ตามที่ปรากฏข่าวบนสื่อออนไลน์ อ้างอิงถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยได้เห็นชอบ แผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2565 พร้อมให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข จำนวน 9,100 บาท ตั้งแต่ชั้นอนุบาล – ม.6 นั้น จากการตรวจสอบพบว่าข้อมูลดังกล่าวพบว่ามีเนื้อหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในหลายประเด็น
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงคือในปีงบประมาณ 2565 คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้เสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรีไปที่ 7,635.67 ล้านบาท แต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบปรับลดงบประมาณที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. เสนอไป 2 ครั้งตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 จาก 7,635.67 ล้านบาท ปรับลดลง 1,078.8051 ล้านบาท เหลือ 6,556.8649 ล้านบาท โดยเป็นการปรับลดอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาค จากที่ กสศ. เสนอเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนระดับประถมศึกษาอัตราใหม่ 5,100 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอัตราใหม่ 4,500 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอัตราใหม่ 9,100 บาท ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอให้คงอัตราเงินอุดหนุนไว้ที่อัตรา 3,000 บาทต่อคนต่อปีเช่นเดิม และ เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณให้ปรับลดงบประมาณ กสศ. ในร่าง พรบ.งบประมาณประจำปี 2565 อีก 904.5775 ล้านบาท เหลือ 5,652.29 ล้านบาท รวมการปรับลดทั้ง 2 ครั้ง เป็นการปรับลดราว 2,000 ล้านบาท จึงทำให้เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษยังคงอยู่ในอัตราเดิมคือ 3,000 บาทต่อคนต่อปี ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล- มัธยมศึกษาปีที่ 3 สังกัด สพฐ. อปท.และบก.ตชด.
อย่างไรก็ตาม ในชั้นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ของสภาผู้แทนราษฎร กสศ.จะเตรียมจัดทำคำขอแปรญัตติงบประมาณในส่วนที่สามารถขอแปรคืนกลับมาได้ไม่เกิน 900 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่มีความแน่นอนในระหว่างปีการศึกษา 2564-2565 ต่อไป