การมาถึงของโควิด-19 ไม่เพียงสร้างผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนตัวเร่งปรากฏการณ์ Disruption ในมิติต่างๆให้มาถึงเร็วขึ้น แม้แต่ในภาคการศึกษาก็ถูกเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปตลอดกาลโดยแทบไม่มีใครทันได้ตั้งตัว
ในบรรยากาศเช่นนี้ มีโจทย์ใหญ่ที่สถาบันการศึกษาต้องตระหนักถึงและเตรียมพร้อมอะไรบ้าง รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้สะท้อนข้อสังเกตผ่านเวทีนโยบาย ‘โควิด 19 : ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย’ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ไว้หลายประเด็นอย่างน่าสนใจ
“เราต้องเห็นถึงอนาคตความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อให้คนของเรา นักศึกษาของเรา คนทำงานของเราตระหนักนึก เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องเตรียมพร้อม ทั้งในส่วนที่ยังอยู่ในสถาบันการศึกษาและในวัยที่ทำงานแล้วในตอนนี้”
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้การศึกษาเปลี่ยนไปอย่างมาก ที่ชัดเจนที่สุดคือเปลี่ยนไปสู่ ‘ระบบออนไลน์’ ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นปัญหาใหญ่อย่างน้อย 3 ด้าน ที่เกิดขึ้น
หนึ่ง ความไม่พร้อมของฮาร์ดแวร์หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่สอดคล้องกับการเรียนออนไลน์ ซึ่งพบปัญหาทั้งฝั่งสถาบันการศึกษาและฝั่งผู้เรียน
สอง ซอฟต์แวร์หรือสื่อการสอน เพราะมีข้อจำกัดที่แตกต่างจากการเรียนที่ผู้เรียนและผู้สอนเจอหน้ากัน จึงเป็นปัญหาว่าจะใช้สื่อการสอนแบบไหนที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ
สาม ฮิวแมนแวร์ มีปัญหาหลายระดับ ที่พบมากคือครูผู้สอน เพราะบรรยากาศสอนหน้าห้องต่างจากออนไลน์ เทคนิค ศิลปะการสอนจะเรียกความสนใจ ทำให้เกิดความอยากเรียนรู้ต่อเนื่องได้อย่างไร
“การเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์ยังมีข้อจำกัดในสาขาที่ต้องใช้แล็บและการฝึกงาน ยิ่งถ้าเป็นสถาบันที่เน้นเรื่องการเรียนและฝึกงานไปพร้อมกัน การไปดูงานการทำงานของนักศึกษา หรือการวิจัยที่สอดคล้องกับการทำงานจริง ช่วงที่โควิดระบาดได้ทำให้สิ่งเหล่านี้มีปัญหามากขึ้น”
สำหรับโลกยุคหลังโควิด-19 รศ.ดร.สมภพ มองว่า มีโจทย์ที่ต้องตระหนักและเตรียมพร้อมในสถาบันการศึกษา เพราะมีสิ่งเหล่านี้ที่ต้องเผชิญแน่นอน ได้แก่ Digitalization ที่จะไปเร็วมาก เรื่องไอทีจึงจะสำคัญมากทั้งสำหรับผู้ที่จบไปแล้วและยังศึกษาอยู่ ต่อมาคือ การเกิดขึ้นของ The new industrialization, Financialization, Medicalization, Virtualization, Climate lization, การต่อสู้เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และสุดท้ายคือ Disruption ต่างๆ
เมื่อตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่สถาบันการศึกษาจะต้องเตรียมให้พร้อมมีอย่างน้อย 11 เรื่อง คือ
- Communication ทักษะด้านการสื่อสาร
- Socialization เพิ่มโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
- Human Relationship
- เพิ่มทักษะต่างๆ
- เพิ่มความมุ่งมั่น
- สร้างแรงบันดาลใจ
- เป็นคนมีวิสัยทัศน์
- เป็นคนมีจินตนาการ
- ต้องคิดเชิงวิพากษ์นอกกรอบเป็น
- มีความคิดเชิงสร้างสรรค์
- มีความเป็นผู้นำ
“นี่คือ 11 เรื่องที่ต้องสร้าง เพื่อเด็กๆจะได้มองเห็นอนาคตของเขา จะทำให้เขามีแรงจูงใจในการศึกษามากขึ้น” รศ.ดร.สมภพ ระบุ