ยูเนสโกและยูนิเซฟ ชื่นชมนโยบาย Thailand Zero Dropout
คือจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของไทย เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG 4

ยูเนสโกและยูนิเซฟ ชื่นชมนโยบาย Thailand Zero Dropout คือจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของไทย เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG 4

ตามที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ 10 หน่วยงานของรัฐเปิดตัว “นโยบาย Thailand Zero Dropout” โดยมีเป้าหมายที่จะค้นหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา 1.02 ล้านคน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใน 5 ปี

ซูฮยอน คิม (Soohyun Kim) ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก ส่วนภูมิภาค และ คยองซอน คิม (Gyeongseong Kim) ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างสอดคล้องกันว่า การขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนให้กลับเข้าสู่การศึกษาหรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพตาม “นโยบาย Thailand Zero Dropout” เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)

ซูฮยอน คิม

ซูฮยอน คิม (Soohyun Kim) ผู้อำนวยการสำนักงานกรุงเทพฯ ขององค์การยูเนสโกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้แทนองค์การยูเนสโกประจำประเทศไทย สปป.ลาว เมียนมา และสิงคโปร์ (Director of the UNESCO Regional Office in Bangkok and Representative to Thailand, Myanmar, Lao PDR and Singapore) กล่าวว่า นโยบาย Thailand Zero Dropout  แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของประเทศไทยในการสร้างการศึกษาที่เท่าเทียมและครอบคลุมเด็กและเยาวชนทุกกลุ่ม โดยมุ่งหวังว่าทุกคนจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตและไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เป็นเป้าหมายที่ทันต่อเหตุการณ์ และได้รับการยอมรับจากยูเนสโกภายใต้ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 4” (SDG 4) เกี่ยวกับการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกัน และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน

ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังได้มองเห็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ที่ร่วมกันบูรณาการข้อมูลเพื่อระบุรายชื่อเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้อย่างครบถ้วนว่าเป็นระบบการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิผล

“ยูเนสโกมีสถิติของเด็กซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง เราพบว่ามีเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียนเพิ่มขึ้นทั่วโลก ปัญหานี้เป็นปัญหาร้ายแรง โดยเฉพาะกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการศึกษาล่าสุดของยูเนสโกและ OECD พบว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลกจากการออกจากโรงเรียนกลางคันและช่องว่างทางการศึกษาอาจสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 ขณะที่การลดจำนวนเด็กที่ออกจากโรงเรียนก่อนกำหนดและเด็กที่ขาดทักษะพื้นฐานเพียง 10% จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ประจำปีได้ 1 ถึง 2 %

“ประเทศไทยควรนำเสนอช่องทางการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีโปรแกรมการศึกษาทางเลือกและรูปแบบการเรียนรู้ที่ปรับให้เหมาะกับเด็ก ๆ กลุ่มนี้ ซึ่งมีความเร็วในการเรียนรู้และสถานการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน การเรียนรู้แบบแยกตามโจทย์ชีวิต วุฒิการศึกษาขั้นต่ำ และการฝึกอาชีพที่สามารถให้ทางเลือกการเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับนักเรียนที่อาจประสบปัญหาการเรียนในระบบโรงเรียนแบบดั้งเดิม ใช้เทคโนโลยีและการเรียนรู้แบบผสมผสานจะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมได้ มีเนื้อหาดิจิทัลที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะ จะสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและศึกษาต่อได้ บทบาทของผู้นำท้องถิ่นและการระดมทรัพยากรร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน จะช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนของโครงการ Thailand Zero Dropout” ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

คยองซอน คิม

ด้าน คยองซอน คิม (Gyeongseong Kim) ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Representative for Thailand) กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ว่า นโยบายลดจำนวนเด็กออกจากระบบการศึกษา Thailand Zero Dropout  จะช่วยนำเด็กที่มีความเสี่ยงกลับเข้าสู่ระบบได้ และถือเป็นโอกาสสำคัญในการแก้ไขอุปสรรคในระบบการศึกษาได้อย่างทันท่วงที

“การออกจากโรงเรียนกลางคันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและแฝงอยู่ภายใต้ปัจจัยต่าง ๆ มากมาย เช่น ผลพวกจากการระบาดของโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จากการสำรวจคลัสเตอร์ตัวชี้วัดหลายประการ (MICS) ของ UNICEF ซึ่งดำเนินการร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยืนยันว่าอัตราการเข้าเรียนลดลงตั้งแต่ปี 2563 โดยเฉพาะเด็ก ๆ จากครอบครัวยากจน และสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเด็ก ๆ จำนวนมากออกจากโรงเรียนในช่วงการศึกษาภาคบังคับ เพราะขาดต้นทุนในการเรียนซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับครัวเรือนยากจน เช่น ค่าโรงเรียน ค่าเดินทาง ค่าเครื่องแบบ และค่าอาหาร จำนวนเด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยซึ่งสูงอยู่แล้วสูงขึ้นไปอีก และยังทำให้ขาดแคลนทุนมนุษย์ที่จำเป็นยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วย”

ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวอีกว่า นโยบาย Thailand Zero Dropout ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเยี่ยมในการนำเด็ก ๆ เหล่านี้กลับคืนสู่ระบบการศึกษา การเรียนรู้ เพราะเป็นนโยบายที่ครอบคลุมองค์ประกอบหลายด้าน เช่น กลไกสนับสนุนแบบรายบุคคล หลักสูตรการเรียนระยะสั้น การให้คำปรึกษาและคำแนะนำควบคู่ไปกับการติดตามเด็ก ๆ โดยใช้ข้อมูลเป็นหลัก การส่งเสริมแนวทางแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการศึกษา สังคม และเศรษฐกิจของเด็ก ให้พวกเขากลับเข้าสู่การศึกษาหรือการทำงาน

“การบรรลุเป้าหมายนี้และการเตรียมพร้อมป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกครั้งถือเป็นสิ่งสำคัญ หากเราต้องการบรรลุเป้าหมาย SDG 4 ด้านการศึกษาของประเทศไทย สามารถเรียนรู้จากประเทศอื่น ๆ ที่ดำเนินกลไกนี้ได้สำเร็จมาแล้ว เช่น ในสหรัฐอเมริกา ลิทัวเนีย สหราชอาณาจักร โคโซโว และมาเลเซีย ประเทศต่าง ๆ นี้ได้เปิดตัว ‘ระบบเตือนภัยล่วงหน้า’ (Early Warning System) เพื่อติดตามการเข้าเรียน พฤติกรรม และผลการเรียนในฐานะตัวบ่งชี้การลาออกที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นจึงใช้ข้อมูลนี้ในการสนับสนุนที่ปรับแต่งให้เหมาะกับนักเรียน และลดอัตราการลาออก สร้างทางเลือกการศึกษาที่ยืดหยุ่น มอบความรู้และทักษะผ่านประสบการณ์การทำงาน ความรับผิดชอบในครัวเรือน การฝึกอบรมที่ไม่เป็นทางการ งานอดิเรก การทำงานอาสาสมัคร และความรู้บนอินเทอร์เน็ต

“การทำให้เด็กกว่า 1 ล้านคน ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง หรือการทำงานที่ก้าวเข้าสู่ทางเลือกการศึกษาที่ยืดหยุ่น ถือเป็นก้าวสำคัญของการศึกษาไทยในการสร้างระบบการศึกษาที่รับรองได้ว่าไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้อย่างแท้จริง” ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว