการศึกษาในยุคพลังงานหมุนเวียนและอุตสาหกรรม 4.0 – Olga Semeniuk กล่าว
ความเคลื่อนไหวของทางการโปแลนด์ในครั้งนี้ มีขึ้นท่ามกลางการออกแผนงาน หรือนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลอีกหลายประเทศในยุโรป ที่ต่างเร่งปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด -19 โดยนอกจากจะมีการจัดสรรงบพิเศษเพิ่มเติม เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและเด็กยากจนในสังคมแล้ว ยังมีการทบทวนแก้ไขปรับปรุงหลักสูตร เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลังสิ้นสุดการระบาดอีกทางหนึ่งด้วย
การเร่งปรับปรุงหลักสูตรและระบบการศึกษาของหลายประเทศในยุโรปยังสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของทางสหประชาชาติ (UN) ที่ระบุว่า การศึกษา คือกุญแจสำคัญที่สุดอีกดอกหนึ่งที่จะผลักดันขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศหนึ่งๆ และทั่วโลก สามารถฟื้นฟูจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว มั่นคง และยั่งยืน