สืบเนื่องจากนโยบาย “Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ของรัฐบาล ที่มีเป้าหมายให้จำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลทุกมิติ สร้างระบบส่งต่อ พาเด็กเยาวชนกลับสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิตเป็นรายบุคคล เพื่อการเปิดประตูสู่อาชีพที่ดี ก้าวพ้นความจนข้ามรุ่นในอนาคต
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา และเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ด้วยประสบการณ์และต้นทุนการทำงานจากพื้นที่ของเพื่อนภาคี 25 จังหวัด ประกอบด้วย นครพนม อุบลราชธานี กาญจนบุรี ตาก ตรัง ปัตตานี สงขลา น่าน เชียงใหม่ นครราชสีมา สระแก้ว ราชบุรี บึงกาฬ ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย พะเยา ระยอง สมุทรสงคราม สุรินทร์ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ยะลา เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ที่มีประสบการณ์ เข้าใจชีวิตจริงและข้อจำกัดของเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบด้วยหลายมิติปัญหาที่มีความซับซ้อน ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมเดินหน้าทลายกำแพงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
โดยมี ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. พร้อมด้วยตัวแทนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เข้าร่วมเสนอร่าง Roadmap และ Workshop ออกแบบการทำงานในพื้นที่อย่างยั่งยืน ตรงจุดปัญหา สลายปมในและนอกระบบการศึกษา รวมถึงชี้ชัดว่าอะไรคือช่องว่างและอุปสรรคการทำงาน พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาเพื่อเดินหน้า
ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าจากการประกาศนโยบาย Thailand Zero Dropout โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถือเป็นเจตนารมณ์สำคัญที่มีความหมายต่อเด็กเยาวชนทุกคน ซึ่งทุกหน่วยงานต่างพร้อมน้อมรับและดำเนินการ สำหรับกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นกระทรวงหลัก ได้มีนโยบายสำคัญหลายประการในการดูแลเด็กเยาวชนให้ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่มีความรู้ความสามารถ ประการหนึ่งคือการลดภาระงานครูให้ได้มีเวลาทุ่มเทกับเด็กทุกคนอย่างเต็มที่ เพื่อลดความเสี่ยงการหลุดจากระบบได้มากขึ้น ประการต่อมาคือการปรับรูปแบบระบบการศึกษาให้ทันสมัย สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบันที่การเรียนรู้ทำได้แบบ Anywhere Anytime การศึกษาเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน อย่างไรก็ตามต้องมีระบบดูแลติดตามเพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกไปจากระบบ
“เรามีตัวอย่างความร่วมมือร่วมใจมาแล้วในการประกาศนโยบายพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งสามารถนำเด็กเยาวชนจำนวนหลักแสนคนกลับมาได้ วันนี้จึงถือเป็นเรื่องดีที่ทุกคนเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันอีกครั้ง และไม่ใช่แค่เด็กเยาวชนในวัยการศึกษาภาคบังคับ แต่เราต้องขยายขอบเขตงานให้ครอบคลุมถึงเด็กปฐมวัยและช่วงวัยหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่สามด้วย เราต้องช่วยกันดูแลช่วยเหลือและติดตามให้มีโอกาสกลับสู่การเรียนรู้ โดยสิ่งหนึ่งที่จะเป็นเครื่องมือหลักคือระบบข้อมูลที่ทุกกระทรวงต่างมีอยู่แล้ว เราต้องเชื่อมแมทช์กันให้ได้ เพื่อให้ทราบว่ามีเด็กที่ไม่ได้เรียนอยู่จำนวนเท่าไหร่ แล้วทุกกระทรวงต้องมีข้อมูลที่ตรงกัน วันนี้จึงเป็นการจุดประเด็นความร่วมมือที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ที่เครือข่ายภาคีทุกภาคส่วนจะมาช่วยกันมองหาแนวทางการทำงานเชิงรุกในการดูแลเด็กทั้งในและนอกระบบการศึกษา ที่ไม่ใช่เพียงพากลับมา แต่เราทุกฝ่ายจะช่วยกันส่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนพบเส้นทางเรียนรู้ที่เหมาะสม”
นายวัชรเดช เกียรติชานน ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงบทบาทท้องถิ่นกับการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือ เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านอย่างยั่งยืน เจาะลึกเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย รายได้ สุขภาวะ เป้าหมายสำคัญคือถ้าแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ได้ ก็จะลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจสังคมของประเทศในภาพรวมได้
ทั้งนี้การศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ผลักดัน Thailand Zero Dropout ผ่านคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดและศึกษาธิการจังหวัดเป็นแกนหลัก ไม่เพียงดูแลเด็กและเยาวชน แต่กระทรวงมหาดไทยยังมีภารกิจดูแลประชากรวัยแรงงานที่ไม่เคยผ่านการศึกษาในระบบด้วย เพื่อให้เข้าถึงช่องทางฝึกอบรมความรู้ทักษะอาชีพ สามารถพัฒนาตนเองและสร้างรายได้ยกระดับชีวิต
ส่วนเด็กเยาวชนในวัยการศึกษาภาคบังคับ ปัจจุบันมีโรงเรียนประมาณ 1,000 แห่ง ที่อยู่ในการสนับสนุนดูแลของท้องถิ่น เรามีคณะทำงานระดับอำเภอที่ลงไปสำรวจในทุกหมู่บ้านทุกชุมชนเป็นรายครัวเรือน เพราะฉะนั้นเราจะทราบปัญหาในทุกมิติ รวมถึงเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาก็จะอยู่ในข้อมูลที่สามารถเรียกดูได้ตลอดเวลา แล้วข้อมูลนี้จะถูกส่งให้ศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อหาทางแก้ไขร่วมกันทันที โดยหาทางให้เด็กเยาวชนที่ตกหล่นได้รับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และได้เข้าสู่การเรียนรู้โดยเร็วที่สุด
นางกนกวรรณ มาป้อง รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมี อสม. ที่สามารถเข้าไปช่วยทำงานด้านการศึกษาได้ในระดับครัวเรือน ซึ่งเป็นเครื่องมือการทำงานเชิงพื้นที่ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามต้องมีการกำหนดขอบเขตงานให้ชัดเจนและเข้าใจตรงกัน ส่วนเรื่องของการทำงานด้านข้อมูล อยากให้ทุกฝ่ายมองที่ความยั่งยืน เนื่องจากในวาระโอกาสนี้ หลายหน่วยงานที่เคยทำงานแยกส่วนสามารถนำข้อมูลมาชนกันจนเกิดเป็น Big Data ได้สำเร็จแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ควรช่วยกันคิดต่อคือจากนี้เราจะทำให้ความร่วมมือนี้ยั่งยืนต่อไปได้อย่างไรโดยไม่สิ้นสุดลงไปตามวาระนโยบาย โดยเรื่องสำคัญที่สุดคือเมื่อได้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาแล้ว เราจะช่วยกันออกแบบวิธีการใช้งานอย่างไร เพื่อเกิดประโยชน์ต่อการดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนมากที่สุด
ดร.พีรดล สามะศิริ ผู้จัดการโครงการและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอาวุโส สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงพลังของ Big Data ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนการทำงาน Thailand Zero Dropout อย่างยั่งยืนว่า นอกจากข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวมจากหลายกระทรวง ยังมีข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานเรื่องเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา คือข้อมูลเชิงพื้นที่ เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจครัวเรือนในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยชี้วัดว่าเด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบได้อย่างไร โดยเมื่อได้ข้อมูลขนาดใหญ่มาแล้ว ต้องมีการจัดการและเตรียมข้อมูลให้พร้อมใช้งาน เพื่อให้ทุกหน่วยงานใช้ประโยชน์ได้ทันท่วงที ทั้งในการวางแผนดูแลช่วยเหลือ ณ ปัจจุบัน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถนำไปวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
“เรามีข้อมูลทะเบียนราษฎร์ มีทะเบียนนักเรียนในสถานศึกษา เมื่อชนสองข้อมูลเข้าด้วยกันจะเห็นเด็กที่หลุดออกนอกระบบว่ามีจำนวนเท่าไหร่ หรืออยู่ตรงไหนบ้าง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่มาประกอบเพิ่มเติมเช่นข้อมูลเกี่ยวกับความจำเป็นพื้นฐาน ที่จะชี้เป้าว่าครัวเรือนใดจำเป็นเร่งด่วนต้องได้รับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ หรือความเสี่ยงด้านต่าง ๆ โดยในส่วนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีการทำระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานทราบว่าต่างฝ่ายถือข้อมูลใดอยู่บ้าง เพื่อการประสานงานเชื่อมต่อกัน โดยผลักดันให้การดูแลเด็กหลุดจากระบบดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม และยั่งยืน ทั้งนี้ข้อมูลที่บูรณาการมิติต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จะช่วยแสดงสถานะเด็กและครัวเรือนในมิติต่าง ๆ ซึ่งชี้เป้าได้ว่ามีเด็กเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบอยู่เท่าไหร่ และการเข้าไปดูแลช่วยเหลือก็จะสามารถทำได้ทันการณ์ก่อนเด็กหลุด เหล่านี้คือตัวอย่างว่าถ้าเราทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกันทุกหน่วยงานได้ มันจะช่วยแก้ไขปัญหาเด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาได้อย่างไร”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวถึงโจทย์การทำงาน Thailand Zero Dropout โดยนำเสนอภาพการทำงานผ่านร่าง Roadmap ว่า การทำงานติดตามค้นหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา แยกได้เป็นกลุ่มเด็กตกหล่นที่ยังไม่เคยเข้าสู่ระบบการศึกษา คือเด็กปฐมวัยที่ไม่ได้เข้าเรียนชั้นอนุบาลหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเด็กช่วงวัยชั้นประถมศึกษาตอนต้นที่เข้าเรียนช้า ซึ่งการจะทราบตัวตนของเด็กกลุ่มนี้ได้คือดูจากทะเบียนราษฎร์ และการจะติดตามเด็กกลุ่มนี้ จำเป็นต้องใช้การทำงานร่วมกันมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน
อีกกลุ่มหนึ่งคือเด็กที่เคยเข้าเรียนแล้วหลุดจากระบบมา ซึ่งหน่วยงานด้านการศึกษาจะสามารถใช้ตัวเลข 13 หลักช่วยตามเด็กกลับมาได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเด็กเสี่ยงหลุด คืออยู่ในระบบการศึกษาแต่มีภาวะความพิการหรือความยากจนด้อยโอกาสซึ่งพร้อมจะหลุดจากระบบได้ตลอดเวลา กลุ่มนี้กระทรวงศึกษาธิการได้มีนวัตกรรมการศึกษา 3 ระบบ จัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นเหมาะสมเป็นรายกรณีเพื่อให้เด็กไม่หลุดจากต้นทาง ส่วนในเด็กกลุ่มเสี่ยงจากปัญหาความยากจนด้อยโอกาส มีกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการคัดกรองความยากจนและยากจนพิเศษประมาณ 2 ล้านกว่าคน ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ สามารถใช้เป็นข้อมูลบ่งชี้เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา
“ในช่วงรอยต่อการศึกษาภาคบังคับแต่ละปีมีเด็กราว 33,500 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ที่เราไม่พบตัวตนเมื่อเปลี่ยนผ่านสู่ชั้น ม.4 หรือ ปวช.1 ฉะนั้นเมื่อมีการตามเด็กกลับมาได้ นอกเหนือจากความพยายามหาโรงเรียนให้เด็ก เราต้องมีการออกแบบเส้นทางการศึกษาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น พัฒนาทักษะอาชีพ หรือจัดการศึกษาที่เด็กสามารถเรียนและทำงานไปพร้อมกัน และรอยต่ออีกช่วงหนึ่งคือหลังจบ ม.6 หรือ ปวช.3 ที่มีเด็กเยาวชนหลุดไปอีกราวแสนกว่าคน ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องมีการเตรียมเส้นทางรองรับ เพื่อการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลให้ได้มากที่สุดในการทำงานระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ลงไปถึงสถานศึกษา เพื่อค้นหาและพาเด็กเยาวชนกลับสู่เส้นทางการศึกษาและพัฒนาตามบริบทของแต่ละคนต่อไป”
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่าในเส้นทางการติดตามค้นหาและนำเด็กสู่เส้นทางพัฒนาตนเอง อาสาสมัครการศึกษาจะลงสำรวจพื้นที่ชุมชนค้นหาจนพบตัวเด็ก จากนั้นคณะทำงานจะบูรณาการเชื่อมโยงไปถึงโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก่อนรายงานข้อมูลจากระดับตำบลไปที่ระดับอำเภอจนถึงระดับจังหวัด สำหรับเด็กเยาวชนที่มีความจำเป็นไม่สามารถกลับไปเรียนในโรงเรียนได้ ก็จะมีการประสานการทำงานเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาช่องทางไปสู่การมีงานทำ เพราะเป้าหมายของ Thailand Zero Dropout ไม่ได้หมายถึงการนำเด็กทุกคนเข้าสู่ห้องเรียน แต่การเรียนรู้นั้นต้องมีทางเลือก สอดรับกับชีวิตและความจำเป็นต่าง ๆ เป็นการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อการมีงานทำ หรือเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ผ่านมาจึงมีการคิดค้นพัฒนาแนวทางต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น โรงเรียนมือถือ โรงเรียน 3 ระบบ หน่วยจัดการเรียนรู้นอกโรงเรียน รวมถึงกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based Education) ที่เป็นอีกหนึ่งแนวทางการทำงาน เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นค้นพบนวัตกรรมการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบท และช่วยสร้างโอกาสและทางเลือกให้เด็กเยาวชนยังคงอยู่ในการพัฒนาตัวเองได้ต่อไป