เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2566 ที่โรงแรมเซ็นทรัลเพลส จังหวัดสมุทรสาคร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น จัดงานเสวนา ‘การฟื้นฟูการศึกษาสมุทรสาครโมเดลเพื่อการศึกษาศตวรรษที่ 21’ ภายใต้การจัดทำโครงการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพื่อลดภาวะการเรียนรู้ถดถอย นำร่องโรงเรียนในสมุทรสาคร จังหวัดที่ปิดเรียนยาวนานที่สุดของประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยมีครูจากโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาครเข้าร่วมกว่า 300 คน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า “สมุทรสาครเป็นหนึ่งในต้นแบบที่เราสามารถใช้ความรู้ ข้อมูล และการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจนเกิดผลลัพธ์ทางการศึกษาที่ยั่งยืนขึ้นได้ แนวคิด All for Education เพื่อให้เกิด Education for All จึงเป็นความพยายามที่เราจะใช้สมุทรสาครโมเดลเป็นสื่อเพื่อแสดงว่า ถ้าทุกคนร่วมมือกัน ด้วยพวกเราที่เป็นปวงชนเพื่อการศึกษา สามารถสร้างการศึกษาเพื่อปวงชนได้อย่างแน่นอน”
การดำเนินงานในระดับจังหวัด : สมุทรสาครโมเดล
นายอาคม ศาณศิลปิน ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร ได้กล่าวรายงานความคืบหน้าและวัตถุประสงค์ของงานเสวนาในครั้งนี้ว่า “การเสวนามีวัตถุประสงค์ 2 ประการ หนึ่ง คือ เพื่อนำเสนอและขยายผลโครงการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อลดภาวะการเรียนรู้ถดถอยและฟื้นฟูการเรียนรู้ และ สอง เพื่อสร้างพันธมิตรทางการศึกษา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ทั้งในระดับจังหวัดสมุทรสาครและระดับประเทศ”
นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของโควิด แต่เป็นเรื่องบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือที่เรียกว่า New Normal ทำให้เรากลับมาทบทวนว่าเราจะทำอย่างไรกับการศึกษาในปัจจุบัน เพราะเราต้องก้าวไปข้างหน้าภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ภายใต้โลกที่แปรเปลี่ยนไป ถึงเวลาแล้วที่เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อขยายผลสมุทรสาครโมเดลให้กว้างขวางสำหรับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป”
ด้านการขับเคลื่อนระดับจังหวัดนั้น บทบาทของศึกษาธิการจังหวัดนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยสาวิตรี เหลืองสุรีย์ ศึกษานิเทศก์ สพป.สมุทรสาคร สรุปว่าความสำเร็จของโครงการครั้งนี้สามารถเห็นผลได้อย่างเด่นชัด
“ในขณะที่โรงเรียนประสบปัญหา ศน.พยายามลงพื้นที่เข้าไปสังเกตในชั้นเรียน นิเทศออนไลน์แล้วพบว่าความรู้ของเด็กหายไปเยอะ แต่เราชื่นชมในความพยายามของครูอย่างมากที่จะช่วยฟื้นฟูเด็ก ๆ ผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจคือพัฒนาการของเด็ก ๆ ในการสอบ NT และ O-NET สูงขึ้น เด็กมีความร่าเริงแจ่มใส มีบุคลิกที่ดี ครูเองก็มีความสามารถมากขึ้นเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการสอน เราจึงพยายามสร้างขวัญกำลังใจให้กับคุณครูว่าเรามาถูกทางแล้ว”
ถอดโมเดลการเรียนการสอนในภาวะวิกฤต
โครงการนี้มุ่งพัฒนาโมเดลที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่น เพื่อช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนสอนในภาวะวิกฤต
สุพัตรา นาวิก ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโสภณาราม สพป.สมุทรสาคร กล่าวว่า“กิจกรรมที่เราใช้พัฒนานักเรียนในศตวรรษที่ 21 คือ Makerspace พื้นที่สร้างสรรค์ที่นักเรียนใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านกระบวนการ STEAM Design Process โดยครูเป็นโค้ช ตั้งคำถามให้นักเรียนจินตนาการ วางแผน ลงมือปฏิบัติ และสะท้อนกลับเพื่อให้นักเรียนได้ปรับปรุงผลงาน โดยเราเริ่มต้นจากการประเมินสถานการณ์ ด้วยการสำรวจนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อวางแผนทั้งระบบ เน้นให้ครูผลิตสื่อออนไลน์ที่นักเรียนใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา ใช้สื่อการเรียนรู้ Happy Box ที่นักเรียนนำกลับบ้านได้ สร้างใบงานสำหรับเด็กปกติและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ครูสร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง และมีการ PLC ร่วมกันตลอด เพื่อให้นักเรียนมีภูมิคุ้มกันด้านการเรียนรู้ ผลลัพธ์ที่เห็นชัดคือนักเรียนของเรามีทักษะเป็นนักนวัตกรมากขึ้น”
นอกจากบทบาทของคุณครูที่ต้องเปลี่ยน โรงเรียนเองก็ต้องมีแนวทางในการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ศักรินทร์ และล้ำเลิศ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม เน้นย้ำว่า “โรงเรียนต้องเป็นหน่วยจัดประสบการณ์ให้นักเรียน นอกจากเป็นหน่วยจัดประสบการณ์แล้ว โรงเรียนจะต้องตื่นตัวตลอดเวลา และทำอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นมาตรการของโรงเรียน มันจะเกิดความยั่งยืนในท้ายที่สุด”
ในขณะที่ ลลิศรา ต่อเทียนชัย ผู้จัดการโรงเรียนเจริญศิลป์ศึกษา ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนอีกด้วย
