รายงานธนาคารโลก (World Bank) ฉบับล่าสุดเผยให้เห็นถึงสมรรถนะด้านการอ่าน รวมถึงคะแนนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยกำลังตกอยู่ในภาวะถดถอยต่อเนื่อง ผลพวงจากความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรและการลงทุนด้านการศึกษาของไทย อีกทั้งเด็กไทยยังได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความถดถอยลง สัญญาณเตือนรัฐควรจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม ก่อนที่เด็กอีกจำนวนมากจะหลุดออกนอกระบบ
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า จากโครงการโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล หรือ PISA ในปี 2561 ซึ่งทำการประเมินทักษะนักเรียนไทยอายุ 15 ปี จากทั้งหมด 79 ประเทศ พบว่า ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับรั้งท้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คืออันดับที่ 68 ด้านการอ่าน อันดับที่ 59 ด้านคณิตศาสตร์ และอันดับที่ 55 ด้านวิทยาศาสตร์ประมาณร้อยละ 60 ของนักเรียนไทยได้คะแนนด้านการอ่านต่ำกว่าสมรรถนะขั้นต่ำ และร้อยละ53 มีคะแนนไม่ถึงระดับสมรรถนะขั้นต่ำด้านคณิตศาสตร์ ขณะที่ร้อยละ 44 ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์สมรรถนะขั้นพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์
ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ทักษะการเรียนรู้ของเด็กไทยตกต่ำ ส่วนหนึ่งเกิดจากนักเรียนมีอัตราการขาดเรียนสูง เพราะไม่รู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน จึงไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งความรู้สึกนี้มาจากหลายปัจจัย ทั้งปัญหาความยากจน ครูไม่มีคุณภาพ เด็กถูกกลั่นแกล้งรังแก รวมถึงการไม่ได้รับกำลังใจและการส่งเสริมจากครอบครัวครัวที่เพียงพอ
ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ประจำธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า จากการประเมินตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักเรียนไทยตั้งแต่ชั้น ป.1 จนถึง ม.3 มีมูลค่าเฉลี่ยต่อหัว 27,271 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าประเทศไทยใช้เงินลงทุนด้านการศึกษาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียน แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลับสวนทางกับการลงทุน ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างหนึ่งคือ การกระจายทรัพยากรไม่ถูกจุด รวมถึงปัญหาขาดแคลนครู และการเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การเรียน เราจึงเสนอว่า โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้เคียงกันควรมีการควบรวม หรือสามารถใช้ครู บุคลากร และอุปกรณ์การศึกษาร่วมกันได้ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ชี้ให้เห็นว่าเยาวชนที่ด้อยโอกาสจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
ขณะที่ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณให้ทั่วถึงเป็นธรรม อุปสรรคอันดับแรกที่ต้องแก้ไขจัดการคือ ระบบที่ล่าช้าซึ่ง กสศ.มีข้อมูลผลการวิจัยเชิงประจักษ์ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งรัฐบาลควรนำข้อมูลเหล่านี้นำไปปรับใช้ ทั้งนี้การกระจายทรัพยากรครูและบุคลากรการศึกษาของไทย เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงระหว่างโรงเรียนในเมืองและชนบท ซึ่งปัญหานี้ของประเทศไทยจัดอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มละตินอเมริกา ได้แก่ บราซิล โคลัมเบีย ปานามา
“สิ่งที่ยากสุดในการจัดการคือครู และบุคลากรทางการศึกษา ปัญหานี้ไม่ใช่มีแค่ไทย แต่ประเทศอื่นก็ประสบปัญหาคล้ายกัน เพราะรัฐบาลเป็นเหมือนนายจ้างหลัก โดยมีครูเป็นกลุ่มลูกจ้างที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้นการจะพยายามปรับระบบ ลดตำแหน่งครู หรือโยกย้ายครูไปประจำโรงเรียนชนบทห่างไกลจึงเป็นเรื่องยาก แต่หากทำได้ก็เชื่อว่าผลลัพธ์ทางการศึกษาจะดีขึ้นอย่างแน่นอน” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กสศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ. มีความพยายามที่จะหาจุดเชื่อมโยงระหว่างคุณภาพการศึกษาและการเข้าถึงการศึกษา โดยเชื่อว่าหากแก้ปัญหาทั้งสองนี้ได้ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพมากขึ้นได้
ทั้งนี้ หากติดตามสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันจะพบว่า มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน เยาวชน ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการการศึกษา เช่น การเลิกใช้อำนาจนิยมในโรงเรียน การแก้บทลงโทษ เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน แต่ขณะเดียวกันพวกเขามีความรู้สึกถึงความเป็นพลเมืองค่อนข้างสูง และมีความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริมแนวคิดเชิงบวกแก่เด็กมากขึ้น