รัฐบาลป้องกันเด็กหลุดจากระบบ กสศ.เปิดระบบทุนเสมอภาค ถึง 1 ส.ค. 67 ให้รร.บันทึกข้อมูลเด็กกลุ่มเสี่ยงไม่ได้เรียน เพื่อช่วยเหลือ ป้องกันทันเวลา

รัฐบาลป้องกันเด็กหลุดจากระบบ กสศ.เปิดระบบทุนเสมอภาค ถึง 1 ส.ค. 67 ให้รร.บันทึกข้อมูลเด็กกลุ่มเสี่ยงไม่ได้เรียน เพื่อช่วยเหลือ ป้องกันทันเวลา

8 กรกฎาคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืนในระยะยาว และได้สั่งการสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ปีการศึกษา 2566 มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปีกว่า 1,025,514 คน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามข้อตกลงระหว่าง 11 หน่วยงานเพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาภายใต้นโยบาย “Thailand Zero Dropout” โดยบูรณาการความร่วมมือ ร่วมสนับสนุนภารกิจ สำรวจค้นหา วางแผน ช่วยเหลือ และเชื่อมโยงเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะเริ่มกระบวนการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยใช้ Application “Thai Zero Dropout” ในการสนับสนุนภารกิจ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 นี้ไป โดยจะมีการ Kick Off การทำงานใน 25 จังหวัดแรก วันที่ 17 กรกฎาคม นี้

นอกจากมาตรการพาเด็กเยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่านโยบาย Thailand Zero Dropout ยังมีมาตรการสำคัญอีกด้านนึงที่สำคัญคือการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคันของเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษาที่ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่ำกว่า 1,044 บาท หรือคิดเป็นเพียงครึ่งนึงของเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ ซึ่งในปีการศึกษา 2567 นี้คาดว่าจะมีจำนวนอยู่ราว 1.3 ล้านคน โดยระหว่างวันที่ 23-26 กรกฎาคม นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ. จะทยอยจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มต่อเนื่องนี้ใน 6 สังกัด ทั่วประเทศ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และกรุงเทพมหมานคร จำนวนกว่า 8 แสนคน

“โดยในปีนี้ เป็นปีแรกของการจัดสรรอัตราใหม่ตามที่ กสศ. ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยนักเรียนระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้นจะได้รับจัดสรรเพิ่มจากอัตรา 3,000 บาท เป็น 4,200 บาท/คน/ปี โดยเป็นการทยอยปรับเพิ่ม 3 ปีต่อเนื่องระหว่างปีการศึกษา 2567-2569 ซึ่งในปีการศึกษา 2567 นี้จะได้รับในอัตรา 3,480 เพิ่มขึ้น 16% เพื่อเป็นการสนับสนุนค่าอาหารเช้าให้แก่กลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาคเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาของครัวเรือนยากจน”

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มที่มีความยากจนเสี่ยงหลุดจากระบบและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ  ระหว่างวันที่  8 ก.ค.- 1 ส.ค.  2567 นี้ กสศ.  ได้เปิดระบบทุนเสมอภาคให้สถานศึกษาบันทึกข้อมูลนักเรียนกลุ่มนี้เข้ามา (นร./กสศ.01) ผ่านระบบ cct.eef.or.th เพื่อคัดกรองความยากจนและให้ได้รับการช่วยเหลือ ในปีการศึกษา 2567 ภาคเรียนที่ 1 นี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษกลุ่มใหม่ได้รับความช่วยเหลืออีกราว 5 แสนคน  ทำให้ในปีการศึกษา 2567  กสศ.จะสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงของนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษารวมกลุ่มต่อเนื่อง  ราว 1.3 ล้านคน

ทั้งนี้ นักเรียนที่สามารถคัดกรองขอรับทุนเสมอภาคมี 4 กลุ่ม ได้แก่

1) นักเรียนที่มีสถานะยากจน และศึกษาอยู่ในระดับชั้น อ.1 – ม.3 ในสังกัดสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ
2) นักเรียนที่เคยคัดกรองแต่ไม่ผ่านการคัดกรองในปีที่ผ่านมา คุณครูสามารถคัดกรองนักเรียนคนดังกล่าวเข้ามาใหม่ได้
3) นักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาคต่อเนื่องครบ 3 ปี จะต้องคัดกรองใหม่ในเทอม 1/2567 และ
4) นักเรียนที่ย้ายโรงเรียนจะไม่ได้รับทุนเสมอภาคจากโรงเรียนเดิม คุณครูที่โรงเรียนปลายทางจะต้องคัดกรองนักเรียนคนดังกล่าวเข้ามาใหม่

หากพบนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบ และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ สามารถแจ้งกับโรงเรียนเพื่อบันทึกข้อมูลเข้าในระบบเพื่อให้ได้รับช่วยเหลือจากทุนเสมอภาค ของ กสศ. ทั้งนี้ สามารถติดตามและสอบสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยที่ผ่านมา กสศ. ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งสิ้น 1,200,161 คน และพบว่าทุนเสมอภาค ส่งผลให้นักเรียนทุนร้อยละ 95.95 ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา

“นายกฯ ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา สั่งการให้ทุกหน่วยงานเดินหน้ามาตรการ Thailand Zero Dropout ทั้งมาตรการค้นหา และพาเข้าสู่ระบบการศึกษา และมาตรการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา พร้อมย้ำว่าเด็กและเยาวชนคือผู้กำหนดอนาคตของประเทศชาติ ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการพัฒนาทักษะอาชีพตามศักยภาพของตน เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และประเทศชาติอย่างยั่งยืน” นางรัดเกล้า กล่าว