เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสัมมนาพิเศษหัวข้อ “Exclusive Seminar ถอดรหัสการช่วยเหลือเด็กนอกระบบ ข้อค้นพบจากชีวิตจริงและปมปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้” โดยเชิญสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา รับฟังการนำเสนอข้อค้นพบจากชีวิตจริงและปมปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาจากประสบการณ์ทำงาน Thailand Zero Dropout ในปีที่ผ่านมาของ กสศ. และภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นผลและยั่งยืนในปี 2568
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวถึงความคืบหน้าสำคัญของนโยบาย Thailand Zero Dropout ว่า “เพราะมอง หาจึงมองเห็น” โดยในปี 2567 สามารถติดตามเด็กเยาวชนกลับเข้าสู่เส้นทางการศึกษาเรียนรู้ได้แล้ว 304,082 คน จากจำนวนเด็กและเยาวชนที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษา 1,025,514 คน
ล่าสุดข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2567 ยังมีเด็กและเยาวชนที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 982,304 คน แบ่งเป็นช่วงวัยก่อนการศึกษาภาคบังคับ 279,296 คน อยู่ระหว่างการศึกษาภาคบังคับ 387,591 คน และหลังการศึกษาภาคบังคับ 315,417 คน โดยพบว่าในระหว่างปีการศึกษา มีการขยับเข้า-ออกระบบการศึกษาของเด็กเยาวชนอยู่ตลอดเวลา ทั้งกลุ่มที่หลุดออกไปแล้วได้กลับมาเรียน กลุ่มที่อายุเข้าสู่วัยเรียนแต่ยังไม่ได้เข้าเรียน และกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาออกมาเพิ่มด้วยสาเหตุต่าง ๆ ดังนั้นทิศทางการทำงานเรื่องเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาจึงต้องทำให้เกิดการรับรู้และมีความเข้าใจจากสังคมในการสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษา ทางเลือกพัฒนาตนเองและเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนหาทางป้องกันไม่ให้มีเด็กหลุดออกจากเส้นทางการศึกษากลางทาง ซึ่งเป็นมิติปัญหาที่มีความเปราะบาง ซับซ้อน
“กสศ. และภาคีมีข้อสรุปว่าการจะทำงานให้ลุล่วงได้ จำเป็นต้องมีสองสิ่งดำเนินไปควบคู่กัน หนึ่งคือใช้การระดมสมองเพื่อจัดการ และสองคือใช้หัวใจเพื่อทำความเข้าใจเด็ก ๆ เพราะหากมองตัวเลขเป็นตัวตั้ง แล้วใช้เพียงการจัดการโดยไม่เอาหัวใจลงไปจับกับสถานการณ์ที่เด็กเผชิญอยู่ เราจะไม่มีหนทางเลยที่จะทำให้เด็กเยาวชนทุกคนเข้าสู่การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทชีวิตของแต่ละคนได้จริง ๆ”
ผู้จัดการ กสศ. นำเสนอแนวโน้มโครงสร้างประชากรที่ประมาณการณ์ได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะมีประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ ดังนั้นเด็กทุกคนในวันนี้จึงเป็นทรัพยากรทรงคุณค่า ที่ไม่อาจปล่อยให้ใครแม้แต่คนเดียวเข้าไม่ถึงโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอีกต่อไป
ขณะที่องค์การยูเนสโกประเมินว่าหากประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ได้สำเร็จ จะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ถึงปีละ 1.7% ของ GDP ซึ่งตัวเลขนี้มากกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประเมินไว้ในอีกสิบปีข้างหน้า ดังนั้นการแก้ไขการพัฒนาทุนมนุษย์ให้กลับเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้ คือกุญแจดอกสำคัญของ ‘การตัดวงจรส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น’ ที่จะพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงในประชากรรุ่นนี้
“กลไกสำคัญของมาตรการ Thailand Zero Dropout คือการทำงานเชิงพื้นที่ (Area Based) โดยจำนวนเด็กนอกระบบในภาพรวมของประเทศอยู่ที่ราวร้อยละ 1-2 ของแต่ละจังหวัด และจะมีจำนวนที่เยอะเป็นพิเศษในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ซึ่งในกระบวนการทำงานแล้ว เมื่อพบตัวเลขของเด็กเยาวชนนอกระบบ จะมีการส่งข้อมูลไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเริ่มสำรวจค้นหาเชื่อมโยงตัวตน ก่อนไปถึงกระบวนการดูแลช่วยเหลือและส่งต่อสู่เส้นทางการเรียนรู้ ซึ่งในการส่งต่อเมื่อพบตัวเด็กแล้วส่วนกลางเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถทำได้ แต่ต้องทำให้มีการบูรณาการงานระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อบรรลุเป้าหมายในระดับพื้นที่ก่อนจะไปถึงภาพรวมระดับประเทศ โดยการทำงานเชิงพื้นที่จะมี Case Manager หรือ ‘ผู้ดูแลรายกรณี’ ซึ่งเป็นกลไกอาสาสมัครท้องถิ่นที่เมื่อเจอเด็กแล้วพบว่ามีความพร้อม ก็จะพากลับสู่การเรียนรู้ทันที ส่วนในกลุ่มที่ยังไม่พร้อม กลไกจังหวัดจะมีการดูแลฟื้นฟูรายกรณีเพื่อเตรียมความพร้อมต่อไป โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา คณะทำงาน Thailand Zero Dropout ได้ Kick Off ปูพรมทำงานไปแล้วใน 25 จังหวัด
“อีกประการหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้มาตรการ Thailand Zero Dropout เป็นไปได้ คือการปรับระบบการศึกษาให้ยืดหยุ่น โดยเปิดกว้างจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมแบบเดิม ไปเป็นการเรียนรู้ที่ทำได้ในทุกที่ทุกเวลา (Anytime Anywhere) เพราะในโลกปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า การจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อความหลากหลาย และตอบสนองต่อศักยภาพอันแตกต่างของเด็กแต่ละคนทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ รวมถึงทักษะงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ จะเป็นรากฐานที่ช่วยให้เด็กทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ และสามารถคงอยู่บนเส้นทางต่อไปได้ในระยะยาว โดยเด็กเยาวชนรุ่นนี้จะถือเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงของการจัดศึกษาที่โอบรับความหลากหลาย และ หมายถึงว่าต่อไปนี้เราจะทำให้การจัดการเรียนรู้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ผ่านสถานประกอบการ ผ่านศูนย์การเรียนในท้องถิ่นของตน หรือผ่านรูปแบบการจัดการศึกษาอื่น ๆ กลายเป็น ‘การศึกษาทางเลือก’ สำหรับคนที่ไม่พร้อมเรียนรู้ในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน หรือระบบการศึกษาไทยจะยืดหยุ่นและปรับตัวรองรับอนาคตได้อย่างไร ซึ่งนี่คือคำถามสำคัญในปี 2568 นี้
“ขณะเดียวกันด้วยนวัตกรรมการศึกษาใหม่ ๆ เช่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ หรือการเรียนผ่านศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 ก็จะทำให้สถานศึกษาหรือโรงเรียนสามารถปรับเปลี่ยนสถานะเป็น ‘ฐานปล่อย’ ที่จะพาให้เด็กคนหนึ่งเจอเส้นทางเชื่อมต่อที่ตรงกับความถนัด ความสนใจ เช่นการเรียนทักษะอาชีพในสถานประกอบการเพื่อเก็บหน่วยกิตในลักษณะ Cadit Bank แล้วนำความรู้ประสบการณ์กลับมารับวุฒิการศึกษาที่โรงเรียนได้ และนี่คือหนึ่งรูปแบบการศึกษาที่เอื้อต่อเด็กทุกคน ฉะนั้นจะเห็นว่าหากตัว ‘ระบบ’ ไม่ปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่น แม้เราจะพบตัวเด็กที่หลุดออกไปและพากลับมาได้ แต่สุดท้ายถ้าการเรียนรู้นั้นไม่รองรับความหลากหลาย ปลายทางที่จะเกิดขึ้นคือเราจะเห็นเด็กหลุดจากระบบออกไปอีกครั้ง เนื่องจาก ‘โรงเรียน’ ไม่อาจตอบสนองต่อบริบทชีวิตและเส้นทางที่แต่ละคนต้องการจะมุ่งไปได้” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว
รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง อนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กสศ. กล่าวว่า การดูแลเด็กนอกระบบการศึกษา คือการพยายามค้นหาความจริงเพื่อให้สังคมมองเห็นปัญหาอย่างรอบคอบ มองเห็นทุกมิติว่าการทำงานเรื่องเด็กเยาวชนนอกระบบเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเพื่อแก้ไขปัญหา
“เราไม่สามารถมองปัญหาแบบแยกส่วนโดยมองเป็นเส้นตรง แต่จำเป็นต้องมองให้เห็นบริบทอื่น ๆ ของตัวเด็ก โดยเฉพาะองค์ประกอบชีวิต สังคม หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก โดยเชื่อมโยงไปถึงรากของปัญหาที่เด็กกลุ่มนี้กำลังเผชิญอยู่ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มนี้คือสิ่งที่เปรียบได้กับพื้นที่ป่า ซึ่งสังคมมักจะรับรู้เพียงภาพภายนอกหรือภาพรวม แต่มองไม่เห็นรายละเอียดว่าเบื้องหลังผืนป่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นรากฐานที่ลึกไปกว่าพฤติกรรมที่ปรากฏให้เห็นในข่าว
“ดังนั้นโจทย์การนำเสนอจึงต้องมองว่าจะทำอย่างไรในการสื่อสารให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่ลึกกว่าระดับผิวหน้า หรือทำอย่างไรจึงจะเสนอเรื่องราวของเด็กโดยเปิดให้เห็นความซับซ้อนและลึกซึ้งกว่าเพียงประเด็นดราม่า เพราะชีวิตของเด็กคือภาพสะท้อนจากท่าทีของผู้ใหญ่ มีที่มาที่ไป และต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นปัญหาที่เป็นความจริงเชิงประสบการณ์ และความจริงเชิงสังคมที่ยากจะถ่ายทอดให้สังคมเข้าใจโดยไม่เข้าไปตัดสิน และเข้าใจได้ว่ามนุษย์แต่ละคนต่างมี Trauma หรือ ‘ปมบาดแผลทางใจ’ ที่ส่งผลกระทบทางด้านอารมณ์ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งระเบิดเวลา หรือในทางกลับกันก็สามารถเป็นทรัพยากรมนุษย์ซึ่งพัฒนามาเป็นอนาคตของสังคมได้”
รศ.ดร.ลือชัย ขยายความว่า สังคมส่วนใหญ่มักมองปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาในระดับจุลภาคหรือเชิงปัจเจก มากกว่าจะทำความเข้าใจว่าคือ ‘บทเรียน’ ที่สังคมต้องเรียนรู้ร่วมกัน เพราะเมื่อลงลึกในรายละเอียด เด็กเยาวชนเหล่านี้ล้วนมาจากวงจรครอบครัวที่ล้มเหลว ส่งผลให้ตัวเด็กไม่มีความสุขหรือเห็นคุณค่าในการเรียน นำไปสู่ปัญหาการคบเพื่อน การมีคู่ช่วงวัยเรียน ปัญหาตั้งครรภ์ หรือกระทั่งการก้าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับสารเสพติด ฯลฯ การจะแก้ปัญหาของเด็กกลุ่มนี้จึงไม่อาจนิยามเป้าหมายหรือคำตอบของชีวิตโดยใช้มุมมองหรือมาตรวัดเดียวกับเด็กกลุ่มอื่น ๆ
“การแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน คือการออกแบบกระบวนการช่วยเหลือประคับประคองให้เด็กกลุ่มนี้ก้าวข้ามช่วงชีวิต และได้รับโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เริ่มจากสร้างกระบวนการค้นหา-เข้าถึง โดยมีกลไกเชิงพื้นที่ที่เชื่อมโยงเครือข่ายในการค้นหาตัวเด็ก เพราะลำพังหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถทำได้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมกันสร้างระบบนิเวศใหม่ เป็นพื้นที่ที่เด็กรู้สึกปลอดภัย และเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่เข้าถึงได้โดยไม่มีเงื่อนไข ปราศจากการตีตราตัดสินและเลือกปฏิบัติ รวมถึงมีระบบการศึกษาที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่จำเป็นและหลากหลาย”
คุณทรงวุฒิ อัศวพฤกษชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็กนอกระบบ กสศ. กล่าวถึงความซับซ้อนของการทำงานกับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ว่า ‘หัวใจหลักคือการสร้างความคุ้นเคยไว้ใจ’ เพื่อให้เกิดการเปิดใจระหว่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่คณะทำงานต้องปรับทัศนคติ นอกจากนั้นยังต้องพร้อมทุ่มเทเวลาเป็นต้นทุนสำคัญ เพราะ “คนทำงานกับเด็กเยาวชนซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ต้องเข้าใจก่อนว่าการที่น้อง ๆ แต่ละคนมีบริบทปัญหาที่แตกต่าง หลายคนจึงมีบาดแผลทางจิตใจที่รุนแรง ฉะนั้นท่าทีการเข้าหาเด็ก ๆ จึงเป็นประเด็นแรกสุดที่ต้องคำนึงถึง
“ด้วยประสบการณ์ชีวิต น้อง ๆ กลุ่มนี้จะมีทักษะประเมินคนที่เข้าหาสูง ตั้งแต่การแสดงออกของท่าทาง สายตา หรือคำพูดที่เลือกใช้ ซึ่งล้วนมีความหมายต่อการสร้างความเชื่อใจไว้ใจ และจะเป็นกุญแจสำคัญของการเข้าถึงสิ่งที่อยู่ในใจเด็ก โดย ‘ท่าทีการเข้าหา’ จะเป็นสิ่งที่ ‘สะท้อนไปถึงวิธีคิด’ ของคณะทำงาน ฉะนั้นเราจึงไม่อาจเปิดประตูไปสู่เด็ก ๆ ได้ หากไม่มีทัศนคติที่เปิดกว้างยอมรับ และไม่ใช้การตีตราตัดสินเด็กคนใดคนหนึ่งจากเพียงลักษณะทางกายภาพหรือภาษาที่ใช้สื่อสาร คือถ้าเปิดใจมองและเคารพว่าเด็กทุกคนคือมนุษย์คนหนึ่ง เราจะมองผ่านความไม่พึงประสงค์ทั้งหมดนั้นไปได้ แล้วเมื่อนั้น ‘การก่อร่างความสัมพันธ์’ จึงเกิดขึ้น และพาต่อไปถึง ‘การสื่อสาร’ ในลำดับถัดไป
“สำคัญเลยคือต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าเราไม่ได้มาตักตวงผลประโยชน์จากเขา แต่เป็นแค่การมาไถ่ถาม มาทำความรู้จัก มาแลกเปลี่ยนความคิดและเรียนรู้ชีวิตประจำวัน จากนั้นจึงค่อย ๆ สื่อสารจากภายนอกไปถึงภายใน แล้วเมื่อไหร่ที่หัวข้อสนทนาเรื่องทั่ว ๆ ไปราบรื่นไม่สะดุด เมื่อนั้นเองถึงเป็นสัญญาณว่าเด็กพร้อมมากขึ้น ที่จะเปิดใจให้เราเข้าถึงเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเขา ซึ่งจากจุดนี้ก็ต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยต่อไป เพื่อรับฟังปัญหาและดูแลช่วยเหลือ แล้วท้ายสุดถึงเป็นการหาทางเชื่อมโยงน้อง ๆ มาสู่โลกของการเรียนรู้ ในทางกลับกันหากการทำงานกับเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาเริ่มต้นจากการตีตราตัดสิน หรือไม่ได้ใช้เวลาลงไปคลุกคลีเพียงพอ การทำงานนั้นอาจเป็นการตอกย้ำบาดแผล และจะยิ่งทำให้ช่องว่างของโอกาสในการดึงเด็กมาสู่การเรียนรู้ถ่างกว้างออกไปยิ่งขึ้น” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็กนอกระบบ กสศ. กล่าว
คุณนเรศ สงเคราะห์สุข รองผู้จัดการโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา กสศ. กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการทำงานกับกลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษา คือการปรับรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อเข้าถึงตัวเด็กได้มากที่สุด และต้องตระหนักถึงความแตกต่างเชิงพื้นที่และมิติปัญหารายบุคคล และมองถึงการสร้างระบบดูแลต่อเนื่อง
“เราต้องออกแบบสังคมที่รองรับเด็กทุกคน มีพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถดูแลเด็กได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนจะต้องพยายามออกแบบแนวทางเฉพาะตัว โดยระบบนิเวศใหม่ที่จะถูกสร้างขึ้น เป็นโจทย์ที่คนทั้งชุมชนต้องร่วมกันเรียนรู้และสร้างไปด้วยกัน โดยอาจเริ่มจากการสร้างทัศนคติความเป็นเจ้าของร่วม และต้องชักชวนให้คนในชุมชนมาร่วมกันออกแบบโดยเห็นความเชื่อมโยงและความสำคัญ สำหรับการทำงานที่ผ่านมา เราได้เห็นโจทย์สำคัญว่า ทำอย่างไรที่จะสร้างกลไกให้เด็กเยาวชนนนอกระบบการศึกษาจากพื้นที่ต่าง ๆ สามารถส่งเสียงสะท้อนถึงปัญหาที่แต่ละคนเผชิญอยู่จริง เพื่อให้คณะทำงานรวบรวมปัญหา และนำมาออกแบบแนวทางช่วยเหลือดูแลอย่างตรงจุด ขณะที่อีกด้านหนึ่งของการถอดบทเรียนการสร้างพื้นที่รองรับเด็กเยาวชนนอกระบบ ทำให้พบว่าเมื่อเริ่มรู้สึกปลอดภัย เด็กจะค่อย ๆ เผยให้เห็นศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ หลายคนสามารถค้นพบความชอบความสนใจ หรือแสดงความถนัดในด้านต่าง ๆ ออกมาอย่างที่คณะทำงานเองก็คาดไม่ถึง” รองผู้จัดการโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา กสศ. กล่าว
คุณพัฒนพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. เสนอแนวทางการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อเป็นทั้งแนวทางป้องกันการหลุดจากระบบ และเป็นการพากลุ่มที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว ให้กลับสู่เส้นทางพัฒนาตันเองอย่างมีประสิทธิภาพ ว่า ณ วันนี้ กสศ. มี 8 มาตรการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ได้แก่
- สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพื่อป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยทุนเสมอภาค อันเป็นหนึ่งกลไกการดูแลช่วยเหลือ และประคองป้องกันให้เด็กเยาวชนกลุ่มยากจนด้อยโอกาส สามารถศึกษาอย่างต่อเนื่องได้จนจบการศึกษาภาคบังคับ
- ขยายตัวแบบการจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ให้ขยายครอบคลุม 1 โรงเรียน 1 อำเภอ
- จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ผ่านศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 ที่เปิดโอกาสให้องค์กร ชุมชน หรือภาคเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้
- ดำเนินการเพื่อลดอุปสรรคและทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นเหมาะสมกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)
- ดึงภาคีหน่วยงานในพื้นที่และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ร่วมสร้าง ‘ตำบลต้นแบบ’ พัฒนาเป็นตำบล Zero Dropout
- ใช้เทคโนโลยีช่วยอำนวยให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เช่น โรงเรียนมือถือ (Mobile School)
- พัฒนาระบบสะสมหน่วยกิต ‘Credit Bank’ เพื่อรองรับการเทียบโอนวุฒิการศึกษาและคุณวุฒิวิชาชีพ
- บูรณาการระหว่างหน่วยงาน เพื่อสร้างการเรียนรู้บนเส้นทางอาชีพส่งเสริมการสร้างรายได้ หรือเป็นการเรียนรู้แบบ Learn to earn
โดยทั้ง 8 มาตรการคือเครื่องมือที่นำมาใช้ภายใต้มาตรการ Thailand Zero Dropout เพื่อพยายามดึงเด็กเยาวชนมาสู่ ‘พื้นที่สว่าง’ และมองหาหนทางผลักดันศักยภาพ ให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสอย่างเสมอภาคที่สุดตามบริบทของชีวิต