เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘การสร้างและการเข้าถึงความเท่าเทียม’ ในประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภายในงาน ‘เวทีสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน’ ณ ห้อง Royal Jubilee ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดโดยสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สํานักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สํานัก 3) ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายภาค (ศวภ.) สํานัก/ฝ่ายของ สสส. และภาคีร่วมสร้างปฏิบัติการสุขภาวะชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสานพลังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสุขภาวะชุมชน
ช่วงหนึ่งของการเสวนา ดร.ไกรยส กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปัจจุบันว่า ถึงแม้ความเหลื่อมล้ำจะมีมานานก่อนการมาถึงของโควิด-19 ทว่าสถานการณ์โรคระบาดกลับยิ่งส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
ผลพวงจากพิษเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุคโควิด-19 หลายครอบครัวต้องประสบปัญหาการเงิน ทำให้จำนวนเด็กยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของเด็กยากจนพิเศษอยู่ที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยวันละ 34 บาทเท่านั้น ซึ่งความยากจนเฉียบพลันนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
จากการสำรวจข้อมูลของ กสศ. เกี่ยวกับสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษ ตั้งแต่ปี 2563-2565 ระบุว่า จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน ขณะที่ปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นเป็น 1,307,152 คน
ต่อมา ดร.ไกรยส กล่าวเสริมในประเด็น ‘ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา’ อันเนื่องมาจากการหยุดเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยชี้ว่าต้องเร่งฟื้นฟูปัญหาเรื่องทักษะทางการเรียนรู้ที่ขาดหายในเด็กอย่างเสมอภาค หากไม่แก้ไขและฟื้นฟูอย่างเท่าเทียม จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก
ข้อมูลจากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จากโรงเรียน 74 แห่ง ใน 6 จังหวัดของภาคใต้ เกี่ยวกับพัฒนาการทางร่างกายของนักเรียน หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบุว่า 98 เปอร์เซ็นต์ของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีแรงบีบที่มือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน และส่งผลให้เด็กอีก 50 เปอร์เซ็นต์ จับดินสอไม่ถูกวิธี อันเนื่องมาจากปัญหากล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง
นอกจากโควิด-19 จะส่งผลกระทบทางกายแล้ว ยังส่งผลกระทบทางจิตใจให้กับนักเรียนด้วย ซึ่งเป็นปัญหาที่มีนัยสำคัญต่อระบบการศึกษาและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ข้อมูลจาก ‘รายงานสรุปการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคม สำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก’ ปี 2565 โดยองค์การ UNICEF ประเทศไทย ระบุว่า เยาวชนไทยอายุระหว่าง 10-19 ปี มีความผิดปกติทางจิตและมีพัฒนาการที่ผิดปกติ 1 ใน 7 คน ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง ดังนั้นเยาวชนเหล่านี้จึงควรได้รับบริการด้านจิตใจและจิตสังคมเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ดร.ไกรยส ยังกล่าวว่า ไม่เพียงปัจจัยด้านเศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำแล้วนั้น ปัจจัยด้านครอบครัวก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้าถึงการศึกษา จาก ‘รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2565’ จัดทำโดย กสศ. ได้สำรวจสถานภาพครอบครัวของเด็กยากจนพิเศษในปีการศึกษา 2565 พบว่า มีเด็กกว่า 41 เปอร์เซ็นต์ ที่พ่อแม่หย่าร้าง และไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ 37.25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เชื่อมโยงกับโครงสร้างครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้สถานภาพของครอบครัวที่มั่นคงจึงมีผลโดยตรงต่อการดูแลเด็กคนหนึ่งให้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ ในเวทีเสวนาหัวข้อ ‘การสร้างและการเข้าถึงความเท่าเทียม’ นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่นำเสนอโดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท แล้ว ยังประกอบด้วยประเด็นสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ‘คนจนเมือง’ โดย กฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ‘คนไร้สัญชาติ’ โดย สันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล และ ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ โดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมสร้างสังคมสุขภาวะที่เท่าเทียมในสังคมไทยต่อไป