KFC จับมือ กสศ. นำร่องสร้างหลักสูตรการเรียนที่ยืดหยุ่น เพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

KFC จับมือ กสศ. นำร่องสร้างหลักสูตรการเรียนที่ยืดหยุ่น เพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

การเรียนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน เคเอฟซีจึงร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ สร้างหลักสูตรการเรียนเพื่อสร้างการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตเด็ก เพราะเชื่อมั่นว่าเด็กไทยทุกคนมีศักยภาพที่หลากหลายและควรได้รับการสนับสนุนให้ค้นหาศักยภาพและพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นอาชีพได้  

เปิดเทอมใหม่ปีนี้ มีเด็กและเยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยหมดโอกาสกลับเข้าห้องเรียนเหมือนคนอื่น ๆ และต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ฐานข้อมูล กสศ. พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา ตั้งแต่ชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาปีที่ 6 มากถึง 1.02 ล้านคน จึงได้มีการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ติดตามนำเด็กที่ต้องหยุดเรียนกลางคันกลับเข้าสู่การศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตยุคปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย Zero Dropout ภายในปี 2570 อันเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลนี้

เคเอฟซี ประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของเป้าหมาย “Zero Dropout” จึงร่วมกับ กสศ. และศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ เดินหน้าสานต่อโครงการ KFC Bucket Search เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยเริ่มนำร่องมอบโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนจากกระบวนการยุติธรรม ได้เลือกการเรียนที่เหมาะสมกับตนเองแบบยืดหยุ่น ทั้งด้านเวลาและวิชาเรียน ผ่านทางเลือก Work & Study หรือหลักสูตรวิชาชีพที่ตอบสนองความต้องการของแต่ละคน ช่วยให้พวกเขาสำเร็จการศึกษาและพึ่งพาตนเองได้

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 เคเอฟซี ประเทศไทย ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิปัญญากัลป์ ได้เปิดตัวห้องเรียนเคเอฟซี และสร้างหลักสูตรนอกกรอบ หรือ “หลักสูตรทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ” โดยมี ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมเพื่อปลดล็อกกำแพงต้นทุนชีวิตให้กับเด็กไทย โดยเป็นการนำร่องการศึกษายืดหยุ่นที่เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านการทำงานและเรียนไปพร้อมกัน เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการทำงานกับเคเอฟซี รวมถึงได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการ ตั้งแต่งานหลังร้านไปจนถึงงานบริการ ตัวอย่างวิชาเรียน เช่น ด้วยใจรักนักบริการ ที่จะเรียนรู้เรื่องของงานบริการในร้านอาหาร รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ หรือวิชาจักรวาลภาษาในโลกธุรกิจเพื่อให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษเบื้องต้นในการทำงาน และที่พิเศษอีกวิชาของเคเอฟซีคือ ตัวตึงวงการอาหาร และปรมาจารย์ด้านการครัว ที่จะทำให้เข้าใจมาตรฐานการทำสินค้าให้อร่อยถูกสุขลักษณะในทุกคำ

นายเศกไชย ชูหมื่นไวย กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
และประธานมูลนิธิเคเอฟซี

นายเศกไชย ชูหมื่นไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และประธานมูลนิธิเคเอฟซี กล่าวว่า “เปิดเทอมนี้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  เคเอฟซีจึงริเริ่มหลักสูตร KFC ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ โดยเป็นเอกชนแบรนด์แรกในการนำร่องการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น และมีเด็กเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อมอบโอกาสให้เด็กได้เลือกเรียนตามความสนใจและความเหมาะสมของตัวเด็กเอง” 

นายเศกไชย กล่าวเสริมว่า โครงการ KFC Bucket Search จะสร้างประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะจำเป็นเหมาะสมกับการทำงานในตลาดงานยุคปัจจุบันและอนาคต ด้วยหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการทำงานจริง พร้อมทั้งได้รับความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในปัจจุบันและอนาคต โครงการนี้สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบให้ภาคเอกชนอื่น ๆ ที่มีวิสัยทัศน์คล้ายคลึงกันสามารถเข้ามาร่วมแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาด้วยกันได้ ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายที่จะขยายผลโครงการเพื่อมอบโอกาสให้เด็กที่หลุดออกจากระบบในพื้นที่ 40 จังหวัดทั่วไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่วยให้เด็ก ๆ ได้นำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอดอาชีพการงาน สร้างรายได้เลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาควบคู่กับการทำงานให้แก่เด็กนอกระบบ เป็นหนึ่งในมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout เนื่องจากภาคเอกชนมีความสามารถที่เข้มแข็งกว่าภาครัฐในการเชื่อมโยงระหว่างโลกของการศึกษากับโลกของการทำงาน จากการวิจัยสำรวจของ กสศ. ในกลุ่มเด็กนอกระบบ 35,003 คนทั่วประเทศ พบว่า เด็กประมาณร้อยละ 50 มีความต้องการได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพและสนับสนุนการประกอบอาชีพที่โดดเด่นขึ้นมา แสดงถึงแรงจูงใจภายในที่เห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพมากกว่ามุ่งเป้าหมายไปที่การได้รับการศึกษาแต่ไม่ตอบโจทย์ชีวิต ดังนั้นหลักสูตรการศึกษาใหม่ที่ KFC ได้ร่วมพัฒนากับ กสศ. จึงถือเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิต รวมถึงเป็นรูปธรรมสำหรับครูในโลกยุคใหม่ ทำให้ทุกคนที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ สามารถเป็นครู เป็นผู้สร้างการเรียนรู้ และช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้

ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่า การทำงานกับเคเอฟซีในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า เอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงกับชีวิตของเด็กได้ การทำงานกับเด็กนอกระบบการศึกษา ถือเป็นการทำงานกับกลุ่มที่ยากมาก เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่ต้องการโอกาสที่สอง เพื่อที่จะกลับมาสู่ระบบการศึกษา แต่การกลับมาครั้งนี้จะไม่ใช่เรื่องของการใช้วิชาการเป็นตัวนำ แต่เป็นเรื่องของการใช้วิชาชีพที่ตรงกับทักษะตรงกับสมรรถนะและเป็นวิชาที่นำไปใช้ประกอบอาชีพในชีวิตจริงได้ มาเป็นตัวเชื่อมระหว่างเด็ก กสศ. เคยสำรวจความต้องการของเด็กกลุ่มนี้ พบว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย อาชีพที่พวกเขามองหา คืออาชีพที่ทำให้มีรายได้อย่างรวดเร็ว และเป็นอาชีพที่ช่วยทำให้พวกเขามีความมั่นคงได้ในอนาคต

“จากข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มเด็กเกิดใหม่น้อยลง จำนวนแรงงานลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นถ้าเราไม่ทำเรื่องการศึกษายืดหยุ่นในวันนี้ ในอนาคตข้างหน้าจะมีจำนวนคนให้เราพัฒนาน้อยลงอย่างต่อเนื่อง หากยังปล่อยให้เด็กหลุดออกจากการศึกษาในวันนี้ ก็จะยิ่งมีคนเข้าสู่กำลังแรงงานน้อยลงไปอีก เราต้องช่วยให้พวกเขากลับมาสู่โอกาสที่จะหลุดออกจากความยากจน ด้วยการศึกษาที่เหมาะสมและคำนึงถึงข้อจำกัดของพวกเขา”

ดร.ไกรยส ระบุว่าหากประเทศไทยสามารถยุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จนกระทั่งทำให้จำนวนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์ได้ (Zero Dropout) จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 1.7 ของ GDP เนื่องจากรายได้ตลอดชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นของเด็กและเยาวชนที่มีการศึกษาสูงขึ้น

“ทุกหน่วยงานด้านการศึกษา ทราบดีว่า การทำงานกับเด็กนอกระบบการศึกษา ถือเป็นการทำงานกับกลุ่มที่ยากที่สุด และต้องใช้ความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น จึงอยากให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโจทย์การทำงานนี้แบบที่เคเอฟซีกำลังทำอยู่ ความยากของโจทย์การทำงานนี้ ถือเป็นความท้าทาย ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด เด็กและเยาวชนที่ได้รับความช่วยเหลือจะได้ประโยชน์สูงสุด เอกชนที่เข้ามาช่วยก็จะได้ประโยชน์สูงสุด และสุดท้ายสังคมก็ได้ประโยชน์สูงสุดเช่นกัน”

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นดำเนินโครงการ KFC Bucket Search ปี 2566 มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 130 คน ได้มีโอกาสกลับเข้าสู่สังคมโดยมีทางเลือกที่เริ่มจากตัวเยาวชนเอง ซึ่งช่วยให้เยาวชนสามารถเข้าเรียนตามเงื่อนไขชีวิต และที่สำคัญสามารถเรียนตามความสนใจและถนัดของตนเองได้ 

ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กสศ. และเคเอฟซี ได้ตั้งเป้ายกระดับชีวิตของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวน 300 คน ภายในปี 2567 ผ่านการจุดประกายความหวังด้านการศึกษา และเปิดประตูสู่อาชีพที่ดีในอนาคต ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ทุกศักยภาพไม่ควรถูกทอดทิ้ง”