ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็นและแนวทางในการทำงาน ภายใต้หัวข้อ “กลไกขับเคลื่อนการบูรณาการโดยชุมชนท้องถิ่น” บนเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ในวาระชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ ปี 2567 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อาคารอิมแพ็ค เมืองทองธานี
ดร.ไกรยส กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าท้องถิ่นเป็นกลไกและพลวัตสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ หรือ “Thailand Zero Dropout” และเชื่อว่าท้องถิ่นทุกแห่ง มีศักยภาพในการบูรณาการการค้นหาเด็กเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา และพากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
“หลังจากมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ระบุว่า Thailand Zero Dropout เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก และให้เร่งขับเคลื่อน 4 มาตรการ คือ 1.ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนท้องถิ่นต่างช่วยกันบูรณาการการค้นหาเด็กเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา เพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา 2.มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายอย่างเหมาะสม ทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม 3.มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและการพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง และ 4.มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn”
ดร.ไกรยส ระบุว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสศ. ได้ร่วมกันบูรณาการฐานข้อมูลสารสนเทศเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3-18 ปี เป็นรายบุคคลระหว่างหน่วยงานผู้จัดการศึกษาทั้งสิ้น 21 หน่วยงานทั่วประเทศไทย กับฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย พบว่าปี 2566 ที่ผ่านมายังมีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 1,025,514 คนที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษาของทั้ง 21 หน่วยงาน
“ตัวเลขดังกล่าว ฟังดูเหมือนเยอะ แต่ก็มั่นใจว่า เป็นจำนวนที่กลไกท้องถิ่นช่วยได้อย่างแน่นอน เพราะเมื่อนำมาหารเฉลี่ยแล้ว ตกจังหวัดละไม่ถึง 10,000 คน เทียบกับประชากรในแต่ละจังหวัดก็ไม่ถึง 1% เพราะฉะนั้นนี่คือจำนวนที่แต่ละพื้นที่สามารถทำได้ ความเข้มแข็งของท้องถิ่น ของกลไกในจังหวัด จะสามารถพาเด็กเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในกลับมาได้
“สุภาษิตแอฟริกาบอกไว้ ว่า “เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” It takes a village to raise a child อีกสองเดือนข้างหน้า แต่ละท้องถิ่นจะสามารถใช้แอบพลิเคชัน “Thai Zero Dropout” สนับสนุนภารกิจ สำรวจค้นหา จัดทำแผนการดูแลรายบุคคล วางแผน ช่วยเหลือ และเชื่อมโยง ส่งต่อการช่วยเหลือทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ รวมถึงการติดตามความก้าวหน้าข้อมูลรายบุคคล”
ดร.ไกรยส กล่าวว่า แอปพลิเคชัน Thai Zero Dropout จะช่วยให้ระบุได้ว่าในแต่ละชุมชนท้องถิ่นมีเด็กเยาวชนกี่คนที่ยังไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ข้อมูลแบบนี้จะเป็นข้อมูลที่มีชีวิต ไม่ได้เป็นข้อมูลในในตาราง หรืออยู่ในกระดาษ แต่เป็นข้อมูลที่พอไปถึงบ้านเป้าหมายแล้ว อาจจะมีเด็กเดินออกมาบอกว่า เพิ่งย้ายเข้ามาในพื้นที่ ตามพ่อแม่มาทำงานยังไม่พร้อมจะเข้าโรงเรียน
ข้อมูลที่ได้มานี้ จะปลดล็อกให้คนในชุมชน เอาเด็กเป็นตัวตั้ง แล้วก็เอาเป้าหมายของชุมชนท้องถิ่นที่อยากจะให้การหลุดออกจากการศึกษาเป็นศูนย์เป็นตัวขับเคลื่อนโดยชุมชน ซึ่งนอกจากจะมีศักยภาพในการค้นหาตัวเด็กแล้ว ยังสามารถออกแบบแนวทางการช่วยเหลือ ช่วยให้เด็กนอกระบบการศึกษาเข้าถึงทรัพยากรการศึกษา ทั้งหนังสือเรียน สื่อการสอน และอุปกรณ์การเรียนการสอน ด้วยความเข้าใจในบริบทและความต้องการเฉพาะของพื้นที่ได้ สามารถจัดกิจกรรมและโครงการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกวัย เช่น การเรียนรู้ภาษาท้องถิ่น ทักษะอาชีพ และการพัฒนาความรู้ในสาขาต่าง ๆ สามารถดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา เช่น การให้ทุนการศึกษา การจัดบริการอาหารกลางวันฟรี และการจัดหาสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้อย่างตรงจุดและทันเวลา รวมถึง สามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน
ดร.ไกรยสกล่าวอีกว่า ชุมชนสามารถนำข้อมูลที่มีชีวิต ไปส่งต่อให้คนในพื้นที่ได้ทำงานกับข้อมูลในรูปแบบที่จะทำให้เห็นว่า ข้อมูลไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องที่จับต้องยาก เป็นเรื่องวิชาการ แต่ข้อมูลนี้จะนำไปสู่คนที่มีชีวิตซึ่งแต่ละกลไกของท้องที่ จะช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
“ข้อมูลจะทำให้เราทราบว่า ทำไมเด็กไม่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา มาตรการถัดไป ก็คือเรื่องของการส่งต่อให้ได้รับการช่วยเหลือพัฒนา ซึ่งกระทรวง พม. ก็มีกลไกด้านนี้ กระทรวงสาธารณสุขก็มีกลไก กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ ทุกกระทรวงมีกลไก มีกองทุน มีทรัพยากร มีงบประมาณ สมมติฐานของ กสศ. คือเชื่อว่าทุกกลไกมีทรัพยากร มีความสนใจเรื่องนี้อยู่ หากเด็กได้รับการค้นพบตัวและค้นหาเจอว่าปัญหาคืออะไร หากกลไกต่าง ๆ นำเอาทรัพยากรไปสู่เด็กเยาวชนเหล่านั้นได้แล้ว ก็จะสามารถทำให้เขากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ โดยที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณส่วนเพิ่มมากนัก
“ข้อมูลที่มีชีวิตจะช่วยให้มีการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ซึ่งหากเด็กได้กลับเข้าไปสู่โรงเรียนโรงเรียนก็จะทำให้รู้ด้วย ว่าโจทย์หรือสาเหตุที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะอะไร เช่น เพราะว่าการศึกษาไม่ยืดหยุ่นเพียงพอใช่หรือไม่ เด็กเยาวชนที่เป็นเด็กโต อาจจะต้องการเรียนไปด้วยมีงานทำไปด้วย การจะใช้กลไกโรงเรียนเพียงลำพังอาจจะทำให้มีงานทำไปเรียนไปด้วยไม่ได้ ก็ต้องเปิดประตูออกไปอีกด้านหนึ่ง สำรวจว่า ในชุมชนมีงานอะไรที่เด็กสามารถที่จะแบ่งเวลาเรียนไปด้วยแล้วมีรายได้ไปด้วยได้บ้าง
“ข้อมูลที่มีชีวิตจะแตกตัวได้ จะทำให้ทราบว่า เด็กคนหนึ่งหลุดจากระบบการศึกษาเพราะอะไร เพราะอยู่คนเดียว อยู่กับพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว หรืออยู่กับยาย เขามีความสนใจที่อยากจะทำอะไร มีขีดจำกัดอะไร มีความต้องการหรือจุดหมายของชีวิต ฯลฯ ทั้งหมดจะเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพที่เมื่อได้ส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วย่อมสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากมาย ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปเตรียมตัวรับช่วงต่อเพื่อทำให้เกิดพลวัตของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะข้อมูลที่ไม่หยุดนิ่ง แต่เป็นสิ่งที่มีพลวัตในการสร้างการเปลี่ยนแปลงการทำงานเชื่อมประสานกันระหว่างกลไกแต่ละระดับ และช่วยทำให้ข้อมูลสามารถที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงกับชีวิตคนได้จริง ๆ” ดร.ไกรยสทิ้งท้าย