วันที่ 11 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ผ่านแนวทางต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นายกรัฐมนตรี ระบุเรื่องนี้ผ่านนโยบายด้านการศึกษาว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศ ซึ่งถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้อย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาสังคมและการเมืองยังคงยืดเยื้อ ฝังรากลึก และยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายด้าน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ปัจจัยภายนอกที่เกิดจากสภาวะการแข่งขันในภูมิภาคและสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั่วโลก โดยกรณีนี้ได้สร้างความท้าทายต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะต้องกำหนดทิศทางในการพัฒนาจุดแข็งของประเทศ โดยคำนึงถึงปัญหาด้านต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนมีประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่รอการช่วยเหลือจากรัฐมากกว่า 14 ล้านคน
นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีคนสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจจากการลดลงของสัดส่วนประชากรช่วงวัยทำงาน จึงจำเป็นต้องสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อมาทดแทนจำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนาด้านการศึกษาจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากความท้าทายเชิงปริมาณแล้ว การศึกษาของประเทศไทยยังมีความท้าทาย เชิงคุณภาพที่ยังไม่สามารถผลิตบุคลากรให้ตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ นักเรียนนักศึกษาที่เรียนจบใหม่ไม่สามารถหางานทำที่ตรงกับสายงาน หรือจำเป็นต้องทำงานในสายงานที่มีรายได้ต่ำกว่าความสามารถทางวิชาชีพ
ทั้งนี้ ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความยากลำบากได้ส่งผลให้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ สร้างวิกฤตศรัทธาของประชาชน จึงเป็นเป้าหมายของรัฐบาลนี้ที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ด้วยการสร้างความพร้อมและวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับคนไทยทุกคน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
สำหรับนโยบายด้านการศึกษา รัฐบาลจะปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ จัดทำหลักสูตรและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยไม่ละเลยการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศ และการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม
รัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อคุณภาพของครูทั้งประเทศ รวมไปถึงครูแนะแนว เพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับคำแนะนำด้านเนื้อหาของวิชาการและการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกเรียนและประกอบอาชีพ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียนทุกคน นอกจากนี้รัฐบาลจะส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ทั้งสายวิชาการและสายอาชีพให้มีรายได้จากวิชาที่เรียน มีโอกาสฝึกงานระหว่างเรียน เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถตรงต่อความต้องการของการจ้างงาน และจะดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย