ส่องกลยุทธ์รัฐบาลอังกฤษ ช่วยฟื้นความรู้เด็กที่หายไปช่วงปิดโรงเรียนเพราะโควิด-19

ส่องกลยุทธ์รัฐบาลอังกฤษ ช่วยฟื้นความรู้เด็กที่หายไปช่วงปิดโรงเรียนเพราะโควิด-19

แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

การเผชิญหน้ากับการระบาดอย่างหนักของไวรัสโคโรน่า ในประเทศสหราชอาณาจักรกว่าช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็กนักเรียนทั่วประเทศอย่างมาก ดังนั้น ในปี 2021 ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี บวกกับความหวังเรื่องวัคซีน ทำให้รัฐบาลอังกฤษได้จัดงบพิเศษมูลค่ารวม 720 ล้านปอนด์ (ราว 30,395 ล้านบาท) โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเด็กนักเรียนให้เรียนตามทันกัน

งานนี้สถานีโทรทัศน์ บีบีซีของอังกฤษจึงได้รวบรวมมาตรการบางส่วนที่มีการเตรียมการไว้เพื่อช่วยเหลือเรื่องการเรียนที่ขาดหายไปของเด็กนักเรียน โดยประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ดังนี้ คือ

 

1. Summer schools

หมายถึงการจัดห้องเรียนพิเศษในช่วงฤดูร้อนสำหรับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่จะผ่านขึ้นไปเรียนในเกรด 7 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1) ซึ่งการเรียนจะแบ่งออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปแต่ไม่เกิน 10 คน ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากครูที่ได้รับการคัดเลือกมากเป็นอย่างดี โดยนอกจากการเรียนทางด้านวิชาการแล้ว เด็กจะได้เข้าร่วมกิจกรรมกลางแจ้งเพิ่มเสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกายและสภาพจิตใจอารมณ์ของเด็ก

อย่างไรก็ตาม Education Endowment Foundation (EEF) องค์การการกุศลด้านทุนการศึกษาในอังกฤษ ท้วงว่า มีความเป็นไปได้ที่เด็กด้อยโอกาส ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับโรงเรียนฤดูร้อนจะลงทะเบียนเรียนน้อยกว่าเด็กทั่วไป ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหามาตรการจูงใจอื่นๆ ให้เด็กและครอบครัวผู้มีรายได้น้อยเห็นความสำคัญหรือต้องการมาเรียน

มีรายงานว่า ในอังกฤษจัดงบเพื่อทำโครงการนี้แล้ว 1,700 ล้านปอนด์ ขณะที่ สก็อตแลนด์ให้คำมั่นที่จะจัดสรรทุนช่วยเด็กด้อยโอกาสที่ 127 ล้านปอนด์ ส่วนไอร์แลนด์เหนือและเวลส์ ตั้งงบไว้ที่กว่าสิบล้านปอนด์

 

2. Weekly tutoring sessions

คาบติวพิเศษตัวต่อตัวประจำสัปดาห์ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยพื้นฟูให้เด็กนักเรียนมีความคืบหน้าในด้านวิชาการภายใน 3-6 เดือน โดยในงานวิจัย 4 ชิ้นเมื่อไม่นานมานี้พบว่า เด็กที่เข้าเรียนติวพิเศษตัวต่อตัวทุกสัปดาห์จนจบหลักสูตรมีพัฒนาการด้านทักษะการอ่านและคิดคำนวณดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ด้วยข้อพิสูจน์ข้างต้นทำให้ รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจขยายโครงการติวพิเศษแห่งชาติ หรือ National Tutoring Programmme (NTP) ให้แก่เด็กนักเรียนทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงขยายโครงการติวพิเศษให้ครอบคลุมกลุ่มเด็กโต อายุระหว่าง 16-19 ปี อีกด้วย

โดยนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีเด็กนักเรียนด้อยโอกาสเข้าร่วมแล้วมากกว่า 100,000 คน อย่างไรก็ตาม จำนวนเด็กกลุ่มเป้าหมายกลับลดลง หลังจากที่มีการปรับหลักสูตรไปติวพิเศษออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นติวเตอร์ในโครงการส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงนักศึกษา ไม่ใช่ครูอาจารย์ ทำให้หลายฝ่ายอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า โครงการ NTP นี้ จะได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่

