จังหวัดนครพนม เดินหน้าขับเคลื่อนการดูแลเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้จัดเวทีคืนข้อมูลเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาในแต่ละอำเภอ พร้อมทั้งแต่งตั้งแอดมินระดับอำเภอและตำบล เพื่อเร่งค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และกรอกข้อมูลเข้าสู่ระบบ Thailand Zero Dropout
ดำเนินการแล้วใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาแก, อำเภอศรีสงคราม, อำเภอปลาป่า, อำเภอธาตุพนม, อำเภอวังยาง, และอำเภอหน้าหว้า ส่วนอีก 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครพนม และอำเภอเรณูนคร ได้มีการคืนข้อมูลไปที่สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ประจำจังหวัด
จากการคืนข้อมูล พบว่า จำนวนเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในช่วงอายุ 3 ถึง 18 ปี มีทั้งสิ้น 7,500 คน โดยคณะทำงานมีการค้นหาและกรอกข้อมูลเข้าสู่ระบบ Thailand Zero Dropout ไปแล้วประมาณ 1,800 คน
นายอนิวรรต สีหา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ โครงการนครพนมโมเดล สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้สามารถผลักดันให้ “อำเภอนาแกเป็นอำเภอต้นแบบ” ที่สามารถค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาได้มากกว่า 80%
“การทำงานที่ผ่านมาทำให้ได้ทราบว่า เด็กนอกระบบการศึกษาในจังหวัดนครพนมกลุ่มที่มีความท้าทายมากที่สุดคือ กลุ่มเด็กที่ประสบปัญหายาเสพติด ซึ่งกลุ่มนี้มีปัญหาที่ละเอียดอ่อน”
“ภาคส่วนต่าง ๆ ของจังหวัดได้ร่วมกันจัดทำแผนช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ โดยออกแบบการดูแลที่เหมาะสมกับแต่ละคน เช่น การสนับสนุนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือการฝึกอาชีพ รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ห่างไกลจากสิ่งกระตุ้นที่ทำให้พวกเขากลับไปใช้ยาเสพติด และส่งเสริมให้ครอบครัวหรือชุมชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูดูแล”
การลงพื้นที่ไปค้นหาเด็กนอกระบบ ทำให้คณะทำงานมีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับเด็กและครอบครัว และทำให้ทราบว่าเหตุผลที่เด็กเหล่านี้ตัดสินใจออกจากระบบการศึกษานั้นแตกต่างกัน ข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยจะถูกรวบรวมและนำไปออกแบบการช่วยเหลือในลักษณะรายบุคคล
“เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาส่วนใหญ่ไม่อยากกลับมาเรียนในระบบปกติ แต่เมื่อได้ทราบจากตัวแทน อบต. ที่เข้าไปพูดคุยว่า ในปัจจุบันมีทางเลือกในการเรียนที่หลากหลาย เช่น การเรียนกับศูนย์การเรียน CYF (Children and Youth Development Foundation) ที่ร่วมมือกับ กสศ. คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครพนม สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่ได้พัฒนานวัตกรรมการเรียนในรูปแบบ ‘โรงเรียนมือถือ’ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตามความสนใจ”
“เมื่อเด็ก ๆ รู้ถึงทางเลือกนี้ บางคนที่เคยยืนยันว่าจะไม่กลับมาเรียนหนังสืออีกก็เริ่มเปลี่ยนใจและยินดีที่จะกลับมาเรียน”