“วัคซีนที่สำคัญ คือ การพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ด้วยตนเอง เพราะสมัยนี้สามารถหาความรู้ได้ทั่วไป ไม่ใช่แค่ด้านการอ่านเขียน แต่ต้องเติมทักษะด้านชีวิต ทักษะด้านอารมณ์และสังคม เมื่อเจอปัญหาอะไร เช่น การสูญเสียบุคคลสำคัญ เขาจะมีจิตใจที่เข้มแข็งพอ เพื่อก้าวผ่านอุปสรรคได้”
นวัตกรรมการฟื้นฟูการเรียนรู้และพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบุว่า “กสศ. ไม่ผิดหวังที่เลือกจังหวัดสมุทรสาครเป็นจุดเริ่มต้น เพราะผู้บริหารสูงสุดให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อเด็กไทยมากกว่า 10 ล้านคน ไม่ใช่แค่เด็ก 4,200 คนในจังหวัดสมุทรสาครเท่านั้น แต่เป็นการนำเอาประสบการณ์ต่าง ๆ ไปสร้างเป็นสมุทรสาครโมเดลเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
“โควิดเปิดประตูหลายบานทำให้เห็นช่องโหว่ในระบบการศึกษาบ้านเรา การปิดโรงเรียนทำให้เกิดสภาวะหลายอย่าง เด็กมีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้มาก ไม่ใช่แค่สติปัญญาอย่างเดียว สภาวะเหล่านี้เป็นอุปสรรคทำให้เด็กขาดกำลังใจที่จะเรียน เราจึงต้องทำให้เด็กตื่นเต้นในการกลับมาเรียนให้ได้มากที่สุด ดังนั้นจึงเกิดเป็นนวัตกรรมมากมาย ต่อไปเราต้องถอดบทเรียน ทำคู่มือ หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ในวันข้างหน้า ระบบการศึกษาไทยจะได้มีภูมิคุ้มกัน
“การศึกษาไทยมีเรื่องความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นโควิดต้องไม่ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีต้นทุนเดิมหนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก โรงเรียนในสมุทรสาครที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าที่อื่นต้องไม่มีการถดถอยตกหล่นไปอีก ขอบคุณภาคีที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยให้สมุทรสาครเป็นหนึ่งในต้นแบบที่เราสามารถใช้ความรู้ ข้อมูล และการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจนเกิดผลลัพธ์ทางการศึกษาที่ยั่งยืนขึ้นได้”
ฟื้นฟูการเรียนรู้ : ประเทศไทยต้องไปต่อ
Mrs.Kyunsum Kim ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาของการทดสอบความเข้มแข็ง ความสามารถในการปรับตัว ความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเด็ก ๆ เพื่อให้เข้าถึงการศึกษาที่ดี โควิดยังได้สร้างผลกระทบต่อการเรียนรู้มากมาย ทำให้ความเสมอภาคเกิดช่องว่างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะชุมชนเปราะบางหรือกลุ่มเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้
“จากการสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟพบว่านักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 มีทักษะด้านการอ่านลดต่ำลงจาก 52% ลงไปที่ 47% และทักษะเรื่องการคำนวณลดลงจาก 47% ลงไปที่ 40% แต่เราก็ยังมีความหวังอยู่ เพราะผลการดำเนินงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมไปถึงเสียงของนักเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง และคุณครู ที่สะท้อนให้เห็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการทดลองทำโครงการในจังหวัดสมุทรสาคร
“เราพบว่ามีวิธีการหลากหลายในการฟื้นฟูการเรียนรู้ เรื่องแรก คือ การประเมินในชั้นเรียนเพื่อดูว่านักเรียนต้องการซ่อมเสริมเรื่องใดบ้าง และนักเรียนแต่ละคนมีต้องการอะไรเป็นพิเศษ เพื่อจัดทำแผนการการเรียนรู้ที่เหมาะสม เรื่องที่สอง คือ การฝึกอบรมคุณครูให้ใช้วิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสมเพื่อให้นักเรียนมีพื้นฐานที่ดีขึ้น เรื่องที่สาม คือ การใช้ข้อมูลต่าง ๆ ในการกำหนดแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสม เรื่องที่สี่ คือการคำนึงถึงพื้นฐานของครอบครัวที่มีความหลากหลาย เรื่องที่ห้า คือการดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ หรือช่วยส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เรื่องที่หก คือ การช่วยเหลือด้านสังคมและอารมณ์ เพื่อให้นักเรียนสามารถปรับตัวและรับมือกับความยากลำบากได้ เรื่องที่เจ็ด คือ การใช้เทคโนโลยีสำหรับการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ซึ่งเป็นแนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงทรัพยากรทางการเรียนรู้
“เวทีเสวนาวันนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ตระหนักถึงสิ่งที่เราทำมาแล้ว และวางแผนในอนาคตว่ามีอะไรที่เราสามารถทำเพิ่มมากกว่านี้ได้อีก เราจะสร้างระบบการศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างไร ดังนั้นอยากให้ทุกคนตระหนักถึงการเปลี่ยนความรู้ในวันนี้ให้เป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อสร้างผลลัพธ์ระยะยาวต่อการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ ช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงทรัพยากรได้มากที่สุดเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”