TSQM-N เปิดเวทีพัฒนา VASK เพื่อยกระดับผลการเรียนรู้ของเด็กไทยด้วยเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง

TSQM-N เปิดเวทีพัฒนา VASK เพื่อยกระดับผลการเรียนรู้ของเด็กไทยด้วยเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง

เมื่อวันที่ 2-3 เมษายน 2568 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้หัวข้อ “TSQM-N สู่การพัฒนา VASK” ณ โรงแรมทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ เพื่อสรุปบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาเครือข่ายโรงเรียน TSQM-N และวางแนวทางการพัฒนาในระยะต่อไป เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อสารให้สาธารณชนและสังคมเข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาครูและโรงเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กไทยอย่างยั่งยืน งานนี้มีผู้เข้าร่วมจากเครือข่ายโรงเรียนจำนวน 26 กลุ่ม ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ รวมกว่า 200 คน

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “VASK กับอนาคตของโรงเรียนไทย: ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” โดยเน้นถึงการขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Movement – Network หรือ TSQM-N) ซึ่งเป็นการขยายโครงการสู่ขบวนการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา (School / Education Systems Transformation) โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นหัวใจหลัก กระบวนการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในรูปแบบ Bottom-up Education Systems Transformation ที่เริ่มต้นจากครูและโรงเรียน พร้อมมีทีมโค้ชจาก กสศ. ช่วยสนับสนุนให้โรงเรียนมีการพัฒนากระบวนการที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จ และสร้างคุณภาพโรงเรียน รวมทั้งเสริมสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงและสนับสนุนกันจนเกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

ศ.นพ. วิจารณ์ กล่าวถึงผลของกิจกรรมที่ได้สร้างการเติบโตให้กับเด็ก โดยไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อนักเรียน แต่ยังขยายไปถึงผู้อำนวยการโรงเรียนและครูด้วย กิจกรรมนี้มุ่งเป้าที่จะพัฒนานักเรียนให้ครบทั้ง 4 องค์ประกอบของ VASK คือ V (Values) = ค่านิยม, A (Attitude) = เจตคติ, S (Skills) = ทักษะ และ  K (Knowledge) = ความรู้ ซึ่งเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เน้นการผสานองค์ประกอบทั้งสี่ให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะ (S) และความรู้ (K) ที่ต้องสามารถทำได้ มีการริเริ่มสร้างสรรค์ ส่วนค่านิยม (V) และเจตคติ (A) มุ่งเน้นการทำสิ่งที่ถูกต้องและมีคุณธรรม จริยธรรม พร้อมพัฒนาทักษะทั้งในด้าน Hard Skills สำหรับการประกอบอาชีพ และ Soft Skills สำหรับการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและสังคม รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับตนเอง

“เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 คือการพัฒนานักเรียนให้สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในสังคมและเทคโนโลยี โดยการพัฒนาทักษะไม่เพียงแต่เน้นความรู้เท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงทักษะ ความสามารถ และทัศนคติ เพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้” ศ.นพ. วิจารณ์กล่าว

ศ.นพ. วิจารณ์ ยังอ้างอิงถึง World Economic Forum ที่ระบุว่า ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้ (Life Long Learning) ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะชีวิต ที่เน้นการเข้าใจตนเอง การปรับตัว และการเข้าใจผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญต่อการบริหารความสัมพันธ์และการตัดสินใจในชีวิต

นอกจากนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ยังได้กำหนดเป้าหมายการศึกษาถึงปี 2030 เพื่อการพัฒนา VASK ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้ยกระดับไปสู่การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงและสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ไม่ใช่เพียงแค่การเรียนรู้ความรู้ (Declarative Learning) แต่ต้องสามารถทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติและเกิดจากประสบการณ์จริง

ศ.นพ. วิจารณ์ยังได้เน้นถึงความสำคัญของการเรียนการสอนที่จะต้องไม่เป็นแบบ Passive Learning ซึ่งผู้เรียนเพียงแค่รับฟังจากผู้สอนเท่านั้น แต่ต้องเปลี่ยนบทบาทของครูจากผู้สอนเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างสรรค์และกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้และสร้างความรู้ขึ้นในตนเองด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ

“เมื่อทักษะเหล่านี้เป็นเรื่องที่บอกสอนไม่ได้ บทบาทสำคัญจึงอยู่ที่ครู ซึ่งจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอน เป็นผู้จัดกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างสรรค์ เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหาวิชา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ สร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเอง ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงผ่านสื่อหรือกิจกรรมการเรียนรู้ ครูเป็นผู้แนะนำ กระตุ้น หรืออำนวยความสะดวก ให้ผู้เรียนเกิด การสะท้อนคิดไปสู่ ตัว V ตัว A ตัว  S ตัว K หัวใจสำคัญของการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้งอกงามอยู่ที่การจับหลักการตรงนี้ให้อยู่ ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ยากและทำให้การเรียนการสอนเป็นเรื่องที่สนุกและช่วยให้ผู้เรียนนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ศ.นพ. วิจารณ์กล่าว

ศ.นพ. วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนา VASK สามารถดำเนินไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning) โดยการสะท้อนคิดจากประสบการณ์จนกว่าจะเกิดระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ ที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเด็กให้มีทักษะที่สำคัญในอนาคต เช่น ทักษะการปรับตัว, ทักษะทางสังคม, และทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจและการกระทำที่ช่วยให้เด็กสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนได้

นอกจากนี้ ครูจะนำความรู้และแนวทางที่ได้ไปใช้ในการพัฒนากระบวนการ PLC (Professional Learning Community) หรือชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของผู้เรียน ผ่านเครือข่ายตามเจตนารมย์ของการขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเองจนบรรลุผลสำเร็จในที่สุด

ดร.อุดม วงษ์สิงห์

ด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “ก้าวต่อไป: พลิกโฉมการศึกษาไทยด้วยพลังเครือข่าย” โดยระบุว่า ข้อดีของการทำงานพัฒนาการศึกษาในเชิงเครือข่าย คือการสร้างโอกาสและความร่วมมือกับครูและบุคลากรทางการศึกษาในแนวระนาบ ซึ่งส่งผลให้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดร.อุดม กล่าวว่า กสศ. ได้พยายามขับเคลื่อนการศึกษาในส่วนของอักษร V (ค่านิยม) และ N (เครือข่าย) มาอย่างต่อเนื่อง โดยหลักการศึกษายุคใหม่ของ VASK คือการตีความแต่ละตัวอักษรว่าหมายถึงอะไร และทำอย่างไรให้เด็กเกิดทักษะการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นโจทย์สำคัญของครูในการประเมินผู้เรียนในยุคปัจจุบัน TSQP มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นการสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ใน 4 ด้าน ได้แก่ Values (ค่านิยม), Attitude (ทัศนคติ), Skills (ทักษะ), และ Knowledge (ความรู้)

เมื่อเปลี่ยนมาสู่ TSQM, อักษร M หมายถึง Movement หรือการเคลื่อนไหว เพื่อทำงานแบบเครือข่าย TSQM-N ที่ทำงานแบบบูรณาการกับนโยบายต่าง ๆ เช่น การระดมทรัพยากรจากหลายฝ่าย ทั้ง Core Team, ทีม PM, หน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งต้นสังกัดส่วนกลางและพื้นที่ของโรงเรียน, การสร้างนวัตกรรม และเครื่องมือในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

“การขยับจาก TSQP มาสู่ TSQM-N ยังคงมีเป้าหมายสำคัญที่มุ่งไปที่ตัวผู้เรียน และผลการเรียนรู้ของเด็ก โดยในปัจจุบันแนวคิดนี้กระจายไปทั่วทุกภาค โดยมี 26 เครือข่ายใน 38 จังหวัด และมีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งหมด 330 แห่ง ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการเพิ่มจำนวนโรงเรียนทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ เพื่อเสริมพลังให้กับการทำงานและขับเคลื่อนให้มั่นคงมากขึ้น โดยใช้กระบวนการทำงานแบบ Bottom-up ซึ่งเป็นความท้าทายที่เครือข่าย TSQM-N ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งระบบ” ดร.อุดมกล่าว

ดร.อุดมกล่าวต่อไปว่า จุดเด่นสำคัญของแนวคิดนี้คือ โรงเรียนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนยังช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา และลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งประสบความสำเร็จแล้วในกว่า 700 โรงเรียน ปัจจุบัน TSQM ยังคงขยายผลไปสู่การขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่และจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ สอดคล้องกับนโยบาย Thailand Zero Dropout ที่มุ่งเน้นการลดการหลุดจากระบบการศึกษา

การุณ ชาญวิชานนท์

นายการุณ ชาญวิชานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโกรกลึก จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า แนวทางการบริหารการจัดการเครือข่ายเพื่อสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ยั่งยืนของเด็กเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า “เด็กที่เรียนจบไปจากโรงเรียน จะสามารถเอาตัวรอดได้หรือไม่?” และ “สิ่งที่เรียนรู้จากโรงเรียนจะนำไปใช้ในชีวิตจริงได้หรือไม่?” ซึ่งพบว่า เด็กมีทักษะในการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์อยู่ในเกณฑ์ที่อ่อนมาก

จากนั้น จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง เพื่อพัฒนาผลลัพธ์ที่เด็กสามารถฝึกฝนทักษะการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ได้ดีขึ้น แนวทางนี้ได้ช่วยสร้างเครือข่ายพลังขับเคลื่อนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากตัวครูเอง และส่งผลให้เกิดเป็นนิเวศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนครูต่างโรงเรียน

“ข้อจำกัดทางการศึกษาในบริบทของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน การที่เด็กมาเรียน แต่ไม่รู้ว่าจะนำสิ่งที่เรียนไปใช้ประโยชน์อะไร หรือเรียนจบประถมศึกษาแล้วไปต่อชั้นมัธยมศึกษา โดยอาจจะถูกกระแสบางอย่างพัดหลุดไปจากระบบการศึกษาอย่างง่ายดาย เป็นภาพสะท้อนว่า เรายังไม่สามารถทำให้เด็กมีทักษะที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการเอาตัวรอดในสังคมได้ จึงต้องกลับไปเริ่มต้นแก้ปัญหานี้ตั้งแต่ในห้องเรียน โดยนอกจากจัดการศึกษาด้วยหลักสูตรการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ผ่านกระบวนการที่มีความหลากหลายเพื่อให้ตอบโจทย์ชีวิตเด็กแล้ว การทำให้เด็กคุ้นเคยกับสถานการณ์จริงในสังคมทั้งบวกและลบเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะทักษะนี้ ถือเป็นการเพิ่มเติมส่งเสริมใบเบิกทาง ให้เด็กสามารถเติบโต และก้าวผ่านทุกสถานการณ์ในชีวิตไปได้อย่างมั่นคง” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโกรกลึกกล่าว