กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เดินหน้าสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่มีศักยภาพ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก เชิญชวนผู้สนใจสมัครรับทุนโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” ปีการศึกษา 2567 เพื่อศึกษาต่อสายอาชีพซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานชื่อ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” ซึ่ง กสศ. จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ทุนนักศึกษาในสายอาชีวศึกษา (ปวช. หรือ ปวส.) ที่มีศักยภาพและความสามารถพิเศษ หรือ “ช้างเผือก” โดยเจาะจงให้ทุนในสาขาที่เป็นสายอาชีพชั้นสูงระดับปริญญาตรีขึ้นไป ในหลักสูตรที่ตอบโจทย์นโยบายประเทศไทย 4.0 และสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีสมรรถนะและทักษะในศตวรรษที่ 21 ตามความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง โดยทุนนี้เป็นทุนแรกของรัฐบาลที่ส่งเสริมการศึกษาสายอาชีวศึกษาเป็นการเฉพาะและมุ่งให้แก่กลุ่มยากจนและด้อยโอกาส
ในงานประชุมชี้แจงการเปิดรับสมัครทุนโครงการทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 คุณพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า “กสศ. มีเป้าหมายในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนที่มาจากครัวเรือนยากจนที่จบสายอาชีวะได้ศึกษาต่อในระดับสูง เป็นการพัฒนาโมเดลและยกระดับภาพลักษณ์การเรียนสายอาชีพ พร้อมส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาต่อเต็มศักยภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสริมสร้างสมรรถนะของกำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการสายอาชีพและสาขาที่ขาดแคลน รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่เชื่อมโยงกับโลกและชุมชนท้องถิ่น”
จึงได้ดำเนินโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” ปีการศึกษา 2567 ให้แก่ นักเรียนหลักสูตรทวิศึกษา นักศึกษาสายอาชีวศึกษา ผู้บริหาร บุคลากรในสถาบันอาชีวศึกษา สถาบันอุดมศึกษาสถาบันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาสายอาชีวศึกษา เห็นคุณค่าของการศึกษาต่อ
จากการทำงานของ กสศ. ได้ทำการให้ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ตั้งแต่ปี 2562 มาแล้ว 5 รุ่น มีผู้ได้รับทุนไปแล้ว 157 คน เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันการอาชีวศึกษาชั้นนำภายในประเทศ จำนวน 47 แห่ง ใน 29 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค
- รุ่นที่ 1 จำนวนนักศึกษา 13 คน โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 7 คน และศึกษาต่อระดับปริญญาโท จำนวน 6 คน
- รุ่นที่ 2 จำนวนนักศึกษา 25 คน โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 21 คน และศึกษาต่อระดับปริญญาโท จำนวน 4 คน
- รุ่นที่ 3 จำนวนนักศึกษา 60 คน โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 49 คน
- รุ่นที่ 4 จำนวนนักศึกษา 40 คน โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 11 คน
- รุ่นที่ 5 จำนวนนักศึกษา 19 คน โดยกำลังศึกษาอยู่ชั้นระดับปริญญาตรี
ด้าน คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. บอกว่า “ระดับการศึกษา คือหนึ่งในทุนมนุษย์สำคัญที่ถูกส่งต่อข้ามรุ่น ดังนั้นทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม สนับสนุนเยาวชนสายอาชีพที่มีศักยภาพและความสามารถพิเศษให้ได้รับการพัฒนาและโอกาสทางการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพต่อเนื่องตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป มากกว่านั้นกิจกรรมสำหรับนักศึกษาผู้รับทุนฯ คือ การส่งเสริมการเรียนรู้เชิงลึกและกว้าง ให้นักศึกษามีความรู้และประสบการณ์ทักษะเพื่อให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล”
คุณนพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ เผยถึงคุณสมบัติของผู้ขอรับทุน ดังนี้
- เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน ไม่เกิน 6,000 บาท หรือเป็นผู้ด้อยโอกาส ตามหลักเกณฑ์ที่ กสศ. กำหนด และมีอายุไม่เกิน 24 ปี นับถึงวันที่เปิดภาคการศึกษา
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)/อนุปริญญา ในปีการศึกษา 2566 จากสถานศึกษาที่จัดการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)/อนุปริญญา
