นำร่องต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง ใช้ความรู้นำสู้วิกฤต ช่วยแรงงานด้อยโอกาส – ครัวเรือนยากจนพิเศษ สร้างอาชีพ มีรายได้ พึ่งตัวเอง และส่งผลให้เด็กไม่หลุดออกจากระบบและมีโอกาสเรียนสูงขึ้น
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมออนไลน์ ‘ประชุมเชิงปฏิบัติการเปิดรับข้อเสนอโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2564’ เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ แนวทางการทำงาน และประชาสัมพันธ์โครงการให้แก่องค์กรภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม หรือองค์กรที่สนใจ
น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และปัญหาเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดประชากรด้อยโอกาสว่างงานกลุ่มใหม่จำนวนมาก โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2564 จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ในฐานะต้นแบบการพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่มุ่งค้นหาระบบนิเวศทางการศึกษาและแนวทางฝึกอาชีพ เพื่อเชื่อมโยงชุมชนและเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกัน โดยกลุ่มเป้าหมายคือประชากรนอกรั้วโรงเรียนวัย 15 ปีขึ้นไป ซึ่งประเทศไทยมีแรงงานกลุ่มนี้ราว 20 ล้านคน หรือ70% ในจำนวนนี้คือแรงงานนอกระบบที่ขาดทักษะ”
ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า “ตลอดสองปีที่ผ่านมา มีโครงการที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการกับ กสศ. ทั้งหมดจำนวน 194 โครงการ กว่า 182 หน่วยพัฒนาอาชีพ ครอบคลุมการทำงาน 50 จังหวัด ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ว่างงาน ยากจน และด้อยโอกาสไปแล้วปีละราว 10,000 คน ภายใต้งบประมาณที่จำกัด และในขณะนี้กำลังเปิดรับข้อเสนอโครงการจากหน่วยงานหรือองค์กรที่มีแนวคิดการพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน องค์กรเอกชน ธุรกิจเพื่อสังคม องค์กรชุมชน มูลนิธิ องค์กรสาธารณประโยชน์ เน้นช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนา 4 ทักษะสำคัญ คือ 1. ทักษะอาชีพ 2. ทักษะศตวรรษที่ 21 3. การดูแลสุขภาพจิต และ 4. ทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินและหนี้สิน รวมทั้งมีรูปแบบการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการมีงานทำ ยืนหยัดด้วยตัวเองในระยะยาว โดยจะสนับสนุนทุนโครงการละไม่เกิน 1 ล้านบาท ดำเนินงานในกรอบระยะเวลา 7 เดือน
“กสศ. ตั้งเป้าให้หน่วยงานที่เข้าร่วม มองถึงการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายพิเศษ คือกลุ่มคนวัยทำงานที่มีบุตรหลานในระบบการศึกษาที่ไม่เกินระดับชั้น ม.3 เพื่อสนับสนุนให้มีอาชีพ มีรายได้ เพื่อส่งต่อผลสำเร็จไปยังครัวเรือน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้ได้เรียนต่อโดยไม่หลุดจากระบบการศึกษา และมีความเป็นไปได้ในการเรียนต่อระดับชั้นที่สูงขึ้น” น.ส.ธันว์ธิดากล่าว
น.ส.ธันว์ธิดากล่าวว่า “โครงการนี้มองผลปลายทางที่มากกว่าการฝึกอาชีพหรือการผลิตสินค้า แต่จะนำไปสู่ชุมชนนำร่องที่ทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการให้ผู้ด้อยโอกาสได้ประกอบอาชีพตามความถนัด พึ่งพาตนเองได้ มีอาชีพที่ยั่งยืน และนำพาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืน โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการต้องมีการวิเคราะห์ชุมชนในด้านต้นทุนทางสังคม เศรษฐกิจ และวิเคราะห์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยมองถึงความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทุกกลุ่มที่มีการศึกษาไม่ถึงระดับชั้น ม.6 มีรายได้น้อยกว่า 6,500 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน เป็นต้น
“ผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการได้ โดยเปิดรับยื่นข้อเสนอโครงการผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.EEF.or.th หรือ ทุนพัฒนาอาชีพ.com ตั้งแต่วันที่ 10 – 23 กรกฎาคม 2564 และจะประกาศผลโครงการที่ผ่านการพิจารณาภายในเดือน สิงหาคม 2564” น.ส.ธันว์ธิดากล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวว่า “ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และยูนิเซฟพบว่า จะมีคนตกงานประมาณ 6 ล้านคน และมีเด็กจบการศึกษาใหม่ 1.3 ล้านคน ดังนั้นต้องหาทางรองรับคนที่จะหลั่งไหลออกจากเมืองกลับไปยังชุมชน อีกทั้งความคิดของทีมงานที่เน้นการทำงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อเป็นต้นแบบของการรองรับแรงงาน เราอาจต้องเตรียมการเรื่องสวัสดิการทันสมัย รองรับคนที่จะกลับชุมชน ที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ รุ่นเก่า คนจนเฉียบพลัน คนยากจนพิเศษ คนจนถาวร หรือเกือบจนในแต่ละชุมชนเพิ่มมากขึ้น
“เรากำลังแก้โจทย์สำคัญเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งมีสาเหตุปัจจัย 3 เรื่อง คือ 1. การส่งต่อความยากจนจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง คนที่จบ ม.ต้น แทบไม่มีโอกาสพัฒนาตัวเอง ต้องอยู่กับความยากจน 2. ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนปีนี้จะยิ่งห่างมากกว่า 20 เท่า และ 3. การวัดประเมินผลแบบแพ้คัดออก ยิ่งคนด้อยโอกาสมาจากครอบครัวยากจนยิ่งขาดโอกาสทางการศึกษา ดังนั้นการแก้โจทย์เราจะไม่ส่งต่อเรื่องความยากจนจากคนอีกรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง แต่เราจะสร้างมิติใหม่จะส่งต่อโอกาสความเสมอภาค กำหนดอนาคตของประเทศต่อไป ประเทศไทยจะต้องก้าวไปข้างหน้าโดยเชื่อมโยงกับองค์กรในท้องถิ่น ขยับเชิงนโยบายในแต่ละท้องถิ่น เป็นสังคมที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความยากจนจากล่างขึ้นบน การทำต้นแบบองค์ความรู้ บูรณาการเชื่อมต่อกับนโยบาย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของทุนในอนาคตข้างหน้า”
นายภัทระ คำพิทักษ์ คณะกรรมการบริหาร กสศ. และอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ กล่าวว่า “ ‘การพัฒนาทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน’ หมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคน โดยมีสิ่งที่เป็นพื้นฐานร่วมกัน ตั้งแต่พื้นที่ ความสนใจสภาพปัญหาชุมชน รวมถึงทุนทางเศรษฐกิจและทรัพยากรที่มีร่วมกัน ซึ่งโครงการเน้นว่าจะต้องไม่ใช่การฝึกอบรมอาชีพทั่วไป และไม่ได้เป็นการสงเคราะห์ แต่คือสร้างการเรียนรู้บนฐานสุภาษิตที่ว่า ‘แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี’ หมายถึงในสภาวะที่ผู้คนต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมของการประกอบอาชีพ อีกทั้งช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีวิกฤตเข้ามาบีบคั้น สิ่งที่จะทำให้ผู้คนและชุมชนฝ่าฟันไปได้เราต้องใช้ความรู้เป็นตัวนำ และนี่คือเป้าหมายและทิศทางของโครงการนี้”
น.ส.ณัฐชา ก๋องแก้ว นักวิชาการฝ่ายนวัตกรรมข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า “ข้อมูลจากระบบ isee ของกสศ. (www.isee.eef.or.th/) พบว่า มีนักเรียนทุนเสมอภาคจำนวน 1.17 ล้านคน เด็กกลุ่มนี้มาจากครัวเรือนยากจนที่สุด 15% ล่างของประเทศ เมื่อมีวิกฤตโควิด-19 มีรายได้ราว 1,021 บาทต่อคนต่อเดือน หรือราว 34 บาทต่อวันเท่านั้น จึงเป็นที่มาของการนำแนวคิดในการช่วยเหลือครอบครัวของนักเรียนทุนเสมอภาค ที่จำนวนมากต้องประสบปัญหาถูกเลิกจ้าง ว่างงาน และกลับภูมิลำเนามากขึ้น มาใช้ในการทำงานของโครงการในปี 2564 นี้ เพื่อเป็นต้นแบบการช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงสมาชิกครอบครัวของนักเรียนทุนเสมอภาค ให้มีทักษะอาชีพและสามารถมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งหมายถึงโอกาสในการศึกษาอย่างต่อเนื่องของเด็กและเยาวชนที่ยังอยู่ต่อไป”