เมื่อวันที่ 26-27 กรกฎาคม 2566 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (Area Based Education) หรือ ABE #EP4 ระดมความคิด ค้นหาทุนทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อวางแผนและจัดทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโครงการ ผ่านการนำเสนอกรณีตัวอย่างการใช้ทุนทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยเครือข่ายคณะทำงาน 12 จังหวัดต้นแบบ ร่วมรับฟังและเสนอข้อคิดเห็น
การพบกันของคณะทำงาน ABE #EP4 มีเป้าหมายเพื่อทบทวนทุนทรัพยากรของแต่ละจังหวัด เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาและทรัพยากรต่าง ๆ ในพื้นที่ ที่จะนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนงานในลำดับต่อไป โดยมุ่งไปที่การสานเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ มีช่องทางรับและส่งต่อที่เป็นขั้นตอน ตรงตามความต้องการและศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนและถ่ายเทข้อมูลระหว่างกัน
นายนิติศักดิ์ โตนิติ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในฐานะ ผู้ประสานงานโครงการ ABE จังหวัดแม่ฮ่องสอน ฉายภาพกรณีตัวอย่างจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีภูมิศาสตร์เป็นแนวยาว และมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน อุปสรรคสำคัญจึงเป็นเรื่องการเดินทางในพื้นที่ที่ยากในการเข้าถึงชุมชนห่างไกล ครัวเรือนจำนวนมากประสบปัญหาคุณภาพชีวิตเนื่องมาจากความขาดแคลนยากไร้ อีกทั้งวิถีวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่แตกต่าง แม่ฮ่องสอนจึงมีเด็กเยาวชนด้อยโอกาสที่ไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานกว่า 3,000 ราย คณะทำงาน ABE จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เลือกตำบลแม่สวดในอำเภอสบเมย เป็นพื้นที่นำร่องในการทำโครงการฝึกอาชีพให้เยาวชนนอกระบบการศึกษา อาทิ การเลี้ยงหมูดำและทอผ้าพื้นเมือง อันเป็นการต่อยอดทุนภูมิปัญญาจากวิถีชุมชน โดยเสริมด้วยทรัพยากรจากหน่วยงานรัฐและวิสาหกิจชุมชน ที่มาช่วยเชื่อมโยงช่องทางการตลาดเข้ากับโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนในพื้นที่
ABE แม่ฮ่องสอนยังทำงานกับ อบต.แม่สวด และวิทยาลัยชุมชน ในการนำเยาวชนนอกระบบการศึกษาเข้ารับการอบรมเพื่อให้มีวุฒิการศึกษา และเข้าสู่การทำงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชน เพื่อเป็นการสร้างงานและแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขณะที่ในภาคประชาสังคมและเอกชน หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ร่วมกับสมาคมพัฒนาการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมระดมทรัพยากรจากในและนอกพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาโดยยึดโยงกับทุนทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ
ผลจากการทำงานแสดงให้เห็นว่า นอกจากทุนที่มีในพื้นที่ ได้แก่ องค์ความรู้ ชุมชน หรือครอบครัว ABE จังหวัดแม่ฮ่องสอนยังสร้างกลไกเครือข่ายระดับตำบลและอำเภอ ที่เชื่อมต่อไปถึงเครือข่ายการทำงานในภาพใหญ่ระดับจังหวัด โดยหลังจากนี้แผนงานขั้นต่อไปของคณะทำงาน ABE จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมุ่งไปที่การจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ ที่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ จากหน่วยงานภาคีทุกฝ่าย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมและเป็นแนวทางให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน
ขณะที่ นางสาวเพียง นิจิตตะโล ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินงานการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเริ่มขับเคลื่อนผ่านประเด็นการดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา จากข้อมูลที่ระบุว่ามีเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษากลางคันสะสมราว 12,000-15,000 คน ภายใต้โจทย์การเดินหน้าทำงานเชิงรุกในพื้นที่ที่มีจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบสะสมมากที่สุด นำมาสู่การลงพื้นที่ติดตาม ค้นหา ช่วยเหลือ ก่อนนำเด็กส่วนหนึ่งกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา รวมถึงมีกระบวนการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับกลุ่มที่อยู่ในช่วงวัย 15-18 ปี
