เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะองค์กรสมาชิกภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) ร่วมกับหน่วยงานอีกหลายองค์กร จัดเวทีนำเสนอนโยบายเพื่อปฏิรูปการศึกษากับพรรคการเมือง (TEP Policy Forum) “ชวนพรรคร่วมคิด ฟื้นชีวิตเรียนรู้ใหม่ หนุนเด็กไทยก้าวทันโลก” โดยได้นำเสนอสถานการณ์ความท้าทายของระบบการศึกษาไทย และข้อเสนอแนะเพื่อเร่งฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยไปพร้อมกับการสร้างสมรรถนะให้เด็กไทยก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อตัวแทน 8 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเสรีรวมไทย ที่เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ที่ปรึกษาภาคีเพื่อการศึกษาไทย และอดีตประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้พยายามแก้ไขปัญหาภาพรวมโดยดำเนินงาน 5 Big Rock คือ
1.การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย
2.การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
3.การปฏิรูปกลไกและระบบผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน
4.การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่น ๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบนำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน
5.การปฏิรูปบทบาททางการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน
“ที่ผ่านมา Big Rock ที่ 1 การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหา สามารถให้ทุนสำหรับเด็กเปราะบาง ยากจน เป็นความช่วยเหลือที่จำเป็นและทำได้ทันที ในส่วน Big Rock อื่น ๆ ยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่ และที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ก็มีผลอย่างมากในการสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว
‘TEP whitepaper’ สรุปบทเรียนจากความพยายามปฏิรูปการศึกษาไทย
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และตัวแทนภาคีเพื่อการศึกษาไทย ได้นำเสนอ TEP whitepaper หรือสมุดปกขาวที่มีการสรุปปัญหาโดยถอดบทเรียนจากความพยายามปฏิรูปที่ผ่านมา ทั้งปัญหาคุณภาพของระบบการศึกษาโดยรวมที่อยู่ในระดับต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับสูง และการขาดประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากร ขณะที่ความท้าทายยิ่งมีมากขึ้นจากความถดถอยของการเรียนรู้ในช่วงโควิด-19 ระบาด ความท้าทายใหม่แห่งโลกอนาคตที่เทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดเร็วกว่าเดิม โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้ความสามารถในการปรับตัวได้ (Adaptability) และทักษะการคิดขั้นสูง (Higher-Order Thinking) มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ดร.สมเกียรติ นำเสนอความท้าทาย 4 ประการในการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ดังนี้
1.การปรับหลักสูตรแกนกลางครั้งใหญ่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้สมรรถนะ ซึ่งหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2551 หรือผ่านมาแล้วเกือบ 15 ปี จึงค่อนข้างล้าสมัยและไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้สมรรถนะที่จำเป็นต่าง ๆ
2.การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและบุคลากรครูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เนื่องจากการฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยและการสร้างสมรรถนะใหม่ จำเป็นต้องมีทรัพยากร ทั้งงบประมาณและบุคลากรครูที่เพียงพอทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพ ในช่วงที่ผ่านมาจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ประชากรวัยเรียนมีแนวโน้มลดลง โดยได้อ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัยของ กสศ. ร่วมกับธนาคารโลก และ สพฐ. เรื่อง “การกรอบมาตรฐานขั้นพื้นฐานในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพของโรงเรียน (Fundamental School Quality Levels) หรือ FSQL เพื่อลดช่องว่างของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระหว่างโรงเรียน แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร” ซึ่งพบว่านักเรียนในสังกัด สพฐ. ลดลงจาก 7.2 ล้านคน ในปี 2556 เหลือ 6.5 ล้านคน ในปี 2565 ทำให้โรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 21,341 แห่ง จากทั้งหมด 30,764 แห่ง มีนักเรียนลดลง คิดเป็นร้อยละ 69.4 และมีโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขั้นอีก 2,246 แห่ง การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยในการจัดการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการบริหารบุคลากรทั้งส่วนกลาง เขตพื้นที่และโรงเรียน ซึ่งเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ในการจัดการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน ส่วนในด้านบุคลากรครู จากข้อมูลข้าราชการครูปี 2565 พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ 15,802 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 55.3 มีครูไม่ครบตามเกณฑ์ และที่เหลืออีก 5,498 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15.7 มีจำนวนครูเกินเกณฑ์ที่กำหนด
3.การป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน เนื่องจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนและการกลั่นแกล้ง ไม่เพียงส่งผลทำให้โรงเรียนมีบรรยากาศเลวร้ายลง แต่ยังส่งผลในด้านลบต่อการพัฒนาทักษะพื้นฐานของเด็ก เช่น นักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งมีคะแนนการอ่านเฉลี่ยน้อยกว่าถึง 27 คะแนน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มนักเรียนที่ไม่ถูกกลั่นแกล้ง นอกจากนี้ การละเมิดสิทธิเสรีภาพและการกลั่นแกล้งยังอาจส่งผลต่อทักษะการคิดขั้นสูงของนักเรียน
4.การปรับวัฒนธรรมการทำงานให้กล้าทำสิ่งใหม่ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศให้มี “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” เพื่อเป็นพื้นที่ทดลองนำร่องให้โรงเรียนและหน่วยงานในพื้นที่มีอิสระในการจัดการการศึกษามากขึ้น โดยปลดล็อกด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งในด้านวิชาการ การบริหารบุคลากร และการบริหารงบประมาณ ซึ่งพบว่าทำให้เกิดความตื่นตัวของภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ในการเข้ามาร่วมจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับพื้นที่ของตน และเห็นสัญญาณด้านบวกจากการที่ผู้อำนวยการและครูเข้าใจบทบาทและความต้องการในการพัฒนาทักษะของตนมากขึ้น และนักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้มากขึ้น จนทำให้มีจังหวัดต่างๆ มาเข้าร่วมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้วถึง 19 จังหวัด อย่างไรก็ตาม การทบทวนบทเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพบว่า มีพื้นที่และโรงเรียนบางส่วนที่ยังไม่กล้าใช้ประโยชน์จากความเป็นอิสระที่ได้รับ เช่น โรงเรียนบางแห่งยังไม่กล้าปฏิเสธโครงการที่ไม่ตรงกับเป้าหมายการเรียนรู้ตามหลักสูตรใหม่ของตน ไม่กล้าซื้อหนังสือเรียนนอกบัญชีของ สพฐ. เพื่อจัดการสอนตามหลักสูตรใหม่ และไม่กล้าคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาโดยวิธีทาบทาม ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนมีผู้อำนวยการที่มีคุณลักษณะที่โรงเรียนต้องการ เป็นต้น
5 ข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง เพื่อก้าวข้ามความท้าทาย
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) มี 5 ข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง และรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ว่าควรมีนโยบายดังนี้
1.ควรเร่งปรับให้มีหลักสูตรแกนกลางใหม่ภายใน 3 ปี โดยออกแบบให้เป็นหลักสูตรที่อิงกับฐานสมรรถนะ จากการเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนา และไม่ยอมให้กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มสามารถยับยั้งการปรับหลักสูตรได้ การจัดทำหลักสูตรแกนกลางใหม่อาจทำได้โดยการนำเอาร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการพัฒนามาก่อนหน้านี้มาปรับใช้ และทดลองนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งอนุญาตให้โรงเรียนนำร่องสามารถใช้หลักสูตรที่แตกต่างจากหลักสูตรแกนกลางที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการควรใช้ “คูปองครู” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะของครูให้สามารถนำหลักสูตรใหม่ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สามารถออกแบบการจัดประสบการณ์เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจากการลงมือทำจริง ให้พ่อแม่ผู้ปกครองหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ และให้นักเรียนร่วมตัดสินใจกับการเรียนรู้ของตนเอง ตลอดจนสามารถประเมินเพื่อพัฒนา (Formative Assessment) ได้
2.กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายและแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน โดยอาจนำข้อเสนอของธนาคารโลกร่วมกับ กสศ. เป็นจุดตั้งต้น และเสริมด้วยการให้แรงจูงใจแก่ครูในการย้ายไปสอนในโรงเรียนฮับ (Hub School) หรือโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (Small Protected School) พิจารณาปรับเกณฑ์การประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือวิทยฐานะของครู ตลอดจนยินยอมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำที่ดินหรือทรัพย์สินของโรงเรียนที่ถูกยุบหรือควบรวมไปใช้ประโยชน์ตามความต้องการของชุมชน
3.กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการและประสานหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาอื่น ให้ทบทวนและยกเลิกโครงการต่าง ๆ ที่มีอยู่ ซึ่งไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนหรือการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการสอนของครูตามหลักสูตรใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ควรเปิดให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้อำนวยการสถานศึกษาและครูเข้ามาร่วมตัดสินใจ หลังจากนั้นควรจัดสรรงบประมาณที่ได้มาจากการทบทวนและยกเลิกโครงการต่าง ๆ เหล่านั้นอีกครั้งให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ตามหลักสูตรใหม่
4.ประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษาในทันทีที่รับตำแหน่ง และรณรงค์ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของเด็ก โดยตระหนักถึงผลเสียจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพต่อพัฒนาการของเด็ก และให้เด็กทราบแนวทางปกป้องตนเองหากมีการละเมิด ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการสามารถบูรณาการมาตรการที่มีอยู่แล้วเข้าด้วยกัน เช่น โครงการสถานศึกษาปลอดภัย และศูนย์บริการประชาชน (กระทรวงศึกษาธิการ) เป็นต้น เสริมด้วยกลไกเพิ่มเติม เช่น ระบบการร้องเรียนที่ไม่เปิดเผยตัวตนผู้ร้อง ระบบการตรวจสอบเหตุ ระบบการส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นในกรณีไม่สามารถแก้ปัญหาได้ภายในโรงเรียน และกำหนดให้ความปลอดภัยในโรงเรียนเป็นหนึ่งในเกณฑ์การประเมินภายนอกของสถานศึกษา
5.สร้างตัวอย่างให้ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการมีวัฒนธรรมแบบใหม่ในการทำงาน ที่เปิดกว้างในการรับฟังความเห็น กล้าทดลองสิ่งใหม่ ไม่สั่งการจากเบื้องบนลงไปโดยไม่เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อโรงเรียน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอาจแสดงตัวอย่างโดยการไปรับฟังสภาพปัญหาของโรงเรียน ให้กำลังใจและสนับสนุนการดำเนินการของโรงเรียน และอาจจัดให้มีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่นวัตกรรมของครู จัดช่องทางประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้เมื่อครูกล้าทดลองสิ่งใหม่เพื่อพัฒนาสมรรถนะของเด็ก และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด โดยไม่นำความผิดพลาดมาลงโทษ หากไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรง
นโยบายการเมืองแบบไหน ? เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง
หลังจบการนำเสนอ TEP whitepaper ตัวแทนจาก 8 พรรคการเมือง ได้ขึ้นเวทีนำเสนอวิสัยทัศน์ “นโยบายแบบไหน เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง” โดยทุกพรรคมีความเห็นตรงกันใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. จำเป็นต้องปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการสอนให้เด็กนำความรู้ไปใช้จริงในชีวิตประจำวันและการทำงานได้ 2. ปรับวิธีการใช้จ่ายงบประมาณโดยค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กแล้วนำมาใช้ให้ตรงจุด 3. สร้างความปลอดภัยในโรงเรียน โดยมีมาตรการปกป้องสิทธิเสรีภาพของเด็กในโรงเรียน และ 4. เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานให้ข้าราชการกล้าทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน
นอกจากนี้ ตัวแทนพรรคการเมืองยังได้ตอบคำถามผู้เข้าร่วมในงาน และเสนอแนวคิดนโยบายการศึกษาของพรรคเพิ่มเติม โดย ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม พรรคเพื่อไทย ต้องการสร้างแพลตฟอร์ม Learn to Earn เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้เรียนและนำทักษะมาสร้างรายได้ให้ตนเอง โดยมุ่งเน้นทั้งกลุ่มนักเรียนและวัยทำงาน
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้กับพื้นที่และสถานศึกษา โดยจำเป็นต้องทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยและปลอดอำนาจนิยม
นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา พรรคประชาธิปัตย์ มองว่าการพัฒนาระบบการศึกษาไทยมีทุนตั้งต้นเดิมอยู่มาก และควรต่อยอดจากทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว เช่น ขยายการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นต้น
น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย มองว่าการเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรในระบบการศึกษา จำเป็นต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมืองก่อน และเสนอให้การเลือกรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มาจากเกมการเมือง แต่มาจากความเห็นร่วมกันของหน่วยงานทางการศึกษา
ดร.พรชัย มาระเนตร์ พรรคชาติพัฒนากล้า เห็นว่าต้องบูรณาการ Big Data เข้ามาในระบบการศึกษาให้ได้ เพื่อนำข้อมูลมาใช้สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนและการทำงานของสถานศึกษา
ผศ.ดร.บุญส่ง ชเลธร พรรคเสรีรวมไทย ต้องการให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการผลิตครูเป็นอันดับแรกเพื่อให้ประเทศมีครูที่มีทักษะในการผลักดันให้เด็กไทยก้าวทันโลก
ดร.กมล รอดคล้าย พรรคภูมิใจไทย มีความเห็นว่าระบบการศึกษาต้องก้าวข้ามปัญหาเดิมให้ได้เร็วที่สุดเพื่อรับมือกับปัญหาใหม่ในอนาคต เช่น เสนอให้ปรับการจัดสรรงบประมาณโรงเรียนแบบ Block Grant เพื่อให้โรงเรียนมีอิสระในการใช้งบประมาณ
ดร.นันทพร ดำรงพงศ์ พรรคชาติไทยพัฒนา มองว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานไทยควรนำจุดแข็งของประเทศมาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร การบริการและการท่องเที่ยว และการเกษตร เป็นต้น
เวที TEP Policy Forum เพื่อนำเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ดีเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคน และการกำหนดนโยบายการศึกษาที่เกิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง โดยภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) คาดหวังว่าจะเห็นพรรคการเมืองนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปปรับนโยบายการศึกษาให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น และพร้อมสนับสนุนหากรัฐบาลชุดต่อไปจะนำนโยบายเหล่านี้ไปใช้จริง เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ก้าวข้ามความท้าท้ายที่จะเผชิญในอนาคตได้