 

3. Repeating the school year

การพิจารณาให้นักเรียนเรียนซ้ำชั้นเดิมอีก 1 ปีภาคการศึกษา ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในบางประเทศ เช่นเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ใช่กับอังกฤษ

โดยสถาบันนโยบายการศึกษา หรือ The Education Policy Institute (EPI) กล่าวว่า วิธีการนี้น่าจะช่วยให้เด็กที่เรียนไม่ทันเพื่อนสามารถเรียนทันเพื่อนได้ แต่บรรดาผู้นำในสมาคมโรงเรียนและวิทยาลัย กล่าวว่า มาตรการนี้สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงก็ต่อเมื่อเป็นนักเรียนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับเด็กนักเรียนกลุ่มใหญ่ทั่วประเทศเช่นนี้

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา เตือนว่า การให้นักเรียนทั่วประเทศเรียนซ้ำชั้นจะทำให้ระบบการศึกษาเกิดสภาวะติดขัด รวมถึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อการยื่นขอทุนเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กส่วนมาก ขณะที่ Education Endowment Foundation (EEF) คำนวณว่า การเรียนซ้ำชั้นของเด็กหนึ่งคนจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปีที่ 6,000 ปอนด์ (ราว 253,881 บาท)

ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาส่วนหนึ่งพบว่า นักเรียนที่เรียนซ้ำชั้นจะมีพัฒนาการทางด้านวิชาการล่าช้ากว่าเพื่อนที่เรียนด้วยกันประมาณ 4 เดือน

4. Extending school days

 

การขยายเวลาเรียน ได้รับการพิสูจน์ระดับหนึ่งแล้วว่า เป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนด้อยโอกาสอย่างมากเมื่อเทียบกับ 3 มาตรการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และยังได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย รวมถึง Robert Halfon ประธานคณะกรรมการ Education Select Committee

เหตุผลเพราะ ชั่วโมงเรียนระหว่างวันที่เพิ่มเข้ามาไม่เพียงจะช่วยให้การเรียนมีความต่อเนื่อง โดยที่นักเรียนไม่รู้สึกอัดแน่นมากเกินไปเท่านั้น แต่ยังช่วยแบ่งเบาภาระของครูผู้สอน เนื่องจากชั่วโมงเรียนพิเศษที่เพิ่มเข้านี้ สามารถใช้บุคลากรจากภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยเสริมได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นครูอย่างเดียว

Education Endowment Foundation (EEF) ประเมินว่า การเรียนหลังเวลาเลิกเรียน หรือ After-school club นี้จะมีค่าใช่จ่ายเฉลี่ยที่คาบละ 7 ปอนด์ (ราว 296 บาท) เท่านั้น

กระนั้น ในกรณีที่เพิ่มวันเรียนต่อเทอมออกไปอีก 2 สัปดาห์ จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 260 ปอนด์ (ราว11,000 บาท) ต่อเด็กประถมหนึ่งคน และ 360 ปอนด์ (ราว 15,232 บาท) ต่อเด็กมัธยมหนึ่งคน

 

5. Increased well-being support

จัดทำโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเด็กด้อยโอกาส รวมถึงครอบครัวผู้มีรายได้น้อย โดยเน้นการจัดงบเพื่อจัดโครงการที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตและสภาวะอารมณ์ของเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวรับมือกับสภาพแวดล้อมด้านการเรียนและชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปได้ โดยไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อพัฒนาการด้านการเรียนของตัวเด็กเอง ซึ่งในส่วนนี้ มีการประเมินว่ารัฐบาลควรจะจัดงบเพิ่มเติมราว 650 ล้านปอนด์กระจายให้กับโรงเรียนรัฐทุกแห่งทั่วประเทศเพื่อให้จัดสรรบุคลากรมาทำหน้าที่ในโครงการที่ปรึกษา

 

ที่มา : How could children make up for lost school time?