เมื่อวันที่ 29-30 เมษายน 2566 ที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กลุ่มธุรกิจ TCP มูลนิธิใจกระทิง สภาการศึกษา และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงาน ‘insKru Festival 2023’ ตอน ริเริ่มสร้างฉัน งานมหกรรมไอเดียการสอนที่มีครูไทยและผู้ที่ทำงานด้านการศึกษาจากทั่วประเทศเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ออกแบบการศึกษา เปิดพื้นที่จุดประกายแรงบันดาลใจ และนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ให้ครูและนักการศึกษานำไปใช้ในห้องเรียนของตัวเอง ไปจนถึงร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และร่วมเสนอนโยบายการศึกษาเพื่อสวัสดิการและชีวิตที่ดีขึ้นของครู
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมสะท้อนถึงปัญหาของครู 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.สวัสดิการ โดยระบุว่าปัจจุบันครูไทยมีสวัสดิการดีแต่ระบบการจัดการยังไม่ดี คือไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นปัญหาและความต้องการของครูมากนัก เช่น สหกรณ์ครู ที่มีข้อดีคือการช่วยเหลือครูในการกู้เงิน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดเป็นการสร้างหนี้ให้ครูอย่างมหาศาลอย่างที่เห็นได้ในปัจจุบัน 2.วิทยฐานะครู ยังมีลู่เดียวทำให้ครูต้องก้มหน้าก้มตาทำเอกสาร ทำงานวิจัย ทำโครงงาน หรือการทำในเรื่องที่ไม่ถนัดแล้วทิ้งงานสอน 3.ความกดดัน ครูกำลังแบกความคาดหวังจากสังคมว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ครูไม่มีอิสระทางใจ อิสระในเรื่องการสอน เรื่องหลักสูตร เพราะถูกกด ถูกบังคับ ถูกสั่งให้ทำงานมาจากส่วนกลางทั้งสิ้น จึงมองว่าอาชีพครูมีข้อดีอย่างเดียวคือเรื่องสวัสดิการ
“ในเรื่องของการพัฒนาครู ปัจจุบันไม่ตรงกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน กลับให้ครูไปเข้าร่วมอบรมในสิ่งที่คิดว่าครูต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แล้วเน้นเรื่องการใช้เอกสาร ใช้รูปถ่าย ทำให้สิ่งที่เป็นปัญหาและความต้องการฝึกอบรมพัฒนาของครูไม่สอดคล้องกัน เราใช้งบประมาณสูญเปล่ามาก หัวข้อการอบรมมาจากส่วนกลาง มาจากหน่วยงานที่กำหนด แต่เขาก็ไม่รู้ปัญหาในห้องเรียนว่าคืออะไร ครูก็ต้องตามน้ำ ตามนโยบาย ทำให้ครูสูญสิ้นศักยภาพและจิตวิญญาณครู ครูต้องทำงานหนักทุ่มเท ทำงานที่ต้องใช้ทรัพยกรและเวลามาก แต่งานนั้นไม่เกิดผลต่อตัวคุณภาพเด็ก ถือว่าเราออกแบบผิดพลาดครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องวิทยฐานะเป็นภาระที่ครูต้องทำเพราะเป็นความก้าวหน้าของครู”
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตการผลิตครูต้องเป็นระบบปิดมากขึ้น ไม่ใช่ระบบเปิดที่ใครก็ได้มาเป็นครู ต้องเป็นระบบปิดที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ หมายความว่าในแต่ละพื้นที่ของไทยขาดแคลนครูเท่าไหร่ ก็ผลิตครูให้ได้จำนวนสอดคล้องกัน โดยแนะนำว่าควรเป็นระบบปิดให้ได้ถึง 70% ส่วนที่เหลือเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีความสนใจ ขณะที่ด้านเนื้อหาในการผลิตครูพบว่ามากกว่า 40% ล้าสมัย ต้องปรับเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ การสอนแบบวิพากษ์ สอนให้เด็กเรียนรู้ร่วมกันมากกว่าการแข่งขัน ครูต้องสามารถสรุปแนวคิดได้ เป็นต้น จึงมองว่าจำเป็นต้องปฏิรูประบบผลิตครูครั้งใหญ่ โดยคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นจากรัฐบาลหลังการเลือกตั้งรอบนี้
“ที่ผ่านมาสิ่งที่เราคาดหวัง สิ่งที่คิด ไม่เคยตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหลังการเลือกตั้ง นโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเอาไปใช้จริงเพียง 4% เท่านั้น ขอเพียงว่าให้ทำตามนโยบายที่หาเสียง และ insKru ต้องเดินหน้าตรวจสอบว่าหลังเลือกตั้งได้ทำตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ การหาเสียงกับหลังเลือกตั้งจะต้องเปลี่ยนไป อย่าให้อำนาจการกำหนดไปอยู่ที่นักการเมือง ต้องติดตามตรวจสอบ
“สำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นใคร ผมขอฝากว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่กระทรวงปกติ เป็นกระทรวงที่มีปัญหามาก มีความแตกต่าง เป็นกระทรวงที่รัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่าสัญญาว่าจะปฏิรูปแต่ไม่เคยทำสำเร็จ ขออย่าให้เป็นเหมือนในอดีต ผมยืนยันว่ากระทรวงศึกษาธิการปราบเซียน ปราบนักการเมืองมาเยอะ 20 กว่ารัฐมนตรีที่สัญญาว่าจะปฏิรูป ผมสอนนิสิตครูมา 20 กว่าปี ทุกคนมีความมุ่งมั่น มีแววตาของความเป็นครู เต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ แต่พอเรียนจบไปสอบบรรจุเป็นครูได้ 3 – 5 ปี สายตาที่เคยเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นความตั้งใจ มีปรัชญาของการทุ่มเทกับเด็ก หลายคนเมื่อกลับมาเรียนปริญญาโท สายตาเขามีความเจ็บปวด ความรู้สึกรันทด และเข้ามาบอกว่าสิ่งที่อาจารย์เคยสอนไม่เคยเกิดขึ้นจริงในระบบโรงเรียนไทย เราเห็นครูเริ่มลาออกโดยเฉพาะครูรุ่นใหม่ ที่เขาทนกับระบบไม่ได้ อยากให้เกิดการแก้ไขเกิดขึ้นจริง” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ด้าน นางสาวชลิพา ดุลยากร หรือ นะโม ผู้ก่อตั้ง insKru กล่าวว่า ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 5 ในการสร้างแฟลตฟอร์ม insKru ให้เป็นพื้นที่ช่วยครูไทย ช่วยให้การศึกษาไทยมีความหวัง ผลจากการทำแฟลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้ได้เห็นความตั้งใจ เห็นพลังงาน หรือคนที่ต้องการสนับสนุนครูมาโดยตลอด จึงเป็นที่มาของการจัดงาน ‘insKru Festival 2023’ ตอน ริเริ่มสร้างฉัน ซึ่งอยากจัดขึ้นอีกเรื่อย ๆ โดยคอนเส็ปต์ของการจัดงานครั้งนี้ได้ใช้ ‘บอลลูน’ เป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกเล่าถึงความเชื่อของครูที่มีคุณค่าในแบบตัวเอง
“นะโมเชื่อว่าบางคนมาเป็นครูเพราะอย่างเปลี่ยนแปลง อยากสร้างคุณค่าในตัวเอง อยากเพิ่มครูคุณภาพในระบบการศึกษาไทย บอลลูนถ้ามีไฟเยอะ ๆ ก็จะยิ่งลอยขึ้นไป แม้ว่าบอลลูนอาจจะไม่ได้โลดแล่นในทุกวัน หรือบางครั้งอาจจะมีถุงทรายมาผูกติด ซึ่งหมายถึงอุปสรรคปัญหาที่ทำให้ครูไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้บอลลูนของครูลอยไปไม่ได้ เราจึงจัดงานนี้มาเพื่อมาซับพอร์ต สร้างกำลังใจ หล่อเลี้ยงความเชื่อของครู ปลุกไฟให้ครูโลดแล่นไปได้อย่างที่ควรจะเป็น เราจะมาช่วยกันสร้าง หาทางให้บอลลูนของครูเบา ให้ถุงทรายของบอลลูนเบาและโลดแล่นต่อไปได้ และสร้างความฝัน สานต่อความเชื่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับนักเรียน เพราะเราเชื่อว่าถ้าครูดีนักเรียนก็จะดีด้วย”
นางสาวชลิพา กล่าวว่า ภายหลังการเลือกตั้งอยากเห็น 2 เรื่องที่เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ 1.การลดภาระงานครู การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมต่าง ๆ ในโรงเรียน เพราะที่ผ่านมาการศึกษาไทยไม่ได้พัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น ครูไทยมีภาระงานที่ไม่ใช่การสอนนักเรียนเยอะมาก ครูต้องทำงานเอกสาร บางครั้งถูกเรียกตัวให้ไปทำงานอื่น ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่ดึงเวลาการสอนที่ครูควรจะมอบให้เด็ก 2. วัฒนธรรมในโรงเรียน เราต้องช่วยกันทำให้การทำงานในโรงเรียนเป็นงานที่มีความสุข ไม่เป็นระบบ Top – Down ที่สั่งการจากข้างบนลงมาทำให้ครูต้องฝืนทำงานที่ไม่ได้รู้สึกร่วม หรือเกิดความเข้าใจหรือมองเห็นความจำเป็นว่าจะต้องทำ เพียงแต่ต้องทำตามเพราะเป็นคำสั่ง