“ภูเก็ต ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 ทำให้เกิดอาการ ‘จนเฉียบพลัน’ จากเมืองท่องเที่ยวที่เคยทำรายได้ 33,000 บาทต่อครอบครัวโดยเฉลี่ย แต่พอเกิดโรคระบาด ธุรกิจแทบทั้งหมดกลายเป็นศูนย์ รายได้ประชากรลดลงมาเหลือที่ 1,961 บาท เป็นเกณฑ์คนจนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของประเทศไทย”
เสียงสะท้อนจาก อัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต ผ่านเวทีนโยบาย ‘โควิด 19 : ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย’ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยยุคหลังโควิด-19 จะไม่ใช่โลกที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป แม้แต่พื้นที่เป้าหมายของตลาดแรงงานที่เคยมีความคึกคักทางเศรษฐกิจสูงยังต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างต่อเนื่องและยาวนานถึงปัจจุบัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไข รวมถึงการวางยุทธศาสตร์ใหม่ทั้งในระยะกลางและระยะยาว
เพื่อทบทวนสถานการณ์และค้นหาก้าวต่อไปในการเผชิญหน้ากับวิกฤตโควิด-19 บทเรียนจาก ‘ภูเก็ต’ คือภาพสะท้อนพลังความร่วมมือ ร่วมคิด และร่วมทำ ของคนในพื้นที่ด้วยเป้าหมายเดียวกันว่า เมื่อถึงวันที่การระบาดของโรคสงบและโอกาสครั้งใหม่มาถึง พวกเขาจะสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ด้วยจังหวะก้าวที่ไกลกว่าเดิม
อัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย ได้ให้ภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจและท้องถิ่น โดยยกตัวอย่างจังหวัดภูเก็ตว่า เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะสิ่งที่ต้องเผชิญถือว่าหนักหน่วงมากและไม่มีใครเคยนึกว่าจะต้องใช้ระยะเวลานานมากขนาดนี้ในการเยียวยาและฟื้นฟู
จากประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. พบว่า วัยแรงงานช่วงอายุ 15-21 ปี ต้องเจอกับภาวะการตกงานสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เฉพาะในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 อยู่ที่ 17.3 % แต่ที่น่ากลัวกว่านั้น คือยังมีกลุ่มคนที่เสมือนว่างงานเป็นช่องว่างให้ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะบางคนยังถือว่าได้รับการจ้างงาน แต่เป็นแบบ Leave without pay กลุ่มนี้มีประมาณ 40,000 คน หรือบางคนได้ข้อเสนอให้ลดเวลาทำงานซึ่งหมายถึงรายได้ที่ลงตามมาด้วย เช่น ให้ทำเพียง 10 วันต่อเดือน แต่ก็ต้องทำเพื่อประคองชีวิตไปให้ได้จนกว่าสถานการณ์จะฟื้นกลับมา ทั้งในส่วนของผู้จ้างและผู้ใช้แรงงาน
“สิ่งที่พวกเราทำเพื่อรับมือสถานการณ์เหล่านี้ อันดับแรกคือวางกลยุทธ์ร่วมกันในจังหวัดภูเก็ต จากนั้นภาคีเครือข่ายจึงแยกไปทำงานเพื่อช่วยเหลือตามบทบาทหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็น อบจ.ภูเก็ต สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หรือกระทั่งคนที่ตกงานก็มาช่วยคนที่ตกงานด้วยกันในการ Reskill เพื่อสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการมากขึ้น เพราะเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ฟื้นกลับมาจะได้สามารถทำงานได้ทันที เดิมแรงงานไทยส่วนใหญ่จะนิยมทำงานหน้าที่เดียว เช่น แม่บ้านจากแค่ต้องรีดผ้าปูเตียง เมื่อ Reskill จะต้องทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าล้างแอร์ ทำความสะอาดสระน้ำ เรามีการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ร่วมกัน โดยได้รับความร่วมมือดีมากจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดภูเก็ต วิทยาลัยอาชีวะ และวิทยาลัยเทคนิค ซึ่งเป็นประโยชน์มาก”
อัญชลี กล่าวต่อไปว่า ที่กล่าวมาเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ซึ่งแต่ละหมัดจะต้องออกไปให้ตรงเป้า เพราะเราเสียเวลาและทรัพยากรไม่ได้อีกแล้ว โควิด-19 ทำให้รู้ว่า หลังจากนี้ ภูเก็ตจะอาศัยการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป เราจึงเริ่มพูดถึงเป้าหมายการเป็น Digital City เพื่อเพิ่มศักยภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องออกแบบให้ครอบคลุมไปถึงเด็กที่ด้อยโอกาสไม่ให้แปลกแยกกับเทคโนโลยี ตรงนี้คือโจทย์ที่ต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไร อีกเรื่องหนึ่งที่พื้นที่คิดกันมากคือเรื่องเกษตรแม่นยำ เนื่องจากโควิด-19 ทำให้มีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไม่น้อย และส่วนใหญ่ไปสู่ภาคเกษตรมากขึ้น ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้การเกษตรยกระดับขึ้นไปเป็นเกษตรอัจฉริยะหรือเกษตรแม่นยำได้ ซึ่งตรงนี้ไม่ยากเพราะตรงนี้เด็กที่หลุดออกไปมีใจในเรื่องนี้อยู่แล้ว