เมื่อเดือนธันวาคม 2566 KFC ประเทศไทย ร่วมจับมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และมูลนิธิปัญญากัลป์ ขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout แก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ผ่านโครงการ KFC Bucket Search ด้วยเชื่อว่าทุกศักยภาพไม่ควรถูกทอดทิ้ง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “บักเกตเสิร์จคลับ คลับของเด็กนอกกรอบ” เพื่อเตรียมพร้อมและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเด็กเยาวชนจากกรมพินิจฯ 130 คน ในการพัฒนาสมรรถนะ สร้างโอกาสให้เด็กเยาวชนที่ได้ก้าวพลาดให้สามารถนำไปใช้ต่อยอดสู่เส้นทางชีวิตใหม่กับเวิร์กชอป Designing your life ร่วมวางแผนอนาคตและวิธีการใช้ชีวิตให้ทันโลกในทุก ๆ ด้าน เพื่อก้าวตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปให้ทัน และเวิร์กชอปพิเศษ ‘ทักษะหัวใจ’ จาก KFC เพื่อเตรียมเด็ก ๆ ให้พร้อมทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อพัฒนาน้อง ๆ ให้ได้เป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีที่สุด
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสนทนาสร้างแรงบันดาลใจจากพี่ ๆ คนดังหลากหลายวงการ นำทีมโดย แพท พาวเวอร์แพท, เจเด็ด เฟ็ดเฟ่, แบงค์ วัชรพงษ์ สุริยพันธุ์ และ คุณดิส ผู้จัดการสาขาที่อายุน้อยที่สุดของ KFC มาแนะนำอาชีพจากประสบการณ์ตรง ซึ่งหวังว่าจะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และปลุกไฟในตัวของเด็กทุกคน
“จากก้าวที่พลาดไปสู่เส้นทางใหม่” ร่วมกันค้นหาศักยภาพของเด็กและเยาวชนไปสู่เป้าหมาย Thailand Zero Dropout
โกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เด็กที่มาอยู่กับเรา คือเด็กที่ก้าวพลาด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากขาดวุฒิภาวะหรือมีพัฒนาการที่ยังไม่พร้อมเป็นผู้ใหญ่ ทำให้ตัดสินใจทำผิดพลาด เมื่อต้องมาอยู่สถานพินิจฯ เราพยายามศึกษาทำความเข้าใจประวัติและพฤติกรรมของแต่ละคน อะไรที่เป็นข้อเสียก็จะต้องขัดเกลา โดยเน้นเรื่องการศึกษาและการสร้างพัฒนาการที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไข หากพบว่าเด็กคนไหนที่เคยเรียนหนังสือในการศึกษาภาคบังคับระดับไหน หรือยังไม่เคยเรียน ก็จะสนับสนุนให้เรียนต่อจนจบ หรือส่งเสริมการเรียนสายอาชีพให้สามารถดูแลตัวเองได้ เมื่อมีโอกาสพ้นไปจากสถานพินิจฯ หรือศูนย์ฝึกอบรมฯ
“แต่เราก็มีข้อจำกัดเรื่องครู เพราะว่าครูสายวิชาชีพที่มาทำงานกับเรายังมีน้อย จนเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเด็ก จึงต้องใช้แนวทางในการส่งเสริมให้องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงภาคประชาสังคมที่มีความพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมด้านการศึกษา ให้เข้ามาทำงานกับเด็กอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพ หรือรับเด็กและเยาวชนเข้าอยู่ในสถานประกอบการภายหลังการพัฒนาทักษะและสมรรถนะในการปฏิบัติแล้ว เราส่งเสริมเรื่องนี้เพราะพบว่า เมื่อเด็กมีสมรรถนะในการทำงาน มีทักษะ แล้วก็มีงานทำมีรายได้ มีเป้าหมายชีวิตชัดเจนแล้ว โอกาสที่จะกระทำความผิดซ้ำนั้นมีน้อยมาก”
แจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล Senior Marketing Manager KFC Thailand กล่าวว่า โครงการ KFC Bucket Search และกิจกรรมบักเกตเสิร์จคลับ คลับของเด็กนอกกรอบ มีจุดเริ่มต้นมาจากความพยายามในการสานต่อเจตนารมณ์ของผู้พันแซนเดอร์ส ผู้ก่อตั้งเคเอฟซี ที่เชื่อว่าทุกคนควรได้รับโอกาสในการพิสูจน์ศักยภาพของตัวเอง โอกาสที่เท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผู้พันแซนเดอร์สเคยกล่าวไว้ว่า “สำหรับผมไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีพันล้านหรือคนขับรถบรรทุก แต่เมื่อพวกเขานั่งลงบนโต๊ะเดียวกันแล้ว พวกเขาก็คือคนที่อยากกินอาหารดี ๆ สักมื้อ” เคเอฟซีจึงทำไก่ทอดที่มีรสชาติอร่อยที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
และหากดูจากประวัติผู้พันแซนเดอร์ส จะพบว่า ท่านเคยมีฐานะทางครอบครัวที่ค่อนข้างลำบากตลอดชีวิต ผ่านการทำงานมากมาย เคยเป็นกรรมกรก่อสร้าง ทาสีรถม้า ผู้ควบคุมขบวนรถไฟ นักกฎหมาย คนขายประกันชีวิต ขับเรือ ฯลฯ พยายามหาความสำเร็จ ได้เรียนรู้คุณค่าของการทำงานหนัก จนคิดค้นสูตรไก่ทอดสุดพิเศษได้เป็นผลสำเร็จ ผู้พันแซนเดอร์สจึงเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับโอกาสและการค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของตัวเองมาก
“เรามองว่า ศักยภาพเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกทอดทิ้ง และคิดที่จะหากลุ่มเป้าหมายที่ยังขาดแคลนเรื่องนี้ จึงได้ทำงานกับ กสศ. และให้เงินทุนเพื่อให้น้อง ๆ กลุ่มนี้ให้มีโอกาสพัฒนาตนเอง มีอาชีพประกอบเพื่อดูแลตัวเองได้ในอนาคต เราช่วยตามหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาว่าอยู่ที่ไหนกันบ้าง ก่อนที่จะหามาตรการช่วยเหลือ โดยวางแนวทางว่าจะไม่ให้เพียงแค่เงินช่วยเหลือ แต่จะช่วยเหลือตามความต้องการ เช่นถามว่า เขาต้องการเรียนรู้อะไร อยากเรียนหรือทำงานไปด้วย ก็จะช่วยกันหาสถานที่เรียนรู้และที่ทำงาน โดยไม่จำกัดว่าจะต้องมาทำงานกับเรา ต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาค้นหาอาชีพหรือความถนัดของตัวเอง และส่งเสริมแต่ละคนตามความต้องการ พวกเขาจะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะการดำรงชีวิตและเงินทุนตั้งต้น เติมเต็มทักษะและศักยภาพในด้านที่พวกเขาตั้งใจ โดยไม่กระทบกับชีวิตประจำวันที่บางคนต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปด้วย ด้วยทางเลือก Work & Study ที่ช่วยแบ่งเวลาและรายได้ และทางเลือกเงินทุนเพื่อวิชาชีพ เพื่อให้พวกเขากลับมาเชื่อมั่นในศักยภาพและคุณค่าของตัวเองอีกครั้ง และกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ” แจนเน็ตกล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า เด็กในสถานพินิจฯ คือเด็กกลุ่มสุดท้ายของสังคมไทยที่ผู้ใหญ่มักจะละเลย มองไม่เห็นปัญหา ไม่ค่อยใส่ใจพวกเขา เมื่อได้ KFC ซึ่งเป็นเอกชน เป็นภาคธุรกิจที่มีผลกำไรเข้ามาช่วยดูแลปัญหาอีกแรงหนึ่ง ก็จะส่งแรงกระเพื่อมให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มนี้ กำลังได้รับความเอาใจใส่ในวงกว้างมากขึ้น และอาจจะเป็นอีกแรงหนึ่ง ที่จะช่วย ให้สังคมพยายามเข้าใจปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน การถอดบทเรียนการเข้ามาทำงานเรื่องนี้ของภาคเอกชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
