เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565ที่โรงแรมบรีซฮิลล์ เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเองสู่แกนนำขยายผล 5 จังหวัด” ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ภายใต้โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ Teachers School Quality Program (TSQP) รุ่นที่ 2 ปี 2565 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนาโรงเรียนที่มีแนวโน้มพัฒนาตนเองได้ และให้หน่วยงานต้นสังกัดได้รับรู้ถึงการพัฒนาที่สามารถขยายผลต่อไปได้ในอนาคต โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ประกอบด้วย สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 16 แห่ง โรงเรียนในโครงการ TSQP 22 แห่ง เครือข่ายมหาวิทยาลัยนเรศวร และมูลนิธิทักษะแห่งอนาคต
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กล่าวตอนหนึ่งถึงแนวคิดเรื่อง “โรงเรียนพัฒนาตนเอง สู่แกนนำขยายผล” ว่าโรงเรียนพัฒนาตนเองกับการขยายผล มีหัวใจสำคัญ 2 เป้าหมาย ได้แก่ 1) ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้าย และ 2) เครื่องมือเพื่อไปสู่เป้าหมายสุดท้าย 4 องค์ประกอบ คือ V A S K (V ค่านิยม, A เจตคติ, S ทักษะ, K ความรู้) ซึ่งผลลัพธ์การเรียนรู้ต้องมีครบทั้ง 4 องค์ประกอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการศึกษาไทยมักทำได้ไม่ครบ ส่วนใหญ่จะหยุดอยู่ที่ตัว K คือความรู้ เพราะองค์ประกอบอื่นทำได้ยาก
“หัวใจสำคัญที่อยากจะย้ำ คือเป้าหมายที่เป็นเครื่องมือ (Means) สำหรับวงการศึกษาไทยคือการเรียนรู้จากการทำงานที่ต่อเนื่อง กระทรวงศึกษาธิการเน้นอยู่ตลอดเวลาในนโยบายที่ต้องมี PLC (Professional Learning Community – ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) แต่ไปตีความผิดเป็น PLC ปลอม ๆ แค่ทำไปตามรูปแบบ ซึ่งไม่ใช่ความเป็นจริง แต่ PLC คือสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลในการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน เพราะ PLC คือเครื่องมือการเรียนรู้ของครู และผู้อำนวยการ PLC ต้องเป็นวัฒนธรรมของโรงเรียน เป็นสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ไม่ต้องใช้แรง ไม่ต้องพยายาม เพื่อที่จะให้มีการเรียนรู้ต่อเนื่องได้ดี การเรียนรู้ต่อเนื่องนั้น ต้องอยู่บนฐานหมุนวงจรการเรียนรู้เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนขึ้นไปตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ขอย้ำว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนคือต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง โดยรวมตัวกันเป็นเครือข่าย นี่คือหัวใจสำคัญที่สุดที่จะทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่ายและเรื่องไหนที่ต้องการการสนับสนุน ก็สามารถแสวงหากลไกสนับสนุนเพื่อร้องขอหรือขอคำแนะนำ ซึ่ง กสศ.ก็พร้อมให้การสนับสนุน เพื่อประโยชน์ต่อคุณภาพการศึกษาไทยต่อไป” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวต่อว่า โครงการ TSQP ที่ทุกคนรู้จักได้จบไปแล้ว ไม่มีโครงการอีกแล้ว ต่อไปนี้ จะเป็น Movement ซึ่งเป็นขบวนการไม่ใช่ Project ต้องทำเอง คิดเอง วางเป้าหมายเอง ตรวจสอบจุดอ่อนของตนเอง เพื่อหาทางยกระดับตามที่ตนเองต้องการ เพื่อนักเรียนของตนเอง ไม่ใช่ กสศ. มาสั่งการ ฉะนั้น หัวใจสำคัญคือโรงเรียนต้องไม่รอให้ใครมาบงการ มาแนะนำ มาบอก ต้องคิดเองหรือร่วมกันคิดเป็นเครือข่าย กำหนดเป้าหมายให้ชัดว่าต้องการทำอะไร เมื่อมีเป้าหมายแล้วต้องกำหนดกลยุทธ์ว่าจะบรรลุได้อย่างไร ในระยะเวลาเท่าไร จากนั้นก็มาทำแผนเพื่อดำเนินการ วัดผล หมุนวงจรการเรียนรู้ โดยโรงเรียนทำกันเอง ส่วน กสศ. และภาคีเป็นผู้ช่วยหนุนไม่ใช่ผู้นำ
“โรงเรียนพัฒนาตนเองต่อจากนี้เป็นขบวนการเป็นเครือข่าย ต้องสามารถบอกสังคมได้ว่าตนเองได้ส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคมไทยอย่างไร ไม่ใช่แค่มีเป้าหมาย เรียนรู้ หมุนวงจร แต่ไม่สามารถบอกสังคมว่าตนเองทำได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร มีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร สิ่งที่จะสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญที่สุดคือผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน โดยโรงเรียนพัฒนาตนเองต้องนำผลงานที่เป็นผลลัพธ์การเรียนรู้มาให้ได้ ต้องวัด Learning outcome ของนักเรียนมาสื่อสาร ต้องวัดผลแม่น หากไม่แม่นต้องหาทางขอความช่วยเหลือ การวัด Learning outcome เป็นผลระยะสั้นเกิดขึ้นในปีการศึกษานั้น แต่เป้าหมายการศึกษาเป็นตัววางฐานชีวิตระยะยาวของผู้เรียน ดังนั้น โรงเรียนจะต้องเก็บสถิติลูกศิษย์ของตนเอง เช่น จบ ป.6 แล้ว อีก 10 ปีข้างหน้า มีชีวิตเป็นอย่างไร และสามารถบอกสังคมได้ เพื่อเปรียบเทียบผลของการพัฒนาตนเองเปลี่ยนไปอย่างไร เพื่อจะยืดอกได้ว่าเราส่งมอบการศึกษาคุณภาพสูงให้แก่สังคม สุดท้ายทั้งหมดนี้น่าจะเป็นตัวช่วยบอกว่า การเป็นครู การเป็นผู้บริหารในระบบการศึกษานั้น เป็นชีวิตที่สูงส่งมีคุณค่า ทำประโยชน์ให้สังคมได้อย่างคุ้มค่ากับการเกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าเราเข้าใจ และปฏิบัติตามแนวทางที่เรากำลังดำเนินการในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
ดร.สุรินทร์ มั่นประสงค์ ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ. (อดีต ผอ.สพป.พิษณุโลกเขต 1) กล่าวว่า ตนเข้าใจถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของโรงเรียน จากการที่ตนเองเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่ต้องการพัฒนาระบบบริหารโรงเรียน แล้วประสบกับแรงเสียดทานจากทีมงานในโรงเรียน และผู้ปกครองบางส่วน เมื่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ก็ได้เข้าไปหนุนเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้กำลังใจร่วมกันในภาพรวมทั้งจังหวัดและให้แนวคิด เมื่อโรงเรียนมาเข้าร่วมโครงการ TSQP ทำให้แรงเสียดทานลดลง ช่วยเติมเต็มในการเข้าสู่ภาคสนาม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงเรียน TSQP ดำเนินการสำเร็จ คือผู้อำนวยการโรงเรียนมีความมุ่งมั่น จัดวางคณะทำงานได้ ทำให้เห็นผลอย่างชัดเจน สิ่งสำคัญของ TSQP คือการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับทั้งครู ผู้ปกครองและชุมชน ซึ่งในการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาคนใหม่ที่จะมีขึ้นกลางเดือนมีนาคม 2566 นี้ ในหลักสูตรการอบรมพัฒนา สพฐ. ได้เชิญครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา ซึ่งเป็นเครือข่ายของ TSQP มาให้ความรู้ในการอบรมดังกล่าว เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีไปสู่การทำงานในพื้นที่
