กสศ. ลงนาม MOU ร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย ‘TSQM-NRRU-Network’ จังหวัดนครราชสีมา รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

กสศ. ลงนาม MOU ร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย ‘TSQM-NRRU-Network’ จังหวัดนครราชสีมา รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ลงนามความร่วมมือใน ‘โครงการการยกระดับคุณภาพการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โรงเรียนเครือข่าย TSQM-NRRU-Network’ ร่วมกับ สำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (NRRU) รวมถึง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดนครราชสีมาเขต 1 ถึงเขต 7 มูลนิธิอิ่มอกอิ่มใจ และโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรมการวิจัย ในระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2568 – 2570) โดยมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาระบบบริหารจัดการเครือข่าย พัฒนาศักยภาพครูและบุคลากร สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ดิจิทัล และส่งเสริมการวิจัยพัฒนานวัตกรรมการศึกษาใน 42 โรงเรียนเครือข่าย TSQM-NRRU-Network ซึ่งจะขยายเครือข่ายเป็น 45 โรงเรียนภายในปี 2569 และ 55 โรงเรียนในปี 2570

หลังจากพิธีลงนามความร่วมมือ ได้มีการนำเสนอนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนใน 6 หัวข้อ ได้แก่ 1. อนุบาลจิตศึกษา 2. จิตศึกษา 3. การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL: Problem-Based Learning) 4. ภาษาไทยผ่านวรรณกรรม 5. ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC: Professional Learning Community) 6. ระบบสารสนเทศ Q-info ซึ่งช่วยลดภาระงานของครูผู้สอนเรื่องการจัดการเอกสาร รวมถึงการทำ Workshop นวัตกรรมการเรียนรู้ การนำเสนอข้อสรุป และการสะท้อนความคิดจากผู้เข้าร่วม ซึ่งมีวิทยากรจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ศึกษานิเทศก์ และครูจากโรงเรียนต่าง ๆ เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าว

รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์

รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวในฐานะประธานเปิดงานว่า วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่ตนมีความหวังในด้านการจัดการศึกษา เนื่องจากกิจกรรมนี้เกิดจากการร่วมมือของหลายภาคส่วนในหลายจังหวะและโอกาส ซึ่งจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘การพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย’ เพราะเชื่อว่าการเริ่มต้นในจังหวัดนครราชสีมาครั้งนี้ จะเป็นต้นทางในการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

“ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้ดำเนินโครงการหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ตามพันธกิจ แต่ยังไม่สามารถนำตัวชี้วัดต่าง ๆ มาวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เราจึงคิดใหม่ว่า จำเป็นต้องมีโครงการที่มีระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อยสามปี และต้องลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โครงการสามารถบรรลุผลตามระยะเวลาที่ตั้งไว้ การทำ MOU ร่วมกันในวันนี้จากทุกภาคีเครือข่ายจึงเป็นความหวังใหม่ที่เราต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่มาร่วมมือกัน เพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จไปได้”

ผศ.ดร.สิรินาถ จงกลกลาง

ผศ.ดร.สิรินาถ จงกลกลาง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายจัดการศึกษา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่าโครงการนี้เป็นการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในด้านการผลิตและพัฒนาครู โดยมุ่งเน้นการยกระดับการศึกษาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs: Sustainable Development Goals) เป้าหมายที่ 4 คือ การสร้างหลักประกันว่าทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ครอบคลุมและเท่าเทียม พร้อมสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการพลิกโฉมการผลิตและพัฒนาครูของสถาบันการศึกษา โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน

“วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน นวัตกรรมหลักในโครงการประกอบด้วย จิตศึกษา, การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL), ภาษาไทยผ่านวรรณกรรม, การพัฒนาชุมชนทางวิชาชีพครู (PLC) และยังมีนวัตกรรมเสริมที่ตอบสนองความต้องการของสถานศึกษา เช่น จิตวิทยาเชิงบวก, การใช้ AI ในการเรียนการสอน, การประยุกต์ใช้แนวปฏิบัติการสอน (Core Teaching Practices) รวมทั้งการนำองค์ความรู้จากนวัตกรรมและการวิจัยมาใช้ เช่น การพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหา, GFTRO Model, หลักสูตร Sand Box และการใช้บอร์ดเกมในการจัดการเรียนรู้”

พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน

คุณพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวถึงการพบกับผู้บริหารและบุคลากรจากโรงเรียนเครือข่ายกว่า 40 แห่งในครั้งนี้ว่า แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเครือข่าย TSQM จังหวัดนครราชสีมา ซึ่ง กสศ. หวังว่าจะเติบโตขึ้นและเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่จะขยายไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงแนวทางการทำงานกับเด็กเยาวชนที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษา โดย กสศ. ได้จำแนกกลุ่มเสี่ยงที่อาจหลุดออกจากระบบการศึกษาออกเป็นหลายมิติ โดยเฉพาะเด็กจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น รวมทั้งเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา

ปัจจุบันเด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 2.8 ล้านคนทั่วประเทศ และเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษากว่า 9 แสนคน กสศ. จึงคาดหวังว่าโครงการ TSQM ซึ่งมีการดำเนินงานต่อเนื่องจาก TSQP จะช่วยเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาได้จากทั้งผู้เรียนและโรงเรียน โดยครูเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

“หลังจากดำเนินโครงการ TSQP มา 5-6 ปี เราได้ยกระดับการทำงานสู่ TSQM หรือ Teacher and School Quality Movement โดยมุ่งหวังให้โรงเรียนและบุคลากรมีการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย พื้นที่ และชุมชน ซึ่ง TSQM จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. TSQM-A ที่ทำในภาพใหญ่ เช่น เขตพื้นที่การศึกษา 2. TSQM-N ที่เชื่อมโยงโรงเรียนในพื้นที่เฉพาะ และ 3. TSQM-I ที่เชื่อมโยงโรงเรียนที่มีประเด็นร่วม เช่น ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้”

ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวต่อว่า การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งสามรูปแบบนี้จะทำให้เกิดข้อเรียนรู้ และพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงเครือข่าย โดยมีประเด็นการทำงาน องค์ความรู้ นวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน การแก้ปัญหา และการดูแลช่วยเหลือเด็กจำนวนมากที่ได้จากคณะทำงานระดับพื้นที่ อาทิ ครูแกนนำ ผู้อำนวยการโรงเรียน หน่วยงานต้นสังกัด หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเห็นผลแล้วว่าการทำงานนั้นได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวเด็กเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเด็กเยาวชนช่วงวัย 3-18 ปี จากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนกว่า 9 แสนคนที่อยู่นอกระบบการศึกษา และยังมีเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาอีกมากถึง 2.8 ล้านคน กสศ. จึงตั้งเป้าหมายในการพาเด็กเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาพร้อมมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในอนาคต และมุ่งขยายผลนวัตกรรมการศึกษาที่สอดคล้องกับแนวคิด ‘การขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQM’ นอกจากนี้ยังมีการทำงานต้นแบบที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังขับเคลื่อน คือนวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ คือสนับสนุนให้โรงเรียนต่าง ๆ บูรณาการการจัดการเรียนการสอนทั้ง 3 ประเภทคือ 1.ในระบบ 2.นอกระบบ 3.ตามอัธยาศัย เพื่อทำให้การศึกษาที่มีอยู่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น 

“สุดท้ายนี้ กสศ. และภาคีเครือข่ายขอขอบคุณโรงเรียนทั้ง 42 โรงเรียน จาก สพป.นครราชสีมา เขต 1 ถึงเขต 7 ที่ให้ความสำคัญกับโครงการ และร่วมลงนามในโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในโรงเรียนเครือข่าย TSQM-NRRU-Network เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายสนับสนุนด้านวิชาการและพัฒนานักเรียนให้ก้าวไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง”