▪️ในฐานะที่เป็นภาครัฐ มองว่า “งบประมาณ” สำคัญอย่างมากกับการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ผ่านมางบประมาณส่วนใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ กระจุกตัวอยู่ที่ด้านบุคลากรถึง 85% ในขณะที่ในด้านการพัฒนาเด็กนั้นมีเพียง 15% ส่งผลให้นโยบายต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนไม่เพียงพอ เช่น เรียนฟรี ไม่ฟรีจริง
▪️ในด้าน “คุณภาพการเรียนรู้” หลักสูตรแกนกลางมาตรฐานการศึกษาล้าสมัย สนใจเพียงว่า “ผู้เรียนจำอะไรได้” มากกว่า “ทำอะไรได้” ทำให้คุณภาพของผู้เรียนไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
▪️ในเชิงระบบ ยังพบว่ามีเด็ก Dropout จำนวนมากยังขาดแรงจูงใจในการเข้าเรียนในระบบ เนื่องจากมองไม่เห็นว่าการศึกษาจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตได้อย่างไร
ทั้งหมดนี้ ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อค้นพบและทิศทางนโยบายสำคัญ ในเวทีวิชาการ Equity Forum 2025 ประเทศไทยกับการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ดังนี้
▪️[1] เพิ่มงบประมาณในส่วนพัฒนาผู้เรียน 15% ให้สูงขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพในการจัดการศึกษา และหาแนวทางในการบริหารงบประมาณที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นโยบาย “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime” ที่ก่อให้เกิดภาระทางงบประมาณน้อยที่สุด กล่าวคือ ใช้งบประมาณน้อยแต่ได้ผลมาก
▪️[2] ปรับหลักสูตรแบบยกเครื่อง (Major Change) เปลี่ยนจากหลักสูตรที่เน้นการท่องจำให้กลายเป็นหลักสูตรที่เน้นการทำได้ เช่น หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) หรือแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นกิจกรรม (Activity-based Learning) สำหรับเด็กประถมศึกษาที่หลอมรวมกลุ่มสาระวิชาเข้าด้วยกัน
▪️[3] ศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพของเด็ก Dropout เพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุผล บริบทแวดล้อม หรือสภาพปัญหา เพิ่มเติมจากการค้นหาข้อมูลเชิงปริมาณ เพื่อนำผลที่ได้ไปออกแบบแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับรายบุคคล
ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เปิดมุมมองนโยบาย ‘ทิศทางความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทย ปี 2568’ ในงาน Equity Forum 2025 การสัมมนาทางวิชาการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาประจำปี 2568 ในหัวข้อ ประเทศไทยกับการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในแต่ละพื้นที่ เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งต้องยอมรับว่าแม้กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูง แต่งบประมาณส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปกับเรื่องของบุคลากรการศึกษา
“เด็กไทยมีความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างสูง แต่ประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ คือความเหลื่อมล้ำเรื่องคุณภาพของการจัดการศึกษาในแต่ละพื้นที่ยังทำได้ไม่เท่ากัน ทั้งยังมีงบประมาณจำกัด โดยนโยบายเรียนดีมีความสุข เราผลักดันด้วยความเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมที่ดี บรรยากาศในการเรียนรู้ที่ดี จะอำนวยให้ผลการเรียนดีด้วย จึงพยายามทำผ่านมาตรการหลายทาง เช่น จากผลสำรวจพบว่าเด็ก 90% อยากให้ปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียน ก็มีการจัดสรรงบประมาณไปปรับปรุง แต่เมื่อทำแล้วก็กระทบกับงบประมาณปรับปรุงอาคารเรียน ทั้งนี้ในแต่ละปีกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราเหลืองบประมาณในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอยู่แค่ประมาณ 15% เท่านั้น ส่วนอีก 85% เป็นเงินที่จัดสรรไปใช้จ่ายเรื่องบุคลากร”
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/02-3.jpg)
ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ด้วยงบประมาณที่จำกัด กระทรวงศึกษาธิการต้องบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยจะแบ่งการทำงานกับนักเรียน 2 กลุ่ม หนึ่งคือกลุ่มที่เรียนเพื่อความเป็นเลิศ และสองคือกลุ่มที่เรียนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
“ในกลุ่มที่เรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการพยายามสร้างแนวทางและช่องทางอัพสกิล ให้เด็กสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพ รวมถึงหาทางที่จะช่วยให้มีทางเลือกในการเรียนรู้ที่ตรงกับบริบทชีวิตมากขึ้น จึงมีนโยบายเช่นธนาคารหน่วยกิต หรือนำเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อให้เรียนรู้ได้จากทุกที่ ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งปรับการเรียนการสอนให้เป็น ‘Personalize’ หรือการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการแต่ละบุคคลมากขึ้น
“ขณะเดียวกันยังมีคำถามเจาะจงไปที่ตัวหลักสูตรว่าดีพอหรือไม่ ซึ่งอาจอธิบายด้วยคำถามในทางกลับกัน ว่าทำไมถึงมีเด็กที่เรียนหลักสูตรเดียวกันนี้ และสามารถพาตัวเองก้าวไปสู่ความเป็นเลิศได้ ประเด็นนี้เราจำเป็นต้องมองไปที่รายละเอียด ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือเด็กหลังห้องเรียนไม่ทันเด็กหน้าห้อง ดังนั้นการพยายามนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปแบบ Personalize มากขึ้น และจะทำให้เด็กแต่ละคนมีโอกาสเข้าถึงระดับความรู้ตามความเหมาะสม รวมถึงช่วยส่งเสริมความสามารถในการรับรู้-เข้าใจได้มากขึ้น”
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/01-2.jpg)
ดร.สิริพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการกำลังพิจารณาปรับหลักสูตรแกนกลาง หลังจากที่ผ่านมาได้เดินหน้าปรับไปแล้วเป็นบางส่วน โดยปี 2568 นี้ อาจได้เห็นการปรับหลักสูตรสำหรับเด็กชั้นประถมที่จะไม่มีกลุ่มสาระวิชา แต่เน้นเรื่องผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นตัวตั้ง เพื่อส่งเสริมการเรียนต่อตามความสนใจและความถนัดของเด็กแต่ละคน และเมื่อปรับหลักสูตรแล้ว ก็จำเป็นต้องปรับแนวทางการวัดประเมินผลที่สอดคล้องกับการวัดฐานสมรรถนะมากขึ้น คือเป็นการทดสอบที่มุ่งให้ความสำคัญกับการนำไปใช้มากกว่าท่องจำ
“ปีนี้กระทรวงศึกษาธิการจะนำเทคโนโลยีหลายอย่างมาใช้วิเคราะห์ข้อมูล และจะให้คำแนะนำรายโรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ส่วนเรื่องเด็กออกกลางคัน การทำงานที่ผ่านมาทำให้เราตระหนักว่าแม้จะค้นหาตัวเด็กเจอ แต่ต้องยอมรับว่าเหตุผลของการหลุดออกจากระบบการศึกษาของแต่ละคนนั้นแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเราจะแก้ปัญหาโดยใช้สูตรสำเร็จไม่ได้ นอกจากนี้ต้องยอมรับว่า เด็กออกกลางคันส่วนใหญ่ไม่ได้อยากกลับเข้ามาเรียนในโรงเรียนปกติ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ปัญหาให้ตรงกับบริบท เช่นเราเจอเด็ก 3,000 คน ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 3,000 คนจะอยากกลับมาเรียนทั้งหมด เพราะเราจะพบว่าอาจมีเด็ก 2,000 คนที่ปฏิเสธการกลับเข้าเรียนในโรงเรียน ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าข้อแม้ของแต่ละคนคืออะไร และถ้าเด็กปฏิเสธการกลับเข้าเรียนในระบบ เราจะออกแบบการศึกษาเรียนรู้อย่างไรให้เหมาะสม เพื่อให้ทุกคนกลับสู่เส้นทางการเรียนรู้ได้”