หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศวาระ Zero Dropout ในวันเด็กแห่งชาติปี 2567 ที่จะส่งเสริมให้เด็กทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษา โดยตั้งเป้าหมาย Zero Dropout คือ จะไม่มีเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาในประเทศนี้
ล่าสุด 12 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่สมัยทำงานอยู่ในภาคเอกชนได้ให้ความสำคัญ ระดมเงินบริจาค 100 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการ ‘ราชบุรี ZERO DROPOUT เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ จนนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้มีความยืดหยุ่น เพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวในช่วงต้นของการประชุมหารือประเด็นปัญหาและการพัฒนาจังหวัดราชบุรี ณ ศาลากลางจังหวัดราชบุรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยเข้าร่วมว่า จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดที่ดำเนินโครงการ Zero Dropout เป็นปีที่สามแล้ว จึงอยากเห็นผลรูปธรรม เพราะการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ขณะนี้มีเด็กเป็นล้านคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา คนเหล่านี้ต้องเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ ตนเองพยายามสร้างตัวอย่างขึ้นมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงอยากเชื้อเชิญให้บริษัทขนาดใหญ่ มาช่วยกันเป็นเจ้าภาพดูแลแต่ละจังหวัด เพื่อนำเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา กลับเข้ามาใหม่ได้
“ในส่วนตัวผมพยายามทำอะไรที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษา ช่วงที่ยังทำงานอยู่ภาคเอกชนจึงให้บริษัทมาลงพื้นที่ เห็นว่าราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีขนาดเหมาะสมพอที่จะช่วยเหลือเด็กทั้งจังหวัดกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการระบาดของโควิด-19 มีเด็กที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาค่อนข้างมาก”
ด้านว่าที่ร้อยตรี สมชาย งามสุขสวัสดิ์ ศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ภาพรวมความก้าวหน้า ‘ราชบุรี ZERO DROPOUT’ ซึ่งจังหวัดราชบุรี ทำงานร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ช่วยเหลือเด็กไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาจำนวน 8,769 คน ตั้งแต่อายุ 6-24 ปี ทั้งนี้ปีการศึกษา 2567 ที่กำลังเปิดเทอม จังหวัดราชบุรีจะเป็นจังหวัดแรกที่ประกาศเดินหน้า ZERO DROOUT โดยศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 3 เขต และท้องถิ่นทั้ง 10 อำเภอ พร้อมกลไกสหวิชาชีพทุกหน่วยงานและอาสาสมัครสามพลัง (อสม.อพม. และอาสาสมัครการศึกษา) กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด จะทำงานร่วมกันเพื่อให้ปีการศึกษา 2567 นี้ จะไม่มีเด็กและเยาวชนคนไหนหลุดจากระบบ ด้วยนวัตกรรมและกลไกใหม่ของจังหวัดราขบุรีที่พัฒนาขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
“ราชบุรีได้พัฒนานวัตกรรมการศึกษาที่ยืดหยุ่น หนึ่งโรงเรียนสามรูปแบบ โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เน้นผู้เรียนเป็นตัวตั้ง เน้นการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตจริงของผู้เรียนทุกคน โดยเปิดเทอมนี้จะขยายครอบคลุมทั้ง 350 โรงเรียนสังกัด สพฐ. 3 เขตพื้นที่การศึกษา ขณะเดียวกัน ท้องถิ่นทั้ง 10 อำเภอจะเดินหน้าระบบคุ้มครองทางสังคมช่วยเหลือเด็กเยาวชนในทุกมิติปัญหา ทั้งสุขภาพกาย จิตใจ คุ้มครองทางสังคม ครอบครัวและการศึกษา รวมถึงจะมีคณะกรรมการดูแลรายกรณี (CMS) ทำงานร่วมกับกลไกอาสาสมัครสามพลัง ประกอบด้วย อสม. อพม. อาสาสมัครการศึกษา เพื่อการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทุกชุมชน”