เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในหัวข้อ ‘การวางแผนและจัดการทำแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานด้านการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ’ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงงานวิจัยระดับนานาชาติที่จัดทำโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งเป็นการมองการศึกษาทั้งในประเทศไทยและโลกในอนาคต
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ ชี้ให้เห็นว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า การศึกษาของโลกในอนาคตจะเปลี่ยนไปจากอดีตที่ผ่านมาในทิศทางที่ยากจะคาดเดา เนื่องจากมีปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงซึ่งส่งผลต่อการจัดการศึกษา โดยเฉพาะ ‘ปัจจัยปั่นป่วน’ ที่เป็นตัวบดขยี้ (disruptors) ซึ่งเป็นสิ่งที่มิอาจคาดการณ์ และสามารถพลิกโฉมการศึกษาและสังคมได้ ภาพตัวอย่างชัดเจนที่เกิดขึ้นแล้ว คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และการระบาดของโรค COVID-19
ภาพรวมของการศึกษาในระดับโลกมีแนวโน้มเลื่อนเข้าสู่การศึกษาในระดับสูง (higher education) มากขึ้น ส่วนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลง หรือผ่านจุดสูงสุดของความเหลื่อมล้ำมาแล้ว แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่า ประชากรกลุ่มเปราะบางในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชาติพันธุ์ ฯลฯ มีแนวโน้มเผชิญกับความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย รวมถึงประเทศที่ยังไม่ได้พัฒนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อการดำรงชีวิตของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ เพราะตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัย (aging society) ที่ทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวต้องดิ้นรนหาความรู้ใหม่ที่อยู่นอกเหนือการศึกษาในระบบ
ปัจจุบันองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของเด็กและเยาวชนทั่วโลกมีการจัดทำชุดข้อมูลเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาในระดับโลก สิ่งที่น่าสนใจคือ ขณะนี้นานาชาติมองภาพการศึกษาไปไกลถึงปี 2050 มิใช่เพียงเป้าหมายระยะสั้น 5-10 ปี
“การมองภาพการศึกษาในระยะสั้นเกินไป จะทำให้มุมมองถูกตรึงไว้ด้วยความเชื่อ อุปสรรค และความกังวล การคิดหรือวางแผนเพื่อไปให้ถึงภาพฝันจึงมักมองเพียงประเด็นที่คิดว่าน่าจะทำได้แน่ ๆ ดังนั้น หากประเทศไทยจะสร้าง Game Changers in Education ก็ไม่ควรตั้งเป้าหมายไว้สั้นจนเกินไป
“การมองเป้าหมายการศึกษาในระดับที่เหมาะสม เช่น 20 ปีข้างหน้า เหมือนระดับนานาชาติ จะทำให้คนทำงานกล้าวาดภาพฝันที่ต้องการให้เกิด แล้วค่อย ๆ ทอนระยะกลับมา เพื่อให้เห็นว่าหากจะไปให้ถึงภาพฝันนั้น ยังพอมีเวลาที่จะทำอะไรบ้างในช่วง 10 ปี 5 ปี 3 ปี และ 1 ปีข้างหน้า”
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ ให้ความเห็นว่า การมองฉากทัศน์ของการศึกษาในอนาคตให้เกิดประโยชน์ คณะทำงานจำเป็นต้องมองเห็นปัจจัยที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพื่อเปลี่ยนโฉมการศึกษาตามบริบทของพื้นที่ และหยิบเอาปัจจัยเหล่านั้นมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทุกปัจจัยสามารถเป็นได้ทั้งพระเอกและผู้ร้ายในการเปลี่ยนโฉมการศึกษาในอนาคตได้ทั้งสิ้น