เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ จัดประชุมชี้แจงการเปิดรับข้อเสนอโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง ปี 2568 จากสถานศึกษาที่สนใจและจัดการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ และหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล จากทุกสังกัด เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสการพัฒนาและศึกษาต่อในสายอาชีพชั้นสูง และสนับสนุนเป้าหมายในการพัฒนากำลังคนสายอาชีพและสร้างโอกาสให้เยาวชนได้เรียนต่อสายอาชีพชั้นสูงให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และความต้องการตลาดแรงงานในประเทศ
ทั้งนี้ กสศ. จะคัดเลือกข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพสูงสุดตามเกณฑ์เพื่อสนับสนุนงบประมาณเพื่อการดำเนินงานตามโครงการที่ผ่านการพิจารณา โดยขอเชิญสถานศึกษาที่สนใจจัดส่งข้อเสนอโครงการผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 13 – 27 ธันวาคม 2567
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเปิดการประชุมว่า โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นทุนที่สร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนได้เรียนต่อในสายอาชีพเต็มตามศักยภาพ โดยมุ่งรองรับเยาวชนจากครอบครัวยากจนที่สุด 20% ล่างของประเทศ ให้ได้รับโอกาสเรียนต่อในสายอาชีพและเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ในเวลา 1 ปี โดยเฉพาะในสายงานสาธารณสุขที่ขาดแคลนกำลังคน คือผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ และพนักงานให้การดูแล
“หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่สร้างโอกาสการมีงานทำทันทีที่จบการศึกษา เนื่องจากเป็นสาขาซึ่งตลาดแรงงานของประเทศมีความต้องการสูง หลักสูตรดังกล่าวจึงเป็นส่วนสำคัญของการขจัดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นรากเหง้าของปัญหาความยากจน จากต้นทางของปัญหา นอกจากนี้โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ยังสนับสนุนทุนโดยตรงไปที่สถานศึกษา เพื่อพัฒนารูปแบบหลักสูตรที่เป็นนวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีทักษะรอบด้าน ผ่านความร่วมมือกับภาครัฐ ภาค เอกชน และท้องถิ่น ดังนั้นจึงเป็นความสำคัญที่หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาลผู้ช่วยทันตแพทย์ ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้นจะเป็นต้นแบบหรือโมเดลที่ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายผลเชิงปฏิรูป โดยผู้บริหารสถานศึกษาและอาจารย์ทุกท่าน ทั้งที่เคยร่วมโครงการนี้มาแล้ว และกำลังจะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อไป”
คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวถึงแนวทางการทำงานโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ และหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล ในปี 2568 จะมุ่งไปที่ความร่วมมือในลักษณะ ‘การระดมทุนร่วม’ (Co Funding) เพื่อขยายจำนวนทุนการศึกษา ซึ่งในปีที่ผ่านมา กสศ. ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากการออกสลากการกุศลจำนวน 455 ทุน และมูลนิธิ 50 ปีธนาคารแห่งประเทศไทยอีก 43 ทุน เป็นผลจากการที่ทั้ง 2 หน่วยงาน เห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขและพัฒนากำลังคนให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ และสร้างแรงกระเพื่อมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
“โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ผลักดันให้สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ สามารถริเริ่มนวัตกรรมและระบบการดูแลผู้เรียน อาทิ การมีครูหรือรุ่นพี่ที่ช่วยให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ ทั้งสุขภาวะ จิตใจ การปรับตัวกับการเรียน จนไปถึงการเริ่มต้นเข้าสู่ชีวิตการทำงาน การพัฒนานวัตกรรมในการดูแลผู้เรียน สำคัญอย่างยิ่งต่อการประคองผู้เรียนไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน ซึ่งสถานศึกษาบางแห่งได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมโอกาส เช่น การสอนภาษาต่าง ๆ เพื่อเปิดกว้างการมีงานทำและมีรายได้ที่สูงกว่าเดิม รวมถึงมี ‘โมเดลผู้ช่วยพยาบาลคืนถิ่น’ ที่เชื่อมต่อโอกาสให้ผู้จบการศึกษาตามหลักสูตรได้มีโอกาสทำงานกับคลินิกต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในภูมิลำเนาของแต่ละคนแล้ว”
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า กสศ. มีการประเมินผลลัพธ์การลงทุนกับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ภายใต้การลงทุน 1 บาท สามารถสร้างมูลค่าทางสังคมได้ถึง 2.57 บาท โดยขณะนี้มีนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจบการศึกษาแล้ว 6,596 คน ส่วนใหญ่เป็นคนแรกของครอบครัวที่เรียนสูงกว่า ม.6
“การผลิตผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ และพนักงานให้การดูแล ในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่เพื่อให้ผู้เรียนเรียนจบและมีวุฒิการศึกษาเท่านั้น แต่ยังตั้งเป้าว่าหลักสูตรนี้ จะต้องไปเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้เรียนให้พ้นจากวงจรความยากจนในครอบครัว หรือเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นด้วยการมอบโอกาสทางการศึกษา ซึ่งพร้อมผลักดันไปสู่ระดับนโยบายด้านการจัดสรรงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาในระดับฐานรากที่ได้ผลเป็นรูปธรรม”
คุณนพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. กล่าวว่า การพิจารณาความพร้อมของสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรและดูแลนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ และพนักงานให้การดูแล จะพิจารณาจากคุณสมบัติหลายด้าน เช่น ความพร้อมของบุคลากร สถานที่ เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ความพร้อมด้านที่พัก การบริหารจัดการดูแล กระบวนการให้คำปรึกษา จนถึงความพร้อมของแหล่งเรียนรู้ที่จะใช้จัดการศึกษาให้กับผู้รับทุน โดยเฉพาะการบูรณาการทำงานร่วมกับสถานประกอบการหรือว่าที่นายจ้างในหน่วยบริการที่เป็นแหล่งฝึกงาน สถานศึกษาต้องมีการพัฒนาเชิงระบบ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ การศึกษาเชิงนิเวศที่สามารถนำไปสู่ความเป็นแหล่งเรียนรู้ ต้องแสดงให้เห็นความพร้อมและความมุ่งมั่นของผู้บริหาร ครู และบุคลากร โดยสะท้อนให้เห็นถึงการยกระดับผลลัพธ์การทำงาน ความพร้อมด้านหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพของกำลังคนสายอาชีพ นอกจากนี้ต้องแสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรม และการส่งเสริมสนับสนุนนักศึกษาทุนผ่านการจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ
“ด้านคุณสมบัติของผู้รับทุน จะต้องเป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้น ม. 6 ปวช. 3 หรือเทียบเท่า ซึ่งจะสำเร็จการศึกษาในเทอมปัจจุบันของปีการศึกษา 2567 หรือหากเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยคณะกรรมการ Thailand Zero Dropout ระดับจังหวัด โครงการฯ ในปี 2568 จะระบุให้สามารถยืดหยุ่นได้ว่าต้องเป็นผู้จบการศึกษามาแล้วไม่เกิน 2 ปี (ปี 2565 – 2566) และมีหนังสือรับรองจากหัวหน้าสถานบริการ หรือมีทักษะฝีมือเชิงนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในด้านวิทยาศาสตร์หรือสุขภาพ มีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.50 และเป็นผู้มีความวิริยะอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร มีความสนใจ ความถนัด และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนสายอาชีพ”
สถานศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถศึกษาข้อมูลที่ครบถ้วนได้ในประกาศโครงการฯ คลิก