“การย้ายผู้บริหาร ว.7 เครื่องมือสำคัญของผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ตั้งแต่ 6 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป ผู้อำนวยการเขตจะสามารถสร้างเกณฑ์ย้ายผู้บริหารโรงเรียนที่เอื้อต่อการบริหารจัดการระบบของโรงเรียน เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อยู่ที่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่จะกล้าท้าทายและมีความกล้าหาญหรือไม่ที่จะยกระดับและขยายผลโรงเรียน TSQP ให้พึ่งพาตนเอง และพึ่งพาระหว่างโรงเรียนซึ่งกันและกันได้ หากผู้อำนวยการเขตกล้าท้าทาย มีความเข้าใจที่จะช่วยยกระดับคุณภาพโรงเรียน อันเป็นเป้าหมายการทำงานด้านการศึกษา ต้นสังกัดก็พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ การทำงานต้องมีศักดิ์ศรีและศรัทธา หากทุกคนมุ่งมั่นทำงานเพื่อศักดิ์ศรีการเป็นข้าราชการ ความเชื่อมั่นศรัทธาจากครูและชุมชมจะตามมา ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น ผมพร้อมสนับสนุนให้โรงเรียน TSQP เกิดการขยายผล มีความเข้มแข็งพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ จะทำให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน และส่งต่อเมล็ดพันธุ์ที่ดีไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป” ดร.สุรินทร์ กล่าว
รศ.ดร.ปกรณ์ ประจันบาน คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การทำงานร่วมกับโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง โดยรูปแบบการคัดเลือกโรงเรียนขนาดกลางที่มีความต้องการในการพัฒนา เป็นมุมมองวิธีการในการพัฒนาโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกันได้ดีมาก เมื่อโรงเรียนต้องการพัฒนาที่มุ่งผลลัพธ์การเรียนรู้ให้เกิดกับผู้เรียนมีสมรรถนะสูง ในฐานะสถาบันผลิตครู ก็มีแนวคิดไม่ต่างกันคือต้องผลิตครูที่มีสมรรถนะสูง แต่จากที่ได้ร่วมโครงการ TSQP ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ เพราะที่ผ่านมามีการผลิตครูสมรรถนะสูงจบไปปีละ 200-300 คน เมื่อบรรจุเป็นครู ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีบัณฑิตก็ถูกกลืนไปกับระบบดั้งเดิมกว่า 80% ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้ผู้เรียนมีสมรรถนะสูงไม่ใช่แค่ครู แต่เป็นระบบการเรียนที่ซ่อนอยู่ในโรงเรียน และองค์ประกอบที่ทำให้เกิดผู้เรียนคุณภาพสูง ด้วยการสร้างกิจกรรม การใช้แหล่งเรียนรู้ การบริหารจัดการ การที่ผู้ปกครองและต้นสังกัดหันมาให้ความสนใจสนับสนุนโรงเรียน ที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้ความสนใจกลไกขับเคลื่อนให้เกิดระบบการสร้างการเรียนรู้ หรือระบบนิเวศการเรียนรู้เลย จึงควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบดังกล่าว เพื่อทำให้ระบบนิเวศการเรียนรู้ไม่ตกต่ำ มองระบบกลไกผ่านทุกคนที่เชื่อมโยงเกื้อกูลกัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีของเด็ก
ผศ.ดร.อนุชา กอนพ่วง รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการ TSQP กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนโรงเรียน TSQP ต่อไปนั้น โรงเรียนแต่ละแห่งควรมีรากที่หยั่งลึกและเกาะเกี่ยวซึ่งกันและกันเพื่อความมั่นคง พร้อมกับสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ควรมีการสื่อสารกับหน่วยงานภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อแสวงหาความร่วมมือและแรงสนับสนุน เพื่อเป็นกลไกในการหนุนเสริมให้ขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
นายวิทยา ทัศมี ผู้อำนวยการ สพป.เพชรบูรณ์ เขต 3 กล่าวว่า ในวันแรกรับตำแหน่ง ผอ.เขตพื้นที่ฯ ตนได้ประกาศว่าจะทำให้ทุกโรงเรียนได้ใช้นวัตกรรมของเครือข่ายลำปลายมาศพัฒนา เนื่องจากเคยมีโอกาสได้เห็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนของลำปลายมาศพัฒนา จึงมีความเชื่อว่านวัตกรรมนี้จะทำให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตในอนาคตได้ ในช่วงที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนก็ได้นำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ แม้จะต้องเจอกับการต่อต้านบ้าง แต่หลังจากที่นำไปใช้ก็ได้เห็นผลลัพธ์ในเรื่องการแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็ก และความรัก ความสามัคคีของครูในโรงเรียนที่มีมากขึ้น เป็นการนำไปใช้ด้วยความรู้สึกอยากทำ โดยได้รับงบสนับสนุนจากท้องถิ่น เมื่อมาเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาฯ จึงประกาศว่าจะใช้จิตตศึกษาของมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา โดยไม่รู้ว่ามี TSQP ซึ่งมีมหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมสนับสนุน และโรงเรียนหลายแห่งทำอยู่ ยิ่งทำให้เชื่อว่าโรงเรียนทำได้ ขอเพียงให้มีใจเข้าร่วม
“สิ่งที่พบใน TSQP คือ มีโรงเรียนบางแห่งที่ออกจากโครงการไปแต่ก็มีบางโรงเรียนอยากนำนวัตกรรมไปใช้ จึงควรสร้างระบบสนับสนุนทั้งกระบวนการและวิธีการ ให้โรงเรียนที่มีความเข้มแข็งที่จะเป็นแกนนำ มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น สร้างบทบาทเพื่อให้ไปช่วยโรงเรียนที่เข้ามาใหม่ ส่วนปัญหาความไม่ต่อเนื่องที่เกิดจากการโยกย้ายของผู้บริหารและครู เขตพื้นที่ต้องให้โรงเรียนที่เป็นแกนนำเข้าไปช่วยเติมเต็ม ให้กับผู้บริหารและครูที่ย้ายเข้ามาใหม่ได้รับรู้กระบวนการ รวมไปถึงสนับสนุนงบประมาณ หาก TSQP จบลงแล้วก็ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับรู้ถึงการดำเนินงานของโรงเรียน เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนและขับเคลื่อนต่อไปได้ นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำให้เห็นคือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ซึ่งไม่ใช่ความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่เป็นการค้นพบตนเองและรู้ว่าเป้าหมายชีวิตอยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตาม สพฐ. ได้ให้อำนาจเขตพื้นที่ในการสรรหาคณะอนุกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ตนเองจะสรรหาคนที่ดีที่สุด โปร่งใส เข้าใจเพื่อนครู ไม่มีอำนาจด้านมืด เพื่อให้คณะอนุกรรมการชุดนี้เป็นที่พึ่งพิงของครูได้ นอกจากนี้ หากระบุว่าในการพิจารณาให้บำเหน็จความชอบ ถ้าใช้จิตศึกษาในการเรียนการสอนร่วมด้วยจะพิจารณาความชอบพิเศษ ก็เชื่อว่าโรงเรียนจะเอาด้วยอย่างแน่นอน” นายวิทยา กล่าว
ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองกุลา จ.พิษณุโลก กล่าวว่า เป็นความโชคดีของโรงเรียนที่มีโค้ชจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีความเข้าใจและเข้าถึง ให้การสนับสนุนโรงเรียนเป็นอย่างดี อีกทั้ง ผอ.สพป.พิษณุโลก เขต 1 เป็นซุปเปอร์ซับพอร์ต มีรองผู้อำนวยการ สพป. ศึกษานิเทศก์ที่เข้าใจ ได้เข้ามาช่วยกัน ดังที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้กล่าวถึงการคิดเชิงระบบที่ให้มีการทำงานแบบเครือข่าย เพื่อนช่วยเพื่อน เมื่อเห็นโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการบางแห่งหลุดไป ต้นสังกัด ศน. ก็เข้าไปช่วยกัน และประเด็นสำคัญเรื่อง “ระบบนิเวศ” หากผู้อำนวยการมีความเก่ง มุ่งมั่น วางระบบได้ การมีต้นสังกัด เขตพื้นที่การศึกษา มหาวิทยาลัย เข้ามาร่วมกันทำงานเป็นเครือข่าย จะทำให้โรงเรียนหยุดนิ่งไม่ได้ต้องต่อยอดไปเรื่อย ๆ โดยสิ่งที่ทำไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ได้อยู่ในจิตนาการ แต่ได้ทำอยู่แล้ว