- เป็นผู้มีศักยภาพในการเรียนและความสามารถพิเศษ
- มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 3.00 และมีผลการเรียนอยู่ในลำดับไม่เกินร้อยละ 20 ของสาขาที่สำเร็จการศึกษา เมื่อเปรียบเทียบในชั้นเรียนเดียวกันของสถานศึกษา หรือ ในกรณีสาขาของนักศึกษา มีจำนวนนักศึกษาน้อยกว่า 20 คน ต้องเป็นผู้มีผลการเรียนอยู่ในลำดับไม่เกินร้อยละ 30
- มีประวัติดีเด่นโดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ และมีสถานศึกษาที่สำเร็จการศึกษา เป็นผู้รับรอง ทั้งนี้ หากมีผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับชาติหรือระดับภาคหรือมีความสามารถพิเศษด้านเทคโนโลยีดิจิทัล จะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ
- เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี และเป็นผู้ที่มีความเป็นผู้นำ มีจิตสาธารณะและมีเจตคติที่ดีต่อสายอาชีพ
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่า ภาคบังคับ กล่าวว่า หลักสูตรที่เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับสาขาเดิมที่สำเร็จการศึกษาและได้รับการรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด พร้อมเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับองค์กรวิชาชีพที่ได้รับการรับรอง โดยมุ่งเน้นที่
- 10 เป้าหมายสาขาหลักในการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-curve) และ อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve)
- สาขาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบด้วย สาขาประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก สาขาประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมส่งเสริม สาขาประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร และสาขาประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติพร พันธุ์ท่าช้าง ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และคุณนิตย์นิรันดร์ พิลาไชย อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ ได้ชวนแลกเปลี่ยนให้คำแนะนำแนวการเรียนระดับอุดมศึกษาที่มีความสำคัญ และสร้างการเปลี่ยนแปลงในการเดินทางตามความฝัน กล่าวว่า การศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาไม่เพียงแค่เปิดประตูสู่ความรู้ แต่ยังเป็นก้าวแรกในการก้าวผ่านความยากจน ทำให้เราสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้สูงขึ้น นอกจากนี้ การศึกษายังเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการสร้างฝันของนักเรียนให้กลายเป็นจริง สร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชนอย่างยั่งยืน
คุณภัทราภรณ์ ไทยเอื้อ ครูสาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ และอดีตนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 และทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ รุ่น 3 และคุณนพเก้า พรหมอินทร์ นักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ รุ่น 4 สาขาวิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ รุ่นพี่ตัวแทนผู้รับทุนทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ “โอกาสและเส้นทางสู่ความสำเร็จ” และเชิญชวนนักศึกษาอาชีวศึกษารุ่นน้องที่สนใจสมัครเข้ารับทุนไว้ว่า การได้รับโอกาสจากทุนพระกนิษฐาสมัมมาชีพเป็นเหมือนแสงสว่างที่ปลายทางอุโมงค์ ความพยายามที่เราได้ทุ่มเทมาเพื่อเดินตามความฝันก็เริ่มเห็นผลชัดเจน สู่การส่งต่อโอกาสดี ๆ ให้กับผู้อื่น การได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ ทำให้เราพร้อมที่จะก้าวหน้าไปอีกขั้น พวกเขาไม่เพียงแค่ให้โอกาสทางด้านการศึกษา แต่ยังเป็นที่พักพิงเมื่อเราต้องการ
และในช่วงท้ายนางสาวจรัสจันทร์ สุนทรวิจิตร นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. ได้แนะนำระบบและช่องทางในการสมัครทุนพระกนิษฐา โดยนักศึกษาและสถานศึกษาที่สนใจสามารถกรอกข้อมูลการสมัครและแนบเอกสารตามรายละเอียด ผ่านทางระบบออนไลน์เพิ่มเติมได้ที่ คลิก ทั้งนี้ระบบปิดรับสมัครออนไลน์ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2567
*****
สายด่วนทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ 02-079-5475 กด 4 หรือ 099-365-3645
และ Line สมัครทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