วันนี้ (12 กันยายน 2567) ณ อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ยืนยันเจตนารมณ์และนโยบายรัฐบาลสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสในการพัฒนา และสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนทุกคน
ช่วงแรกของการแถลงนโยบายรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ระบุถึงความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญทั้ง 9 ประการ ได้แก่ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและความเหลื่อมล้ำของประชาชน ความท้าทายจากสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ความมั่นคงของสังคมถูกท้าทายจากการแพร่ระบาดยาเสพติด อาชญากรรมออนไลน์ การประสบปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการแข่งขันทางการค้าจากต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองยาวนานอันเป็นผลจากการรัฐประหาร ระบบราชการไม่สามารถตอบสนองประชาชนได้อย่างเต็มที่ และการเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)
จากนั้น นายกรัฐมนตรีแถลงกล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำทันที เพื่อนำความหวังของคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด ได้แก่ 1. ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ 2. สนับสนุนผู้ประกอบการไทย SMEs 3. ลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค 4. การนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี 5. กระตุ้นเศรษฐกิจโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 6. เพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรและราคาพืชผลเกษตร ยกระดับรายได้เกษตรกร 7. ส่งเสริมการท่องเที่ยว 8. แก้ปัญหายาเสพติด 9. เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม 10. ส่งเสริมศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคม
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายระยะกลางและระยะยาว โดยในช่วงหนึ่งได้แถลงถึงนโยบายที่เกี่ยงข้องกับ “การศึกษา” ว่ารัฐบาลเชื่อว่าทุนมนุษย์เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ โดย
รัฐบาลจะส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม เด็กไทยทุกคนจะต้องเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน เมื่อเติบโตก็ได้เรียนหนังสือที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ส่งเสริมการปลดล็อกศักยภาพทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความสามารถทางการกีฬา และพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน ตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระและลดความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนสองภาษาโดยใช้ AI เป็นตัวช่วย เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงเพื่อการสร้างรายได้ หรือ Learn to Earn
รัฐบาลจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการเฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา พร้อมทั้งส่งเสริมการปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคต และรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life-Long Learning
รัฐบาลจะยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภาพของคนไทยเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการสร้าง Soft Power ของประเทศ ผ่านการส่งเสริม หนึ่งครอบครัวหนึ่ง ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบและส่งเสริมวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ TCDC สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่า เสริมทักษะเดิม หรือ Reskill เพิ่มทักษะใหม่ หรือ Upskill ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับทักษะที่เพิ่มขึ้น เช่น ทักษะด้านการประยุกต์ใช้ AI รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนดึงศักยภาพของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อ่านเนื้อหาฉบับเต็มของคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภาวันนี้ ได้ที่ คลิก