เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่ Club45 resort and convention hall จ.อุบลราชธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ KFC ประเทศไทย กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิปัญญากัลป์ เปิดวงพูดคุยเพื่อออกแบบการจัดทำหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งสร้างทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิตสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุบลราชธานี สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 จังหวัดอุบลราชธานี บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานี ศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี สภาการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอต้นทุนทรัพยากรที่มี เพื่อวางแนวทางเชื่อมโยงเครือข่าย สร้างเครื่องมือและจัดทำระบบการทำงานร่วมกัน
ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจาก KFC ประเทศไทย ร่วมจับมือกับ กสศ. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และมูลนิธิปัญญากัลป์ ขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout แก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ผ่านโครงการ KFC Bucket Search ด้วยเชื่อว่าทุกศักยภาพไม่ควรถูกทอดทิ้ง เมื่อเดือนธันวาคม 2566 และได้จัดกิจกรรมนำร่อง ‘บักเก็ตเสิร์จคลับ คลับของเด็กนอกกรอบ’ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนจากกรมพินิจฯ 130 คน ได้เรียนรู้การพัฒนาสมรรถนะเพื่อนำไปต่อยอดชีวิต


ด้วยความตั้งใจของโครงการ ซึ่งต้องการทำงานร่วมกับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมอย่างยั่งยืน นำมาสู่การพูดคุยครั้งนี้ที่ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายคณะทำงานจังหวัดอุบลราชธานี ในการระดมทรัพยากรและหาแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของเด็กเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการจัดการศึกษาผ่านการฝึกอบรมอาชีพ ที่มีระบบ Cradit Bank หรือธนาคารหน่วยกิต ที่จะช่วยต่อยอดการเรียนรู้ไปสู่การศึกษาต่อได้อย่างยืดหยุ่นและมีวุฒิการศึกษาสำหรับการประกอบอาชีพ ซึ่งจะเป็นการสร้างต้นแบบการทำงานในระยะยาวสำหรับจังหวัดอบุลราชธานี และพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

นางจารุวรรณ บุญโต ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุบลราชธานี อำนาจเจริญ กล่าวว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีหน้าที่ดูแลกำกับการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ภายใต้หลักการพัฒนาคุณภาพเด็กเยาวชนในทุกรูปแบบ เพื่อพัฒนาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยนอกจากสถานศึกษา ต้องดึงมือของชุมชน บุคคล และหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา
“วันนี้เราต้องยอมรับว่าเด็กเยาวชนทุกคนมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของประเทศ เมื่อไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว ขณะที่อัตราการเกิดประชากรน้อยลง กว่าที่เราจะเลี้ยงดูผลักดันให้เด็กคนหนึ่งเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ต้องไม่ลืมว่าเขาจะต้องเผชิญความเสี่ยง ความไม่ปลอดภัยในสังคม หรือมีเส้นทางที่หักเหมากมาย ฉะนั้นการปล่อยให้โรงเรียนหรือหน่วยงานด้านการศึกษาเป็นเพียงฝ่ายเดียวที่มีหน้าที่จัดการศึกษาจึงไม่เพียงพอ เราจึงต้องจับมือพูดคุยกัน ร่วมมือกันสร้างรูปแบบการศึกษาที่จะไม่ทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งไว้ข้างหลัง และไม่ยอมให้โอกาสของการพัฒนาบุคลากรคุณภาพลดน้อยลงไปอีก
“การที่ทุกฝ่ายมาร่วมกันในวันนี้ หมายถึงเราต่างเชื่อในเรื่องเดียวกัน ว่าเด็กทุกคนหากได้รับการดูแลเอาใจใส่ ได้รับการจัดการศึกษาที่เหมาะสม พวกเขาจะเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ กิจกรรมออกแบบและการจัดทำแผนการจัดการเรียนการสอน สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยความร่วมมือระหว่างกรมพินิจฯ กสศ. KFC และมูลนิธิปัญญากัลป์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความร่วมมือ ที่ทุกภาคส่วนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะได้มาแลกเปลี่ยนต้นทุนทรัพยากร นำเสนอการทำงาน เพื่อแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพให้ไปถึงเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเราต่างทราบดีว่าเยาวชนกลุ่มนี้มีเงื่อนไขและความจำเป็นบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถอยู่ในการศึกษารูปแบบปกติได้ การจัดการศึกษาจึงต้องมองให้พ้นจากการไปโรงเรียน หรือเป็นการจัดการศึกษาเชิงรุกที่ตั้งต้นด้วยความชอบความสนใจและความถนัดเฉพาะทาง
“ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เรายินดีอย่างยิ่งที่จะนำหลักสูตรต่าง ๆ ที่ออกแบบขึ้น ทั้งในส่วนความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต้องมี รวมถึงถึงความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพที่จะร่วมทำกับสถานประกอบการ มาพัฒนาต่อยอดในทิศทางที่เหมาะสม เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางโอกาสสำหรับเด็กเยาวชนทุกคนในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในจังหวัดอุบลราชธานี และขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ”

นางสาวแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล Senior Marketing Manager มูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย กล่าวว่า KFC ให้ความสำคัญกับการ ‘พัฒนาคน’ โดยไม่เพียงใส่ใจกับผู้ร่วมงาน แต่มีหลายโครงการที่ทำต่อเนื่องในเรื่องของการ ‘ให้โอกาส’ สำหรับผู้ที่มีความต้องการ ซึ่งโอกาสทางการศึกษาเป็นหนึ่งในนั้น โดยระหว่างทางของการทำงาน KFC ได้พบกับ กสศ. อันเป็นที่มาของการทราบข้อมูลเชิงลึก ว่าประเทศไทยยังมีเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีเด็กอีกหลายกลุ่มที่มีพื้นเพเรื่องราวแตกต่างหลากหลาย หากแต่มีศักยภาพในตัวเองที่ยังต้องการให้สังคมมองเห็น
“เราพบว่าระบบโรงเรียนไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง แต่สำคัญที่สุดคือการนำเด็กเยาวชนเหล่านนี้กลับคืนสู่สังคมเฉกเช่นคนทั่วไป จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับ กสศ. และเครือข่ายที่มีเป้าหมายเดียวกัน โดยสำหรับ KFC ที่มีหลักสูตรการพัฒนาทักษะอาชีพ ซึ่งเปรียบได้กับ ‘โรงเรียน’ ในรูปแบบหนึ่ง รวมถึงยังมีสาขาร้านค้าทั่วประเทศกว่าพันสาขา เราคิดว่าโปรแกรมหรือหลักสูตรที่กำลังจะพัฒนาร่วมกันเป็นรูปเป็นร่างขึ้น KFC จะเป็นพื้นที่ปลายทางหนึ่ง ให้น้อง ๆ มีอาชีพ และเป็นช่องทางของการกระจายการศึกษาไปในระดับท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น
“ทั้งนี้ KFC มีสองระบบใหญ่ ๆ ที่เป็นต้นทุนการทำงานกับเยาวชนผู้ต้องการโอกาส อย่างแรกคือ Work and Study หรือเรียนและทำงานไปด้วย กับสองคือ Special Needs คือฝึกวิชาชีพเต็มรูปแบบ โดยทั้งสองอย่างนี้มุ่งให้ผู้เรียนรู้ได้ค้นหาสิ่งที่ชอบและถนัด เพื่อโอกาสเติบโตในสายงานระยะยาว”Senior Marketing Manager มูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย กล่าวว่า การค้นหาตัวเอง พัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ รวมถึงการฟื้นฟูดูแลด้านจิตใจ คือสิ่งที่จะช่วยนำพาเด็กเยาวชนคนหนึ่งไปสู่การมีเป้าหมายชีวิต ซึ่งทางมูลนิธิ KFC มองว่าถ้าดึงการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายเข้ามาได้มากขึ้น จะสามารถสร้างระบนิเวศของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสู่การประกอบอาชีพที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานให้เป็น ‘หน่วยกิต’ การศึกษา เพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้มีวุฒิต่อยอดการทำงานในอนาคต


กองพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็กและเยาวชน
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
นายยุทธศักดิ์ รุ่งเรืองนรา ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การจัดการศึกษาให้เด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เป็นอีกภารกิจหนึ่งของกรมพินิจฯ โดยรวมอยู่ในกระบวนการบำบัดฟื้นฟู ที่มีทั้งการจัดการศึกษาเพื่อวุฒิการศึกษาผ่านกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) มีการฝึกอบรมอาชีพ การจัดโปรแกรมเฉพาะสำหรับน้อง ๆ ที่มีปัญหาในแต่ละด้าน มีกิจกรรมส่งเสริมทักษะสังคม นันทนาการ หรือสิ่งจำเป็นที่เยาวชนต้องได้รับตามช่วงวัย และโดยเฉพาะที่ผ่านมา กรมพินิจฯ ได้ร่วมมือกับ กสศ. ริเริ่มโครงการด้านการศึกษาเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ในปี 2563 โดยนำ ‘การจัดการศึกษานอกระบบ’ และ ‘การศึกษาตามอัธยาศัย’ มาปรับหลักสูตรให้เกิดระบบศูนย์การเรียน ที่สถานพินิจฯ จังหวัดนครพนม ด้วยความร่วมมือของศูนย์การเรียน CYF และมีเยาวชนสนใจร่วมเรียนรู้มากกว่า 2,400 คน จนพบว่าการจัดการลักษณะดังกล่าวมีความยืดหยุ่น ช่วยให้เยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เรียนรู้ต่อเนื่อง และมีโอกาสจบการศึกษาเพิ่มขึ้น รวมถึงยังเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถพัฒนาต่อยอดความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ และภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดการเรียนรู้

รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ.
นางสาวนิสา แก้วแกมทอง รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า กสศ. และ กรมพินิจฯ มีเป้าหมายร่วมกันคือต้องการสร้างโอกาสให้กับเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ให้มีทางเลือกทางการศึกษาเพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากลู่เดียวที่ สกร. หรือ กศน. เดิม มีภารกิจดูแลอยู่ โดยรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่พัฒนาขึ้น จะมุ่งส่งเสริมผลักดันให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ มีการส่งต่อสู่เส้นทางอาชีพ รวมถึงสามารถนำความรู้ประสบการณ์มาเทียบโอนเป็นวุฒิการศึกษาได้
“กสศ. ทำงานนำร่องในปี 2565 ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 อุบลราชธานี และสถานพินิจฯ ที่อยู่ใกล้เคียง กับเยาวชนราว 200 คน จนเกิดตัวแบบการจัดการศึกษาเฉพาะในรูปแบบศูนย์การเรียน ซึ่งช่วยให้น้อง ๆ กลุ่มนี้จบการศึกษาและมีวุฒิเพื่อประกอบอาชีพ ปัจจุบันรูปแบบการศึกษาดังกล่าวได้ขยายผลไปทั่วประเทศ และมีเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมที่กำลังศึกษาผ่านระบบบศูนย์การเรียนราว 2,000 คน และผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมของการทำงาน ได้ทำให้มีภาคเอกชนนำโดย KFC ประเทศไทย สนใจเข้ามาทำงานร่วมกัน ในการสนับสนุนโอกาสให้น้อง ๆ เหล่านี้ได้ต่อยอดทักษะอาชีพ มีโอกาสฝึกงาน และทำงานในสถานประกอบการเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเครือข่ายสถานประกอบการของ KFC หรือเป็นการนำทักษะความรู้ที่ได้รับไปทำงานในสถานประกอบการอื่น ๆ ก็ตาม”
รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า การสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม คือหนึ่งในภารกิจ Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน ซึ่ง กสศ. และคณะทำงานต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในการเชื่อมโยงเส้นทางที่เยาวชนคนหนึ่งหลุดออกจากระบบการศึกษาจนมาถึงปลายทาง ณ ปัจจุบัน เพื่อนำมาออกแบบแผนการดูแลช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้ตามศักยภาพและตามความต้องการ และจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางการจัดการศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต สำหรับเด็กเยาวชนทุกคน


นายศุภชัย ไตรไทยธีระ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ กล่าวว่า การทำงานร่วมกันครั้งนี้ ทุกฝ่ายมุ่งหวังอยากเห็นการศึกษาที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย สอดคล้องกับเด็กและเยาวชนเป็นรายบุคคล สำหรับมูลนนิธิปัญญากัลป์ ได้มีการทำงานในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดการศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียน ร่วมกับกรมพินิจฯ และ กสศ. ที่ช่วยให้เยาวชนในกระบวนการยุติธรรมมีโอกาสเรียนรู้และจบการศึกษาเช่นเดียวกับเด็กเยาวชนคนอื่น ๆ รวมถึงหนึ่งแผนงานที่น่าสนใจซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่อง คือการจัดอบรมพัฒนาเด็กเยาวชนให้เป็นผู้ประกอบการผ่าน ‘กระบวนการสัมมาชีพ’ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน แรงงานจังหวัด หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ออกแบบหลักสูตรชื่อ young boots-up ให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะผู้ประกอบการ ฝึกทักษะวิชาชีพตามความสนใจและความถนัด และได้ลองทำงานในสถานประกอบการ โดยกระบวนการทั้งหมดจะมุ่งชักชวนให้เด็กค้นพบความสนใจและการวางแผนในการประกอบอาชีพ พร้อมเติมทักษะและพัฒนาแผนธุรกิจ ซึ่งหลังจากดำเนินงานมาแล้วสองปี มีภาคเอกชนสนใจเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น นำมาสู่ความร่วมมือครั้งนี้ที่ KFC ในฐานะผู้ประกอบการภาคเอกชน มีความตั้งใจที่จะเข้ามาร่วมจัดการศึกษา โดยมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายนำร่องคือเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงาน
“ข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับจะเป็นต้นทางของการร่างแนวทางการจัดการศึกษา โดยในส่วนแรกจะเป็นการถอดกระบวนการและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อนำไปช่วยสนับสนุนศูนย์การเรียนที่สนใจร่วมจัดการศึกษากับสถานประกอบการ และสองคือศูนย์การเรียนปัญญากัลป์เอง จะนำมาวางแผนการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและหลากหลายยิ่งขึ้นสำหรับการจัดการศึกษาในปี 2567 เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และเส้นทางต่อยอดชีวิตสำหรับเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมต่อไป” ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนปัญญากัลป์กล่าวสรุป