กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมเวทีประชุมนานาชาติ ‘Transforming Education Now and for the Future We Want: TES National Follow-up Actions to move towards the achievement of SDG 4’ นำเสนอประสบการณ์ขับเคลื่อนนวัตกรรมการจัดสรรเงินทุนโดยใช้ระบบฐานข้อมูลเพื่อแก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยได้รับเสียงชื่นชมจากที่ประชุมให้เป็นต้นแบบการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในระดับนานาชาติ
การนำเสนอดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 เป็นกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นให้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development (APFSD) ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดโดยหน่วยงานด้านการศึกษาและสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) 3 องค์กร ได้แก่ UNESCO Asia and Pacific Regional Bureau for Education (UNESCO Bangkok), UNICEF East Asia and Pacific Regional Office (UNICEF EAPRO) and the UNICEF Regional Office for South Asia (ROSA) ภายใต้การสนับสนุนของ ESCAP
เวทีประชุมนานาชาติครั้งนี้ กสศ. ได้รับเชิญให้ร่วมนำเสนอในช่วง Towards a more resilient education system (เดินหน้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น) ภายใต้หัวข้อ The equitable and innovative funding model of education funding of the Equitable Education Fund (Thailand) and its programs หรือ รูปแบบการระดมทุนที่เท่าเทียมและเป็นนวัตกรรมใหม่ของกองทุนเพื่อการศึกษา โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาประเทศไทย
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. นำเสนอที่มาและแนวทางการทำงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาประเทศไทย โดยย้ำว่า แนวคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคที่แท้จริงในมุมมองของ กสศ. คือการทำให้เด็กทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนาใด หรือยากดีมีจนมากแค่ไหน ยังมีโอกาสเข้าถึงหรือได้รับทรัพยากรจำเป็นที่เพียงพอจะทำให้คน ๆ นั้น สามารถพัฒนาทักษะความสามารถของตนที่มีอยู่ไปได้จนสุดทาง ซึ่งหมายความว่า หากเด็กคนนั้นมีความสามารถที่จะเรียนต่อไปในระดับปริญญาตรี ก็จะได้รับความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อให้เรียนต่อไปได้จนจบ
ภายใต้แนวคิดดังกล่าว ดร.ไกรยส อธิบายว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ แนวทางการปฎิบัติงานที่เน้นผลลัพธ์ (outcome-based approach) และการที่จะให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการได้ ย่อมจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ เพื่อที่จะสามารถจัดสรรเงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้ส่งตรงไปให้ถึงมือกลุ่มเปราะบาง เด็กยากจน และเด็กยากจนพิเศษ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างตรงจุดมากที่สุด
ดร.ไกรยส อธิบายว่า การจัดเก็บข้อมูล แล้วนำมาวิเคราะห์ จัดระเบียบและจัดทำฐานข้อมูลเด็กยากจนทั่วประเทศไทย เป็นก้าวแรกของการแก้โจทย์ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ กสศ. เพราะข้อมูลที่มีอยู่จะเป็นข้อเท็จจริงที่นำไปใช้หารือกับภาครัฐ ในการระบุตัวเลขเงินทุนและทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดการกับช่องว่างทางการศึกษาที่มีอยู่
“ยิ่งเรามีข้อมูลที่ถูกต้องและผ่านการจัดระบบมาอย่างดีมากเท่าไร เรายิ่งสามารถให้ความช่วยเหลือเด็กที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือมากขึ้นเท่านั้น” ดร.ไกรยสระบุ
ทั้งนี้ ดร.ไกรยส ยังได้อธิบายถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาประเทศไทยว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยืดเยื้อที่รัฐบาลไทยพยายามต่อสู้มาโดยตลอด โดยนับตั้งแต่ปี 2011 รัฐบาลได้จัดสรรเงินทุนเพื่อต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นปีละ 2,500 ล้านบาท จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเงินในส่วนนี้กลับไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ทั้งหมด
ต่อมาในปี 2019 ได้มีการก่อตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ขึ้น โดยงบตั้งต้นที่ 2,537 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกันกับเงินทุนเพื่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับประสิทธิภาพในการจัดการความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวคิดและแนวทางปฎิบัติในการบริหารจัดการเงินของ กสศ. ที่เน้นการใช้ฐานข้อมูลเป็นตัวบริหารจัดการเงินทุน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่าแท้จริง และเป็นการให้เงินสนับสนุน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ “เด็ก” คนหนึ่ง สามารถเข้าถึงการศึกษาตามศักยภาพที่พึงมี และ “เรียน” ไปได้จนตลอดรอดฝั่ง ทำให้ กสศ. มีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและมากเพียงพอที่จะขยายวงเงินอนุมัติจากภาครัฐให้เพิ่มขึ้น คือจาก 2,537 ล้านบาทในปี 2019 มาอยู่ที่ 5,496 ล้านบาทในปี 2020 ตามด้วย 5,652 ล้านบาทในปี 2022 และ 6,073 ล้านบาทในปี 2023
ฐานข้อมูลเด็กยากจนของ กสศ. ไม่เพียงแต่ช่วยให้ กสศ. กำหนดงบประมาณที่ต้องใช้และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดแล้ว ฐานข้อมูลดังกล่าวยังช่วยให้กสศ. สามารถนำไปยืนยันกับการจับมือร่วมกันทำงานกับภาคเอกชน ทำให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นและประจักษ์ว่าเงินทุนที่บริจาคให้กับทาง กสศ. นั้นส่งตรงถึงมือเด็กที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง
ข้อมูลที่มีจึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการทำงานเพื่อแก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ กสศ. เท่านั้น แต่ยังเป็นหลักฐานที่ช่วยพิสูจน์ยืนยันความโปร่งใสของ กสศ. ในอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ ทาง กสศ. ยังเดินหน้าพัฒนาเครื่องมืออย่างแอปพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือ เพื่อช่วยให้ครูจัดเก็บข้อมูลนักเรียน ทำให้ กสศ. ได้ฐานข้อมูลเด็กยากจนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และฐานข้อมูลนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการติดตามความก้าวหน้าของเด็กนักเรียนในโครงการ ช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร และให้โอกาสหรือช่องทางในการศึกษาต่อในระดับสูงตามศักยภาพความสามารถของเด็กคนนั้นต่อไป
โดยในท้ายที่สุดแล้ว โอกาสทางการศึกษาที่ทำให้ได้พัฒนาทักษะความสามารถตามศักยภาพจนถึงที่สุด ย่อมทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น การจัดทำฐานข้อมูลเด็กยากจนจึงเปรียบเสมือนระบบหลักประกันทางการศึกษา โดยฐานข้อมูลของ กสศ. ที่ทำให้ช่วยเหลือนักเรียนที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ทำให้งบที่นักเรียนที่ได้รับความเช่วยเหลือต่อคนเพิ่มขึ้นถึง 40% อีกทั้งฐานข้อมูลที่เป็นระบบ ชัดเจน และน่าเชื่อถือของ กสศ. จากผลลัพธ์ของการสร้างระบบค้นหาเด็กยากจนและความร่วมมือทุ่มเทจากคุณครูทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย ยังทำให้เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ทางคณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มอัตราอุดหนุนทุนเสมอภาค
ยิ่งไปกว่านั้น ทาง กสศ. ยังได้มีการต่อยอดด้วยการร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งทำให้ในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา กสศ. ได้รับเงินบริจาคจากภาคเอกชน โดยมียอดเงินทั้งสิ้น 236 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฐานข้อมูลและหลักฐานผลการดำเนินงานที่สร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนว่าเงินที่มอบให้ กสศ. นี้ ได้ใช้ความช่วยเหลือและช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จริง
ทั้งนี้ นอกจากจะมุ่งให้ความสำคัญ ข้อมูล (data) และองค์ความรู้ (knowledge) แล้ว ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. ยังให้ความสำคัญกับการจับมือกับภาคีเครือข่ายพันธมิตรในการแบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความร่วมมือ และสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
“ผลสำเร็จของการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ใช่การขับเคลื่อนของ กสศ. แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นผลพวงมาจากความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งรวมถึงหน่วยงานด้านการศึกษาหลัก ๆ ของไทย 6 สังกัดด้วยกันคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาภาคเอกชน กรุงเทพมหานคร และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการเข้ามาร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อยุติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย” ดร.ไกรยสกล่าว
งานนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้ถามถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานของ กสศ. โดย ดร.ไกรยส กล่าวว่า คือข้อมูลและความน่าเชื่อถือ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ซึ่งเป็นก้าวแรกที่ทำให้การทำงานของ กสศ. เป็นไปอย่างราบรื่น และได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย
ในส่วนช่วงอายุของกลุ่มเป้าหมาย ดร.ไกรยส ระบุว่า ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดและเป็นพื้นฐานเริ่มต้นของการพัฒนาทางการศึกษา ดังนั้น การให้เด็กปฐมวัยได้เรียนหนังสือจึงเป็นสิ่งจำเป็น ขณะเดียวกัน ในระหว่างนั้นก็ต้องมีแนวทางปฎิบัติและกลไกเพื่อไม่ให้เด็ก ๆ หลุดออกจากระบบการศึกษา
ดร.ไกรยส กล่าวปิดท้ายว่า กสศ. ยังคงต้องการและยินดีเปิดรับความร่วมมือ คำแนะนำ และความช่วยเหลือจากเครือข่ายพันธมิตรในทุกประเทศทั่วโลก เพื่อทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหมดไปจากประเทศไทยและทั่วโลก ทั้งนี้ ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวชื่นชมการพลิกแพลงนำข้อมูลมาใช้งานของ กสศ. ซึ่งทำให้รู้อย่างชัดเจนว่า รัฐควรนำเงินไปช่วยเหลือเด็กกลุ่มไหนจึงจะเป็นประโยชน์และได้ประสิทธิภาพสูงสุด นับเป็นแบบอย่างที่ดีที่นานาประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะนำไปปรับประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละประเทศ รวมถึงเป็นแนวทางในการจัดสรรเงินทุนจากหลายช่องทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการขับเคลื่อนเพื่อยุติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อไป
สำหรับการประชุม Transforming Education Now and for the Future We Want: TES National Follow-up Actions to move towards the achievement of SDG 4 นี้ ถือเป็นเวทีสำหรับประเทศที่เข้าร่วมจากเอเชียและแปซิฟิกในการร่วมกันเพื่อแบ่งปันและเรียนรู้จากแนวปฏิบัติที่ดีและนวัตกรรมที่ได้มีการริเริ่มขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาและจัดการกับวิกฤตการเรียนรู้ การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านที่ 4 (SDG 4) และตระหนักถึงสิทธิในการศึกษาสำหรับทุกคน
ในที่ประชุม บรรดาวิทยากรที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการศึกษาอื่น ๆ จากภูมิภาค รวมถึง บังกลาเทศ กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ลาว เนปาล ฟิลิปปินส์ และไทย ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการดำเนินการที่สำคัญ นวัตกรรม ความคืบหน้า ปัญหาคอขวด และการจัดหาเงินทุนที่เท่าเทียมกันและมีประสิทธิภาพภายใน กรอบทั่วไปของการสร้างระบบการศึกษาที่เท่าเทียม ทั่วถึง และยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเน้นที่ประเด็นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงของการเรียนการสอน: หลักสูตร การสอน และการประเมิน 2) การศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทำให้ระบบการศึกษามีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศมากขึ้น และ 3) การเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล