เบี้ยเลี้ยงเด็ก ตัวช่วยสำคัญลดผลกระทบ COVID-19

เบี้ยเลี้ยงเด็ก ตัวช่วยสำคัญลดผลกระทบ COVID-19

ที่มาภาพ: unsplash-Siddhant Soni

แปลและเรียบเรียง: นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

ผู้สื่อข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส เผยบทความแสดงความคิดเห็นถึงสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ว่าถึงจะมีผลกระทบต่อเด็กในเชิงรูปธรรมไม่เท่ากับที่เห็นในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ แต่วิกฤติการระบาดที่เกิดขึ้น ก็มีผลในการทำลายโอกาสและคุณภาพชีวิตของบรรดาเด็กๆ หลายร้อยล้านคนทั่วโลกในอนาคต โดยเฉพาะเด็กยากจน และการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินสามารถบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้

ทั้งนี้ Jason DeParle ผู้สื่อข่าวอาวุโส ได้ยกตัวอย่างกรณีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยดุ๊ก เรื่องเด็กนักเรียนยากจนชนเผ่าอินเดียนแดงในชนบทของนอร์ท แคโรไลนา เมื่อ 30 ปีที่แล้ว หลังได้รับส่วนแบ่งผลกำไรจากการเปิดบ่อนคาสิโนในพื้นที่ โดยพบว่า จำนวนเงินส่วนแบ่งที่เปรียบเสมือนการประกันรายได้ของครอบครัว ส่งผลให้เด็กนักเรียนจากครอบครัวเหล่านี้เรียนได้ดี เรียนจบ และเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มเดียวกันแต่ครอบครัวไม่ได้รับส่วนแบ่ง 

ขณะเดียวกัน ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาก็มีงานวิจัยอีกหลายตัวที่ออกมาเป็นหลักฐานให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้ปรับมุมมองที่มีต่อความยากจนในเด็ก (Child Poverty) ที่ว่า การให้ที่หน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรประชาสังคมที่เกี่ยวข้องสามารถจัดสรรเงินช่วยเหลือ เป็นเบี้ยเลี้ยงโดยเจาะจงไปที่การให้แก่เด็กนักเรียนยากจนโดยตรง เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กเหล่านั้นในภายหลัง

และผลลัพธ์จากงานศึกษาวิจัยดังกล่าวก็ถือเป็นบทเรียนหลักสำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เมื่อมีแนวโน้มว่า จำนวนเด็กที่ต้องการเงินช่วยเหลือจากรัฐและหน่วยงานต่างๆ จะเพิ่มทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนี้ 

ทั้งนี้ รายงานของสถาบันแห่งชาติด้านวิศวกรรมวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เมื่อปีที่แล้ว ได้ลงมติความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ภาวะยากจน แม้จะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ ก็สามารถเป็นอันตรายต่อชีวิตของเด็กคนหนึ่งในระยะยาว โดยเฉพาะเด็กที่เผชิญความยากจนตั้งแต่เล็ก เงิน คือเครื่องมือสำคัญที่จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากภาวะยากจน โดยการให้เงินชดเชยแก่ครอบครัวผู้มีรายได้ทำให้เด็กมีสุขภาพที่ดี ได้เรียนหนังสือ และหารายได้ได้มากขึ้นยามเติบโตขึ้น 

หลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศร่ำรวยต่างออกมาตรการต่างๆ มากมายเพื่อปกป้องเด็กยากจนเหล่านี้ โดยมีอย่างน้อย 17 ประเทศ ที่จัดทำโครงการเสนอเบี้ยเลี้ยงให้แก่เด็ก ให้เงินเสริมแก่ครอบครัวเด็กยากจน และชนชี้นกลาง เพื่อให้พวกเขาเห็นประโยชน์ในการเลี้ยงดูผลักดันบุตรหลานในครอบครัวได้เรียนหนังสือ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลแคนาดา ที่เพิ่งจะให้เงินเบี้ยเลี้ยงเด็กยากจนในประเทศรายละ 4,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ช่วยให้อัตราความยากจนของประเทศลดลงอย่างรวดเร็วถึง 1 ใน 3 ขณะที่ อังกฤษก็จัดทำโครงการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงให้แก่เด็กยากจนนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ผลลัพธ์จากการให้เงินช่วยเหลือแก่เด็กยากจน ทำให้เด็กไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของแรงงานเด็ก ในขณะเดียวกันก็ทำให้ครอบครัวเห็นความสำคัญของการส่งบุตรหลานไปเรียนหนังสือ ซึ่งจะมีผลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องของอัตราการว่างงาน และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมในสังคม

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียใจว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคปัจจุบัน และว่าที่รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต กลับไม่เห็นความสำคัญของการโครงการเงินช่วยเหลือเด็กยากจน แม้จะมีหลักฐานการศึกษาหลายชิ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาที่ยืนยันว่า อัตราเด็กยากจนในประเทศลดลงอย่างมาก จากบรรดาสารพัดโครงการช่วยเหลือจนอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 13.7%  เพราะโครงการเงินช่วยเหลือต่างๆ ที่รัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา จัดทำขึ้น  

เห็นได้จากนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของสองพรรคการเมืองที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดในขณะนี้ ไม่มีพรรคใดเลยที่เอ่ยถึงความสำคัญและการแก้ปํญหาเด็กยากจนในประเทศ ที่ถึงแม้จะลดลงมาแล้ว แต่ก็ยังถือว่าสูงอยู่ดี เมื่อเทียบกับมาตรฐานของกลุ่มประเทศร่ำรวยด้วยกัน โดยเด็กยากจนในสหรัฐฯ เฉลี่ยมีสูงถึง 65-90% เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศร่ำรวยที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นทางการอย่าง ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา และไอร์แลนด์ อีกทั้งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเหล่านี้ การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเด็กยากจนเมื่อเทียบกับสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจยังถือว่าอยู่ในอันดับรั้งท้ายอีกด้วย

ที่มาภาพ: Brian Rea

แน่นอนว่า เงินอาจไม่ได้ช่วยแก้ปํญหาความยากจนในเด็กที่ต้นตออย่างแท้จริง แต่เงินก็มีส่วนช่วยเด็กในแง่ของการซื้อหาสิ่งของจำเป็นอย่าง อาหาร และช่วยให้เข้าถึงที่อยู่อาศัย โรงเรียน และบริการสุขภาพที่ดีและจำเป็นต่อพัฒนาการของตัวเด็กเอง ขณะเดียวกัน การให้เงินช่วยเหลือก็มีส่วนสำคัญในการลดความตึงเครียดในเด็ก โดยมีงานวิจัยทางวิชาการหลายต่อหลายชิ้นยืนยันแล้วว่า เด็กที่เผชิญหน้ากับความเครียดจะมีผลลบต่อโครงสร้าง และการทำงานของสมองแบบถาวร สร้างความเสียหายต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เกิดโรคหัวใจและโรคอ้วนในภายหลังได้

ผู้สื่อข่าวอาวุโสรายนี้กล่าวว่า สถานการณ์ความยากจนในเด็ก และคนทุกเพศทุกวัยในสังคมอเมริกัน แต่เดิมก็ค่อนข้างอยู่ในระดับที่เลวร้ายอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยจะยิ่งทำให้สถานการณ์ของเด็กยากจนทวีความรุนแรงมากขึ้นเพียงใด 

การปิดโรงเรียนจำกัดเด็กให้อยู่แต่ในบ้านไม่เพียงทำให้ความเครียดของเด็กเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ช่องว่างระหว่างเด็กยากจนและเด็กร่ำรวยเปิดกว้างมากขึ้น และเสี่ยงส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กสองกลุ่มนี้ โดย Sean F. Reardon นักสังคมวิทยาจากสแตนฟอร์ด พบว่า เด็กยากจนในเกรด 8 มีระดับการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ และทักษะการอ่านเทียบเท่ากับเด็กร่ำรวยที่เรียนในเกรด 4 

ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อปัญหาปากท้องและโภชนาการของเด็กยากจน โดยผลการสำรวจ 4 แห่งแสดงให้เห็นว่ามีเด็กหิวโหยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่คลังอาหารหลายแห่งก็มีจำนวนเด็กที่มาต่อแถวขอรับอาหารเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ 

Bruce Lesley ประธาน First Focus on Children องค์การเอ็นจีโอที่มุ่งให้ความช่วยเหลือเด็กในสหรัฐฯ กล่าวว่า เด็กๆ ไม่ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีเลยกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และได้รับผลกระทบในทุกแง่มุมของชีวิต ยิ่งไม่ต้องพูดถึงผลกระทบในระยะยาวเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตและก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการหางาน และการได้ทำงานที่ได้รับผลตอบแทนที่ดีและเพียงพอต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต

Jason DeParle ผู้สื่อข่าวอาวุโส ยังใช้โอกาสนี้รวบรวมหลักฐานงานวิจัยและการศึกษาหลายชิ้นที่พบว่า การให้เงินช่วยเหลือแก่เด็กยากจนโดยตรงให้เป็นเบี้ยเลี้ยงในการดำรงชีวิต นอกเหนือไปจากการจัดสรรทุนการศึกษา มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีและทัดเทียมกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ซึ่งเงินที่เด็กเหล่านี้ได้รับจากรัฐ หรือองค์กรต่างๆ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เด็กสามารถหลุดพ้นจากวงจรความยากจนในอนาคต

ขณะเดียวกัน ในส่วนของความวิตกว่า การให้เงินแก่เด็กอาจมีผลเสียต่อสังคม โดยเฉพาะในเด็กจากครอบครัวที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีปัญหาพัวพันด้านยาเสพติด หรือความรุนแรงต่างๆ จนเด็กอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือ ในส่วนนี้ ผู้สื่อข่าวอาวุโสแนะนำว่า รัฐต้องร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรทั้งของรัฐ เอกชน และประชาสังคมในการวางกลไกคัดกรองตรวจสอบอย่างเข้มงวด ก่อนปิดท้ายว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การให้เงินช่วยเหลือเด็กยากจนก็ถือเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปํญหาที่สมควรนำมาใช้และผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ 

 

ที่มา: The Coronavirus Generation