“หลายกรณีต้องมองว่า ปัญหาที่เด็กกลุ่มนี้เผชิญอยู่ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถใช้อารมณ์ตัดสิน หรือตีตราได้ พวกเขาคือเด็กที่ก้าวพลาดและยังต้องการโอกาสในการแก้ตัว แก้ไข และพิสูจน์คุณค่าในตัวพวกเขาเอง เด็กในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ มาจากครอบครัวที่มีปัญหาหลายด้าน เช่น เป็นครอบครัวยากจน ครอบครัวแหว่งกลาง พ่อแม่ทิ้งให้ปู่ย่าตายายดูแล หรือทำงานจนไม่มีเวลาดูแลใส่ใจ บางคนเมื่อประสบปัญหาก็ถูกโรงเรียนผลักออกจากความช่วยเหลือ ปล่อยให้เด็กเผชิญหน้ากับ สังคมชุมชนที่เต็มไปด้วยวงจรสีเทา ยาเสพติด อาชญากรรม และความรุนแรง จนหมดทางเลือกที่จะหลีกหนีจากวงล้อมของสิ่งเหล่านี้ สังคมต้องยอมรับว่าเด็กกลุ่มนี้จำนวนมากเป็นเหยื่อของระบบมากกว่าจะเป็นต้นทางของปัญหา
“การทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นโจทย์ท้าทาย ซึ่งต้องการแนวร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ มาช่วยกันฝ่ากำแพง ช่วยกันออกแบบวิธีการ สร้างความเข้าใจด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้สังคมตีตรา ปิดกั้นโอกาสและเกิดอคติกับเด็กกลุ่มนี้ รวมถึงสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อผลักดันกระบวนการดูเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดให้กลับมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์และยั่งยืน” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว
ต้า (นามสมติ) เล่าว่า ตัวเขาเป็นเด็กก้าวพลาดจากคดียาเสพติด การได้เข้ามาอยู่ในสถานพินิจฯ ทำให้เขาต้องทบทวนสิ่งที่ตัวเองเคยทำมากขึ้น และบอกตัวเองว่าจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมไม่ได้ จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นและมีทางออกที่ดีกว่าเดิม
“ตอนอยู่ข้างนอก ผมไม่ได้ดึงความสามารถของตัวเองออกมาใช้เลย พอต้องมาอยู่ในสถานพินิจ ผมก็ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น มีโอกาสทบทวนตัวเอง ทบทวนถึงศักยภาพของตัวเองที่มีและพยายามพัฒนาให้ดีขึ้น เปลี่ยนตัวเองจากคนที่ไม่กล้าแสดงออก เป็นกล้าแสดงความสามารถที่มี และเริ่มคิดถึงอนาคต กลัวว่าในอนาคตจะไม่มีกิน พ่อแม่ของผมก็เริ่มแก่มากแล้ว จะให้ท่านดูแลผมไปตลอดชีวิตคงไม่ได้ ตอนนี้ผมอยากเป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ เมื่อก่อนผมไม่ได้เรียนรู้เรื่องนี้ และไม่มีวุฒิการศึกษา ตอนนี้ผมเรียนจบแล้วและรอรับวุฒิการศึกษาออกไปเรียนต่อในระดับ ปวส. เพื่อไปประกอบอาชีพ”
ปุ้มปุ้ม (นามสมมติ) เล่าว่า เธอไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เธออยู่กับย่า และด้วยอุปนิสัยที่เป็นเด็กที่ดื้อเงียบ ทำให้ไม่มีใครทราบว่ากำลังจะก้าวพลาด เพราะเป็นเด็กที่ติดเพื่อนและตามเพื่อน
“เมื่อก่อนหนูเห็นเพื่อนสำคัญกว่าพ่อแม่หรือว่าย่ามาก ๆ อายุ 15 หนูก็มีเพื่อนผู้ชายที่ไปพัวพันกับยาเสพติด ทำให้ตัวเองต้องเข้ามาอยู่ในวงจรนี้ตามไปด้วย ถูกจับหลายครั้งแต่เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยโดยไม่ดำเนินคดี พอถึงอายุ 17 ปี ก็ถูกจับครั้งแรก และกลายเป็นคดีความเป็นครั้งแรกที่ทำให้กลัว เพราะกลัวว่าพ่อแม่จะผิดหวัง สุดท้ายก็ต้องมาอยู่สถานพินิจฯ ระหว่างอยู่ที่นี่ทำให้หนูเรียนรู้ว่าไม่มีใครรักเราเท่าพ่อแม่ เพราะตอนที่อยู่ที่นี่ไม่มีเพื่อนมาเยี่ยมหรือเขียนจดหมายมาหาเลย มีแต่พ่อแม่และคนในครอบครัวเท่านั้นที่มาหาและมาเยี่ยม ตอนนี้หนูได้เรียนรู้แล้วว่าต้องตั้งใจสร้างอนาคตที่ดีให้ตัวเอง จึงตั้งใจเรียนด้านอาชีพระหว่างที่อยู่ที่นี่ เพื่อที่จะออกไปเปิดร้านทำขนม เพราะได้เรียนรู้การทำขนมหลายอย่างจากที่นี่ จะใช้ความรู้และโอกาสจากที่คนอื่นหยิบยื่นให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและพ่อแม่ให้มากที่สุด”