กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาและปรับปรุงข้อเสนอโครงการและแผนงบประมาณ โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สําหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ปี 2565 เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการทำงานเพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการและงบประมาณร่วมกัน ต่อยอดนวัตกรรมที่สร้างแนวทางที่เข้มแข็งขึ้นในปีการศึกษา 2565
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ปีการศึกษา 2565 เป็นปีที่ 3 ของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สําหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งรุ่นแรกของโครงการที่เป็นรุ่นนำร่องและจะมีผู้เรียน 62 คนที่จบการศึกษาจากสถานศึกษา 5 แห่งในปีนี้ ส่วนรุ่นที่ 2 มีจำนวน 10 แห่ง และรุ่นที่ 3 จำนวน 10 แห่ง ที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันของเครือข่ายสามารถสร้างชีวิตเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และการเรียนรู้ สร้างรายได้การมีงานทำและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งการพัฒนาครูและบุคลากรอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น ยกระดับขีดความสามารถในการจัดการศึกษา ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนผ่านหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนที่มีความทันสมัยโดยการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายและยืดหยุ่น เพื่อให้ผู้เรียนเปิดกว้างและปรับตัวเข้าสู่โลกยุคดิจิตอล
“ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันสร้างงานสร้างโอกาส ขอแสดงความยินดีและขอบคุณผู้บริหารและครูที่ปฏิบัติงานในโครงการอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อเป้าหมายร่วมกันคือชีวิตที่ดีขึ้นของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษตลอด 3 รุ่นที่ผ่านมา” รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าว
ผศ.ดร.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ระดับสูงกว่าภาคบังคับ กล่าวว่า กสศ. มีความมุ่งมั่นในการยกระดับเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้ได้ตรงกับความต้องการของสังคม เมื่อเรียนจบอาชีวศึกษาแล้วสามารถได้งานทำตามเจตนารมณ์ที่เขาตั้งใจไว้ หรือได้ประกอบอาชีพเป็นของตัวเอง
“เราให้ทุนทั้งทุนเด็กและทุนวิทยาลัยหรือสถานศึกษา เพราะเราคิดว่าถ้าช่วยกันทำงาน เราจะสร้างอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นกับเด็กในกองทุนนี้ เพื่อที่จะให้เขามีความสามารถเพิ่มขึ้นและขยายผลไปกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษอื่น ๆ ต่อไป เพราะฉะนั้นขอแสดงความยินดีกับท่านที่ได้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จากสิ่งที่ท่านได้ทำกันมาแล้วอยากให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เราคงต้องมาทบทวนกันว่าสิ่งที่เราทำมาแล้วเราอยากจะทำให้ดีขึ้นเราต้องมีกิจกรรมอะไรบ้างที่จะต้องเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กที่มีความต้องการพิเศษประสบความสำเร็จในชีวิตของเขาเอง” ผศ.ดร.ปานเพชร กล่าว
ผศ.ดร.ปานเพชร กล่าวว่า นอกจากทักษะในการเรียนตามหลักสูตรแล้ว ทักษะทางด้านจิตใจและการใช้ชีวิตจะต้องถูกส่งเสริมเข้าไปในสถานศึกษาด้วย ตอนนี้จะเห็นได้ว่าเด็กหลายคนมีภาวะซึมเศร้า และจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้มีปัญหาสภาวะการเงินทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน เด็กเหล่านี้มีความมุ่งมั่นตั้งใจและไม่อยากให้เป็นภาระกับคนอื่น เพราะฉะนั้นโอกาสที่ได้ไปทำงานร่วมกับสถานประกอบการซึ่งแน่นอนว่าการทำงานแตกต่างจากเด็กปกติ ทั้งหมดเป็นบทเรียนที่จะต้องสร้างเป็นองค์ความรู้ ซึ่งสถาบันการศึกษาอาจจะต้องทำบันทึกว่าเด็กได้ทำกิจกรรมใดบ้าง ในขณะไปฝึกงานกับสถานประกอบการเพื่อมาปรับปรุงระบบของโครงการให้ดีขึ้น ท้ายสุดในเรื่องของการมีงานทำที่ไม่ได้คาดหวังเพียงแค่เด็กจะไปอยู่ในสถานประกอบเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะไปเปิดกิจการของเขาเอง ซึ่ง กสศ. ได้ส่งเสริมในการสร้างงานสร้างอาชีพ เช่น ร่วมกับ Shopee เพื่อสนับสนุนอาชีพความรู้ในการซื้อขายของออนไลน์ให้กับเด็กที่ได้รับทุนเพื่อเป็นอาชีพเสริมร่วมด้วย
นางปัทมา วีระวานิช ผู้ชํานาญการด้านการขับเคลื่อนนโยบายอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศเฉพาะทาง สอศ. กล่าวว่า นักศึกษาทุนทั้ง 3 รุ่น ที่ผ่านมาต้องถอดบทเรียนเพื่อค้นหาโมเดลต้นแบบในการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษเพื่อให้เข้าสู่อาชีพได้จริง โดยขณะนี้การทำงานของเครือข่ายได้ขยายวงกว้างมากขึ้น ไม่เฉพาะภาครัฐแต่เชื่อมในทุกทางเพื่อให้การดูแลดีขึ้น จะเห็นได้ว่าเด็กที่ได้รับทุนได้ทำงานในสถานประกอบการที่เป็นเครือข่ายของโครงการด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ต้องสร้างรูปแบบที่ดีขึ้นตาม 4 สมรรถนะ สมรรถนะแรกคือสมรรถนะความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่จะต้องสร้างระบบที่สามารถดูแลช่วยเหลือเด็กได้ 2.สมรรถนะทางวิชาการ ต้องเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในการทำงานต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3.สมรรถนะในที่ทำงาน จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศจะส่งเสริมการทำงานแบบทีมเวิร์ค เรื่องการสื่อสารกับผู้ร่วมงาน การปฏิบัติตามมาตรฐานขององค์กร ซึ่งทั้งหมดจะต้องออกแบบให้เข้าไปกับหลักสูตรในสถานศึกษา และ4.สมรรถนะตามสาขาอาชีพ ที่แต่ละสถาบันการศึกษามีความหลากหลายที่ต้องออกแบบปรับปรุงโครงการร่วมกัน เพื่อปลายทางจะต้องมองให้เห็นว่าสมรรถนะใดที่จะต้องส่งเสริมและเน้นที่จุดใดเป็นพิเศษ
นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ รักษาการผู้อํานวยการสํานักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับสถานศึกษาทั้ง 10 แห่งที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษแม้จะมีจำนวนน้อยกว่าแต่ภาพรวมของประเทศเด็กเหล่านี้ที่ได้เรียนต่อในระดับสูงขึ้นกว่าการศึกษาขึ้นพื้นฐานมีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่จบชั้นประถมศึกษา หรือพบว่าแม้เรียนสูงแล้วแต่เมื่อจบการศึกษากลับไม่มีงานทำ ซึ่งทุนนี้จะเป็นสะพานโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนที่จบม.3-ม.6 ได้เรียนจบในชั้น ปวส. และเป็นต้นแบบให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไปทั้งภาคนโยบาย กลุ่มผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“สถานศึกษาที่รองรับเด็กมากกว่า 300 คน จะเป็นตัวแบบสร้างนวัตกรรม ต้นแบบที่เป็นผลการทำงานของทั้งทุนเด็กและทุนสถาบันการศึกษาที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง การออกแบบโครงการเรามองว่านักศึกษากลุ่มนี้ถ้ามีโอกาสเรียนที่เกี่ยวข้องในทางปฏิบัติเรื่องของฝีมือน่าจะเหมาะสม เช่น การเรียนแบบ Project based หรือ Active Learning น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
สายอาชีวศึกษาจะทำให้เกิดหลักสูตรนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ที่สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ” นางสาวธันว์ธิดา กล่าว
นางสาวธันว์ธิดา กล่าวว่า ความรู้ในทางเทคนิควิชาการเพียงอย่างเดียวจะไม่ตอบโจทย์สถานประกอบการ แต่เด็กต้องมี Soft Skill เพื่อสานต่อการทำงานให้ประสบความสำเร็จได้จริง ถ้าถามผู้ประกอบการเขาจะไม่พูดเรื่องว่าเก่งหรือไม่เก่งอย่างไร เพราะเขาคิดว่าเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนการเรียนก็ต้องเรียนใหม่เรื่อย ๆ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการแล้วสอนไม่ค่อยได้ คือเรื่องของทักษะในศตวรรษที่ 21 เรื่องของความอดทน ภาษา เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการทำงานได้ด้วยตนเอง มีความรับผิดชอบสูง สิ่งเหล่านี้ที่น่าจะเป็นตัวที่ทำให้นักศึกษาทุนในโครงการฯ มีความแตกต่างและเป็นตัวแบบได้ และประสบความสำเร็จเมื่อเข้าสู่โลกของการทำงาน” นางสาวธันว์ธิดา กล่าว
ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม หัวหน้าโครงการฯ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภารกิจของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สําหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ที่ทุกฝ่ายร่วมกันทำให้เกิดขึ้นในการผลิตชีวิตมากว่า 300 ชีวิต ให้มีโอกาสสูงมากขึ้น ดังนั้นภารกิจนี้จึงสำคัญและมีศักยภาพที่จะเป็นตัวแบบให้หลาย ๆ ที่ต้องมามองดูแนวทางนี้ เพราะจะทำให้เด็กเหล่านี้ก้าวออกไปสู่การมีอาชีพไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จ กลไกนี้จึงต้องถูกเสนออกไปสู่สังคมให้หันมามองว่าถ้าสังคมร่วมกันขับเคลื่อน โอกาสในการประสบความสำเร็จย่อมมีมากขึ้น
“ถ้าน้อง ๆ เหล่านี้ชีวิตคือถนน น้อง ๆ ที่เรียนการศึกษาภาคบังคับแล้วไม่รู้จะไปต่อทางไหน เราต้องอาศัยคนสร้างถนนและซ่อมถนนต่อ เพื่อให้น้อง ๆ มีเส้นทางไปสู่เป้าหมาย ซึ่งไม่ใช่การเรียนจบ แต่เขาต้องพึ่งพาตัวเองได้ มีงาน มีความภาคภูมิใจในตัวเอง
ถ้าเราทำถึงจุดนั้นได้เราถือว่าประสบความสำเร็จมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติม จากทุกฝ่ายที่มีประสบการณ์ในการทำงานของทั้ง 3 รุ่นจะต้องมาช่วยกันคิด ถอดบทเรียนตั้งแต่ปี 2563 ที่แม้บางเรื่องเป็นหลักสูตรใหม่ หรือหลายเรื่องสถานศึกษาไม่เคยทำมาก่อน แต่กล้าที่จะเริ่มต้นลงมือทำ ต้องนำสิ่งเหล่านั้นมาถอดบทเรียนเพื่อสร้างกระบวนการร่วมกัน” ผศ.ดร.ชนิศา กล่าว