รัฐบาลชู 6 งาน กสศ. ช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำการศึกษาชายแดนใต้ สามารถเป็นรากฐานพัฒนาประเทศไทยให้ยั่งยืนระยะยาว

รัฐบาลชู 6 งาน กสศ. ช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำการศึกษาชายแดนใต้ สามารถเป็นรากฐานพัฒนาประเทศไทยให้ยั่งยืนระยะยาว

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่พื้นฐานการดูแลสวัสดิการในทุกช่วงวัย มุ่งให้เด็กเยาวชนทุกคนได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดี มีมาตรฐานทัดเทียม ทันสมัย ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา ซึ่งรายงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า เป็นภูมิภาคที่มีอัตราส่วนเด็กยากจนด้อยโอกาสทางการศึกษาในช่วงอายุ 5-17 ปี มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 7.21

รัฐบาลได้เดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเร่งด่วน และวางรากฐานการพัฒนาการศึกษาของชาติในระยะยาวผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ด้วย 6 โครงการสำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งยังให้ความเชื่อมั่นว่าผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา และคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนให้ความเสมอภาคทางการศึกษากระจายไปถึงเด็กเยาวชนทุกคน ทุกกลุ่ม ในทุกพื้นที่ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ตามนโยบาย ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ โดย กสศ. ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 3 ปี ภายใต้กรอบการทำงานระยะยาว และมีผลลัพธ์ตามเป้าหมายแล้วในระดับหนึ่ง ดังนี้

1.หลักประกันการเข้าถึงโอกาสการศึกษา
ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและคงอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีจำนวนนักเรียนได้รับเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค 123,309 คน

2.โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง
พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสายอาชีพใน 10 สาขาวิชาที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความต้องการแรงงานฝีมือซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างโอกาสทางการศึกษาและเปิดเส้นทางการประกอบอาชีพให้เยาวชนด้อยโอกาสในพื้นที่ ได้เข้าถึงการศึกษาสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวม 521 คน

3.โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น
สร้างโอกาสให้เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีศักยภาพสูงและมีใจรักในอาชีพครู ศึกษาจนสำเร็จระดับปริญญาตรีในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และได้รับบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่อาจยุบหรือควบรวม (Protected School) ในสังกัด สพฐ. ซึ่งเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิด ปัจจุบันมีนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรวม 3 รุ่น (ปีการศึกษา 2563-2565) ที่เตรียมบรรจุหลังสำเร็จการศึกษา 156 คน ในโรงเรียนปลายทาง 137 แห่ง

4.โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP)
มีโรงเรียนมากกว่า 30 แห่ง ได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ ทั้งด้านคุณภาพครูและการเรียนการสอนในชั้นเรียนเพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาคุณภาพสูง ยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนในระยะยาว ผ่านกระบวนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ มีจำนวนครูเข้าร่วม 725 คน และนักเรียน 8,503 คน

5.โครงการพัฒนาทักษะแรงงานขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส
ใช้ชุมชนเป็นฐานพัฒนาทักษะอาชีพ (Hard Skill) ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะชีวิต (Soft Skill) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการประกอบอาชีพนำไปสู่การพัฒนาเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก สามารถนำต้นทุนทรัพยากรในพื้นที่มาออกแบบสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมพัฒนาอาชีพ 1,035 คน เข้าฝึกอบรมใน 11 หลักสูตร

6.ยะลาโมเดล ต้นแบบการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
จัดตั้ง ‘สภาการศึกษาจังหวัด’ และ ‘กองทุนเพื่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กเยาวชนจังหวัดยะลา’ เพื่อสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของคนทั้งจังหวัดแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนด้วยโมเดล ‘Emergency Classroom’ ที่รองรับเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงหลุดและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วให้สามารถกลับเข้าเรียน โดยมีแผนการช่วยเหลือดูแลฉุกเฉินที่ออกแบบโดยผู้อำนวยการโรงเรียนและครู สามารถดูแลช่วยเหลือเด็กได้เป็นรายบุคคล ตรงตามสถานการณ์ปัญหา เพื่อให้เด็กคงอยู่ในระบบได้จนจบการศึกษา และไปถึงเป้าหมายสูงสุดคือทำให้จังหวัดยะลาเป็นพื้นที่ปลอดเด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา

ทั้งนี้ ไม่เพียงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทั้ง 6 โครงการที่กล่าวมา กสศ. ได้ดำเนินงานร่วมกับพื้นที่นำร่องกระจายไปในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยตลอดการทำงานที่ผ่านมามีผลสำเร็จและบทเรียนน่าสนใจซึ่ง กสศ. ได้นำกลับมาสรุป ถอดบทเรียน และขยายผลเป็น ‘โมเดล’ ต้นแบบ เพื่อทำงานร่วมกับพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงเป็นข้อมูลตั้งต้นที่จะใช้แลกเปลี่ยนแบ่งปันกับองค์กรและหน่วยงานที่เข้ามาร่วมทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาต่อไป