เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการของการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการของการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเพิ่มอีกร้อยละ 5 เป็นอัตราละ 21 บาท/คน/วัน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
สำหรับโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีจำนวนโรงเรียน 49,861 โรงเรียน และจำนวนนักเรียน 5,894,420 คน งบประมาณทั้งสิ้น 25,436,304,000 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งอุดหนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 23,561,921,200 ล้านบาท และจัดสรรให้สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับนักเรียนเอกชนอีก 1,874,382,800 บาท
นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าอาหารกลางวันของนักเรียนครั้งนี้ปรับเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 5 เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่าย และค่าวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่มีราคาสูงขึ้น และคำนึงถึงปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการในการประกอบอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนอัตราใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ และจะทันต่อการเปิดเทอมครั้งที่ 2 ในปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ด้วย
ทั้งนี้ ตามมติครม.เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นค่าอาหารกลางวัน ปรับมาใช้ในอัตราดังกล่าวด้วยเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนดังกล่าว มีค่าบริหารจัดการในการประกอบอาหารในสัดส่วนที่เพียงพอที่หน่วยงานจะสามารถบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนให้มีคุณภาพ มีความคุ้มค่า และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โดยแต่ละหน่วยงานสามารถบริหารจัดการได้ตามความเหมาะสมสอดคล้องกับขนาดโรงเรียนและจำนวนนักเรียนในขั้นตอนการบริหารงบประมาณ
การขอปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนในครั้งนี้ จะมีผลต่อภาระงบประมาณรายจ่ายประจำเพิ่มสูงขึ้น และสัดส่วนเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีความคุ้มค่า โดยคำนึงถึงความเสมอภาคตามความจำเป็นของกลุ่มเป้าหมายในทุกสังกัด และความซ้ำซ้อนกับการจัดสวัสดิการของรัฐในกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการใช้จ่ายให้ครอบคลุมจากทุกแหล่งเงิน
อาทิ ดอกผลของเงินกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา การสนับสนุนจากกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา และรายได้/เงินสะสม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาสมทบค่าอาหารกลางวันในส่วนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการกำหนดแนวทางให้ชัดเจนในทุกขั้นตอนสำหรับการบริหารโครงการอาหารกลางวันให้มีคุณภาพทางโภชนาการ มีความปลอดภัย มีการวางแผนการผลิตทางการเกษตร เพื่อใช้ในทุกหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ตลอดจนให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในทุกมิติสำหรับการสนับสนุนโครงการดังกล่าวด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งงบประมาณ พิจารณาปรับเพิ่มการเสนอขอจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำหรับโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน ให้แก่นักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนโรงเรียน 51,637 โรงเรียน จำนวนนักเรียน 6,147,469 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2563) ค่าอาหารกลางวันที่เสนอเพิ่มขึ้นตามจำนวน และขนาดโรงเรียน จำนวน 200 วัน
สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สถ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา และจำนวน 252 วัน
สำหรับโรงเรียนในสังกัด สถ. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเมืองพัทยา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เนื่องจากราคาวัตถุดิบและต้นทุนที่ใช้ในการประกอบอาหารมีราคาสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราค่าอาหารกลางวันที่รัฐบาลสนับสนุนอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งการประกอบอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนจะต้องคำนึงถึงปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการเป็นสำคัญ