กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา’ พร้อมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อประกอบอาชีพตามความถนัด มีศักยภาพ สามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิต รวมถึงพัฒนาการจัดการศึกษาทางเลือกและการเรียนรู้สู่วิชาชีพ ให้แก่เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม โดยมีแนวทางพัฒนาการศึกษาครอบคลุม 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาและจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการศึกษา 2.การพัฒนารูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเยาวชน 3.การพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้สนับสนุนและบริหารการจัดการศึกษา 4.การพัฒนากลไกเพื่อโอบอุ้มคุ้มครอง และสร้างความเข้มแข็งโดยเชื่อมโยงชุมชนและภาคส่วนเข้าด้วยกัน
พันตำรวจโทวรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ขอบคุณความร่วมมือกับ กสศ. ที่ทำให้เกิดแนวคิดที่ดีและมีคุณค่า ในการให้การศึกษากับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งนับเป็นสิ่งดีเกิดขึ้นในสังคม โดย ‘หัวใจ’ หรือวัตถุประสงค์ของพิธีลงนามครั้งนี้ คือ ‘โอกาส’ ที่จะส่งมอบไปถึงเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวนมาก งานที่ปฏิบัติร่วมกันมาในระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เรามองเห็นภาพความสำเร็จ และแววตาของคนทำงานซึ่งถ่ายทอดความสุข ความตั้งใจ อันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ และแนวทางความคิดใหม่ ๆ ที่จะขยายการทำงานให้กว้างออกไปยิ่งขึ้นโดยส่วนหนึ่งของการเดินทางมาถึงวันนี้ จำเป็นต้องกล่าวขอบคุณ ‘นครพนมโมเดล’ ที่ทำให้เห็นว่าเราสามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร และเป็นต้นทางให้มีการทำงานในพื้นที่อื่นตามมา เช่นวันนี้ที่เรามี ‘อุบลราชธานีโมเดล’ และจะมีจังหวัดอื่น ๆ ต่อเนื่องไปจนทั่วทุกภูมิภาค
ทั้งนี้ แม้แต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างด้วยบริบท แต่ด้วยความคาดหวัง วัตถุประสงค์ จุดมุ่งหมาย และความตั้งใจของคนทำงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อว่างานจะเดินหน้าไปได้โดยไม่หลุดเป้าหมาย และมีการคำนึงถึงรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้โมเดลของแต่ละพื้นที่มีองค์ประกอบที่ลงตัวมากขึ้น สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของกรมพินิจ ฯ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจากนี้ จำเป็นต้องใช้ความอดทนพยายามเป็นเครื่องมือพิสูจน์ ขณะที่ผลที่ได้กลับมาจะปรากฏในไม่ช้า และจะยั่งยืนแข็งแร็งต่อเนื่องอีกยาวนาน ควบคู่ไปกับการทำงานของกรมพินิจ ฯ อย่างไรก็ตาม องค์กรเองไม่สามารถจะเดินหน้าต่อไปได้เพียงลำพัง หากจำเป็นต้องได้รับโอกาส ความร่วมมือ ทรัพยากรจากสังคม เพื่อพัฒนาระบบ โดยเพื่อนร่วมทางที่มีแนวคิด ทัศนคติ และอุดมการณ์ตรงกัน
“ในเชิงปริมาณ เยาวชนกลุ่มนี้อาจนับว่าเป็นเพียงกลุ่มน้อยในสังคม แต่เมื่ออ้างอิง ‘ทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก’ (Butterfly Effect) แล้ว คนเพียงคนหนึ่งนั้นสามารถสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ให้กับสังคมได้ ถ้าเขาไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่เพียงพอ ดังนั้น เราจะไม่ยอมทิ้งใครไว้แม้แต่คนเดียว เด็กเยาวชนทุกคนไม่ว่าใครก็ตาม เขาควรได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพื่อไปให้ถึงสุดเส้นทางตามศักยภาพที่เขาพึงมี การลงนามความร่วมมือวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการศึกษาที่หลากหลาย ซึ่ง MOU จะช่วยกำหนดเป้าหมายและทิศทางการทำงาน ซึ่งจะสอดคล้องต้องกันตามจุดประสงค์ของทุกฝ่าย ขอขอบคุณคณะทำงานทุกท่าน และทุกหน่วยงานที่มีความเชื่อร่วมกัน และมีส่วนร่วมในการทำงานมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้ เราจะเดินกอดคอล้มลุกคลุกคลานไปด้วยกัน และขอให้ก้าวเดินของวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราจะก้าวต่อไป”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ. มีความยินดีอย่างยิ่งสำหรับโอกาสในการร่วมมือกับกรมพินิจ ฯ ด้วยพันธกิจองค์กรที่ได้รับตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานขนาดเล็ก และมีหน้าที่เชื่อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งความร่วมมือในวันนี้ กสศ. จะเชื่อมโยงการทำงานต่อไปยังกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลอีกเป็นจำนวนมาก โดย กสศ. เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กคนหนึ่ง จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในสังคม และในอนาคตอย่างไม่สิ้นสุด
“ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเยาวชนนอกระบบราว 4 แสนกว่าคน มีเด็ก 1.9 ล้านคนเป็นกลุ่มเสี่ยงจากความยากจนด้อยโอกาส และมีเด็กเยาวชนผู้พิการอีกราว 2 แสนกว่าคนในระบบการศึกษา กสศ. มีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด โดยจากการสำรวจร่วมกับเครือข่ายทำงานมากกว่า 74 จังหวัด และอีก 66 เครือข่ายภาคประชาสังคมทั่วประเทศทั่วประเทศ ค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา พบว่า จากเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งหมด ที่สำรวจจำนวน 36,268 คน มีเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 3,443 คน ตัวเลขนี้สะท้อนสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งถึงเส้นทางชีวิตของเด็กที่หลุดออกจากระบบ ไม่เพียงอยู่ในวงจรความยากจนข้ามชั่วคน แต่ยังอยู่ในวงจรการกระทำความผิดอีก” ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมา ในปี 2562-2564 กสศ. และ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้ร่วมกันดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา และโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชุมเป็นฐาน โดยสนับสนุนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อจัดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม พื้นที่ดำเนินงานประกอบด้วย ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน 9 แห่ง สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 18 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาค สิ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นคือ แนวคิดและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในศูนย์ฝึกฯ และสถานพินิจฯ ที่เน้นให้เด็กและเยาวชนที่ถูกคุมขังได้รับการศึกษาตามสิทธิขั้นพื้นฐานและได้รับโอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยศูนย์ฝึกฯ และสถานพินิจฯ ได้ยกระดับจากสถานควบคุมเป็นสถานศึกษา สามารถจัดการเรียนรู้และพัฒนา ทักษะอาชีพที่ตอบสนองความต้องการและความสนใจของเด็กและเยาวชน ทำให้ได้รับวุฒิการศึกษา และ สามารถนำไปใช้ต่อยอดในชีวิต รวมทั้งได้ดำเนินงานร่วมกับชุมชนในการโอบอุ้มคุ้มครองเด็กและเยาวชน บางส่วนหลังได้รับการปล่อยตัวให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขร่วมกับชุมชน
“พื้นที่นำร่องที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น จ.นครพนม สนับสนุนให้ศูนย์การเรียนซีวายเอฟ ภาคีสำคัญของงานนี้ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียน ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เข้าไปจัดการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นให้กับเด็กและเยาวชนที่จังหวัดนครพนมเป็นแห่งแรก และสามารถขยายผลมาที่ศูนย์ฝึกฯ เขต 5 อุบลราชธานี เชื่อว่าโอกาสที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่จะทำให้เด็กเยาวชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวดีขึ้น แต่สังคมไทยจะได้รับทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งจะมาช่วยสร้างประเทศให้มีอนาคตที่สดใส เช่นเดียวกับอนาคตของเยาวชนทุกคน สุดท้ายขอกล่าวถึงประสบการณ์การลงพื้นที่ ที่เราได้ฟังคำกล่าวของน้อง ๆ ที่เชื่อมั่นว่า ‘เขาจะทำได้ดีกว่านี้ถ้าได้รับโอกาส’ ที่สะท้อนคำพูดผ่านออกมาทางแววตา ซึ่งไม่ได้มีความหมายถึงแค่ตัวเอง แต่โอกาสนั้นคือการคืนชีวิตของเขาไปสู่ครอบครัว ไปสู่อนาคตของสังคมไทยเช่นกัน” ดร.ไกรยส กล่าว
ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า บทบาทของกสศ. มุ่งเหนี่ยวนำความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดเป้าหมาย และพัฒนานโยบายลดความเหลี่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมุ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสมากที่สุด เด็ก เยาวชนที่อยู่ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนและสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เพราะเราจะไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง ทั้งนี้การเรียนการสอนสำหรับเด็ก เยาวชนกลุ่มนี้ย่อมต้องมีความยืดหยุ่นและกว้างไปกว่าในรั้วโรงเรียน โดยส่งเสริมให้เกิดพื้นที่การศึกษาทางเลือก หลักสูตรการจัดการเรียนรู้ที่มีความเหมาะสมและยืดหยุ่นสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้มีโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพตามศักยภาพควบคู่กัน ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และหวังว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเด็กเยาวชนและสังคมไทยอย่างยั่งยืน