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพิกัดของกลุ่มเป้าหมายที่กระจัดกระจาย การติดตามกลุ่มเป้าหมายจึงต้องอาศัยภาคีเครือข่ายในพื้นที่เป็นหลัก ก่อนนำเด็กเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือที่มีโครงสร้างเป็นลักษณะ ‘ปัญจภาคีเครือข่าย’ ซึ่งครอบคลุมทรัพยากรในทุกมิติ ทั้งทุนทางเศรษฐกิจและในเชิงสังคมวัฒนธรรม โดยทั้ง 5 ฝ่ายประกอบด้วย 1) พ่อแม่ผู้ปกครอง 2) หน่วยจัดการศึกษาทุกสังกัด 3) หน่วยสนับสนุนการศึกษาทุกหน่วย 4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 5) องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ ซึ่งทำให้สุรินทร์มีรูปแบบการทำงาน ABE ที่หลากหลาย ต่อเนื่อง และเป็นระบบ
นอกจากนี้ ปัญจภาคีทุกฝ่ายยังมีการทำแผนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ร่วมกัน มีการจัดตั้ง ‘สมัชชาการศึกษา’ ทั้งในระดับพื้นที่และระดับจังหวัด เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนระดมความคิด บนฐานความเชื่อว่างานด้านการศึกษาเป็นหน้าที่ของคนทั้งจังหวัด
ABE จังหวัดสุรินทร์ มีตัวอย่างของการจัดการศึกษาและพัฒนาทักษะที่น่าสนใจ เช่น ค่ายค้นหาศักยภาพสำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้และการประกอบอาชีพตามความถนัด หรือการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจัดฝึกอบรมอาชีพ โดยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในพื้นที่ จนเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพและสามารถยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนได้สำเร็จ
แม้จะมีตัวแบบการจัดการศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม คณะทำงาน ABE จังหวัดสุรินทร์ระบุว่า ยังจำเป็นต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ข้อมูลมีความเป็นปัจจุบัน และสามารถใช้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งทางจังหวัดกำลังวางแผนจะเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายภายในที่เป็นระบบ ใช้งานง่าย มีแผนผังทรัพยากรในจังหวัดที่ชัดเจน เพื่อให้จัดสรรทรัพยากรได้ถูกจุดและนำวัตถุดิบที่มีมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ‘ฐานข้อมูลสารสนเทศ’ ถือเป็น 1 ใน 5 ประเภททรัพยากรในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ร่วมกับอีก 4 ประเภทใน ‘ผังทรัพยากร’ ได้แก่ 1) บุคคล/หน่วยงาน 2) งบประมาณ 3) องค์ความรู้ และ 4) นโยบาย โดยวิธีจัดทำผังทรัพยากรในพื้นที่อาจทำได้โดยเปิดเวทีพูดคุยและชวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าในแต่ละพื้นที่มีทรัพยากรอะไรอยู่ตรงไหน อยู่กับใครหรือหน่วยงานใด แล้วจะนำมาใช้อย่างไร แล้วผังทรัพยากรจะนำมาใช้คู่กับ ‘แผนที่ปัญหา’ ซึ่งเมื่อได้แผนที่ทรัพยากรหรือแผนที่ปัญหามาแล้ว ข้อมูลที่แม่นยำและเป็นปัจจุบันจะช่วยให้คณะ ABE มีข้อมูลรอบด้านในการตัดสินใจ และมีทางเลือกในการทำงานที่ตรงกับลักษณะปัญหายิ่งขึ้น จากนั้นเมื่อใช้ทรัพยากรได้ตามแผน ขั้นต่อไปจะเป็นการถอดบทเรียนเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่จะยิ่งเสริมพลังและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้นในอนาคต
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวว่า การสร้างโอกาสและความเสมอภาคจำเป็นต้องคิดให้รอบด้าน ไม่ใช่เพียงมุ่งไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว แต่ต้องคำนึงถึงมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยจุดที่จะเป็นคานงัดสำคัญในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ คือให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา เนื่องจากมีผลพิสูจน์แล้วว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา จะช่วยยกระดับสังคมให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
นายเอ็นนูยกข้อมูลเชิงสถิติปี 2560 ที่ชี้ว่า เด็กเยาวชนจากครัวเรือนด้อยโอกาสยังมีโอกาสเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยต่ำกว่ากลุ่มที่มาจากครัวเรือนฐานะดีกว่ามากถึง 19 เท่า ซึ่งเป็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่กว้าง และถือเป็นภารกิจอันท้าทายของคณะงานทุกฝ่าย เพราะหากมองไปที่แผนยุทธศาสตร์ชาติจะพบว่า ‘พลังสังคม’ คือหนึ่งในฟันเฟืองที่จะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้ โดยไม่สามารถปล่อยให้ภาครัฐทำงานเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเพื่อขับเคลื่อนงานให้ประสบความสำเร็จ จึงมี 3 เรื่องซึ่งต้องทำไปพร้อมกัน คือ 1) องค์ความรู้ในการจัดการปัญหา 2) การขับเคลื่อนทางสังคม และ 3) การขับเคลื่อนทางนโยบาย
“เรามีความหวังอย่างยิ่งในการรวบรวมทรัพยากรทุกอย่างเพื่อทำงานด้านการศึกษา บนรากฐานที่ว่าคนไทยมีพื้นฐานจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และพร้อมที่จะยื่นมือมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพียงแต่หลายคนหลายฝ่ายไม่รู้ว่าจะเข้าไปตรงไหน ต้องช่วยใคร ด้วยวิธีการใด และจะช่วยเหลือในรูปแบบใดได้บ้าง
“งานของ กสศ. ที่ร่วมมือกับเครือข่ายเชิงพื้นที่ทำให้เห็นว่า นอกเหนือจากการนำประชากรกลับสู่ระบบการศึกษาและการพัฒนาตนเองได้แล้ว เราจะต้องมีการจัดรูปแบบการพัฒนาตนเองที่เหมาะสมกับความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย ดังเช่นจังหวัดแม่ฮ่องสอนและสุรินทร์ที่ได้นำเสนอเรื่องราวการทำงาน ABE ในเวทีนี้ ทำให้เราเห็นว่าทั้งสองพื้นที่มีแกนการทำงานที่ต่างกัน แม่ฮ่องสอนใช้ภาคประชาสังคมเป็นหลัก ขณะที่สุรินทร์มีท้องถิ่นเป็นผู้นำในการเคลื่อนงาน ข้อดีคือทำให้เราเห็นว่าทุกจังหวัดไม่จำเป็นต้องใช้วิธีทำงานที่เหมือนกัน การทำงานเชิงพื้นที่คือการที่คนในสามารถตระหนักได้ว่าตรงไหนควรใช้ทรัพยากรอะไร มีศักยภาพโดดเด่นด้านไหน
“นอกจากนี้ทั้งสองจังหวัดยังไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยว แต่มีภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมกันเสริมพลัง ที่น่าสนใจคือการเข้ามามีส่วนร่วมโดยภาคเอกชนและประชาสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นว่างาน ABE สามารถทำให้ภาคส่วนเหล่านี้มองเห็นปัญหาและตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือกัน แล้วด้วยจุดเด่นของภาคเอกชนเรื่องความพร้อมด้วยองค์ความรู้ ทรัพยากร การจัดการ รวมถึงยังคล่องตัวจากระเบียบข้อบังคับที่ต่างกับราชการ งานจึงเดินอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องยิ่งขึ้น”
นายเอ็นนู กล่าวว่า ในการเดินหน้าต่อไปของโครงการ ABE จำเป็นต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมผลักดันงานด้านการศึกษาให้ได้มากขึ้น เพื่อผลลัพธ์คือลูกหลานคนในพื้นที่ที่จะมีโอกาสจบการศึกษาในระดับสูงเพิ่มขึ้น โดยบุคลากรกลุ่มนี้จะพร้อมด้วยองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับบริบทในท้องถิ่นของตน แล้วจะกลับเข้าไปพัฒนาท้องถิ่นและเป็นผู้นำชุมชนรุ่นต่อไปในการยกระดับการศึกษา ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนในท้องถิ่นมีทางเลือกทั้งเรื่องบุคลากรคุณภาพ ไปจนถึงการเพิ่มโอกาสเติบโตของธุรกิจในพื้นที่ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น”
ทางด้าน นายพัฒนพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงบทบาทการทำงานของ กสศ. ว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้ขับเคลื่อนโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยพยายามหนุนเสริมให้แต่ละจังหวัด สามารถสร้างกลไกความร่วมมือกันภายใน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถผลักดันให้งานเดินไปด้วยตนเองได้มากที่สุด โดยหลังจากเวทีนี้เชื่อว่าแต่ละจังหวัดจะกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของตนเองได้ รวมทั้งมีแนวทางจัดสรรทรัพยากรว่าจะใช้อย่างไรในการจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ
“การพบกันครั้งนี้ เรามาคุยกันบนโจทย์เรื่องการวางแผนกลยุทธ์ และมองไปข้างหน้าว่าแต่ละจังหวัดจะใช้ทรัพยากรและทุนที่มีอยู่ในพื้นที่เดินงานต่อได้อย่างไร ด้วยความคาดหวังว่าในอนาคตทั้ง 12 จังหวัด จะไม่เพียงมีความแข็งแรงด้วยตัวเอง แต่ยังสามารถขยายผลการทำงานไปยังจังหวัดใกล้เคียง หรือจังหวัดที่มีบริบทแวดล้อมคล้ายคลึงกันได้ เมื่อถึงวันนั้น เราจะบรรลุเป้าหมายเรื่องการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่เป็นจริงขึ้นมาได้โดยคนที่อยู่ในพื้นที่จริง ๆ”