วันที่ 24-25 พฤษภาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และจังหวัดราชบุรี จัดงาน ‘All for Education Ratchaburi Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน รวมพลังคนราชบุรีไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง’ เพื่อรวมกลุ่มเปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ ร่วมกันต่อสู้กับปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาในจังหวัดราชบุรี โดยเน้นการสร้างความตระหนักรู้ สนับสนุนให้เด็กเยาวชนและทุกคนได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ อายุ เชื้อชาติ หรือแม้แต่สถานะการขอสัญชาติ ฯลฯ
การออกแบบงานซึ่งจัดขึ้นบริเวณริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนา จังหวัดราชบุรี ในครั้งนี้ เน้นไปที่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน การเล่น และการพูดคุย หนึ่งในช่วงที่สำคัญและลงลึกถึงรายละเอียดความคืบหน้าการแก้ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาในจังหวัดราชบุรี คือกิจกรรมล้อมวงเสวนาบนเวทีเพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันและข้อเสนอแนะต่อไปในอนาคต สำหรับหัวข้อเสวนาประจำวันที่ 25 พฤษภาคม ว่าด้วย ‘การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต’ พิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้ประกาศข่าวจาก Thai PBS ซึ่งรับหน้าที่ดำเนินรายการ ได้พาเราไปสำรวจปมประเด็น ตัวละครที่สำคัญต่างๆ ในจังหวัดราชบุรี รวมถึงประสบการณ์และข้อเสนอของพวกเขา
มากกว่าความรู้ คือทักษะชีวิตที่ทำให้ผู้เรียนเติบโตไปเป็นคนทำงานที่ ‘กลมกล่อม’
เสวนาเริ่มต้นด้วยเสียงสะท้อนจาก คุณเมทิกา อำนาจเจริญพล กรรมการและเลขานุการหอการค้าจังหวัดราชบุรี (YEC Ratchaburi) เธอเป็นตัวแทนภาคเอกชน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่เปรียบเสมือนปลายทางของระบบการศึกษา สามารถสะท้อนผลลัพธ์ของการศึกษาได้ชัดเจนที่สุด ผ่านคุณภาพของบัณฑิตจบใหม่และสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดแรงงาน
“อ้างอิงจากผลสำรวจพนักงานที่เข้ามาร่วมงานในกิจการของชาวราชบุรี พบว่าปัญหาของน้องๆ รุ่นหลังคือ ‘ความกลมกล่อม’ ที่หายไป กล่าวคือหากเราตัดเรื่องความรู้ความสามารถออกไป สิ่งที่สำคัญในการใช้ชีวิตในวัยทำงานคือ Soft Skills และทัศนคติเชิงบวกต่อการทำงาน ซึ่งจะต้องต่อยอดมาจากความสุขในช่วงชีวิตวัยเรียนด้วย
“แต่คนรุ่นใหม่จำนวนมากถูกบีบให้เรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เด็กๆ สมัยนี้เขามีอะไรให้คิดเยอะมากในการจะเลือกเรียนอะไรสักสาขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตอบสนองต่อความความต้องการของตลาด หรือกระทั่งความต้องการของที่บ้าน ทำให้เขายึดติดกับการแข่งขันกันเรียน แข่งขันกันสอบมากเสียจนเขาขาดทักษะในการดำเนินชีวิตประจำวันด้านอื่นๆ ไป
“พอเห็นช่องว่างช่องโหว่แบบนี้แล้ว ก็ชวนให้นึกถึงหลักสูตรสมัยก่อนที่เลิกใช้ไปแล้ว อย่างเช่นวิชา สปช. (สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต) สลน. (สร้างเสริมลักษณะนิสัย) หรือ กพอ. (การงานพื้นฐานอาชีพ) ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าล้าสมัย หรือยกเลิกไปเพราะมีหลักสูตรที่ดีกว่ามาแทนที่ แต่ดิฉันมองกลับไปวันนี้ก็ยังรู้สึกว่ามีอะไรหลายอย่างที่เราเรียนรู้มาจากวิชาเหล่านี้และทุกวันนี้ก็ยังได้ใช้ประโยชน์ทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว”
โรงเรียนมือถือ : จุดสัญชาตญาณการเรียนรู้และดึงดูดผู้เรียนกลับเข้ามาด้วยสิ่งที่เขาสนใจ
ขณะเดียวกัน ครูตูน-พิมพ์ชนก จอมมงคล อีกหนึ่งตัวแทนครูจากศูนย์การเรียนซีวายเอฟ (CYF) ได้เน้นย้ำถึงอีกหนึ่งปมปัญหาที่ทำให้เด็กมีความรู้สึกลบต่อระบบการศึกษาจนเผลอพาตัวเองออกห่าง ตลอดจนแนวคิดที่นำมาสู่การผลักดัน ‘โรงเรียนมือถือ’
“อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กพาตัวเองหลุดออกไปโดยไม่รู้ตัวคือสภาพแวดล้อมในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงประเภทที่ไม่โจ่งแจ้งแต่ส่งผลร้ายระยะยาว เราเรียกความรุนแรงประเภทนี้ว่า ‘Slow Violence’ หรือความรุนแรงอย่างช้า เป็นสภาพแวดล้อม คำพูด และการกระทำที่คนส่วนใหญ่อาจตระหนักไม่ถึงว่าจะสามารถสร้างแผลใจให้กับเด็ก
“เรามักได้ยินผู้ใหญ่วิพากษ์วิจารณ์เด็กว่าเหตุที่ทำให้เกรดไม่ดี เรียนไม่จบเป็นเพราะเขา ‘เหลวไหล’ บ้าง ‘ติดเพื่อน’ บ้าง แต่จริงๆ คำพูดเหล่านี้มันไม่ได้สะท้อนความบกพร่องของเด็กเลยนะคะ แต่สะท้อนความบกพร่องของโรงเรียนที่ไม่สามารถยึดโยงเด็กเอาไว้ได้ต่างหาก ลองคิดดูว่าต้องเป็นสภาพแวดล้อมที่สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้เขาขนาดไหน เขาจึงรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน หรือกระทั่งไว้ใจคนข้างนอกมากกว่าคนในโรงเรียน การพูดคุยโน้มน้าวเด็กกลุ่มนี้กลับมาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
“จนกระทั่งมีอยู่วันหนึ่ง เรามีโอกาสได้ไปนั่งกินข้าวแล้วสังเกตเห็นว่าเด็กๆ ที่นั่งกินข้าวอยู่ตามโต๊ะข้างเคียงกำลังทำในสิ่งเดียวกัน นั่นคือการนั่งชมวิดีโอบนมือถืออย่างตั้งใจระหว่างกินข้าว ทำให้เรารู้สึกอัศจรรย์ใจและสงสัยมากกว่าหน้าจอเล็กๆ แค่นี้สามารถทำให้เด็กจดจ่อกับเนื้อหาขนาดนี้ได้อย่างไร กลายมาเป็นไอเดียการทำโรงเรียนมือถือ โดยแรกเริ่มจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่เคยชินกับการใช้สมาร์ตโฟนเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก แล้วสอนให้เขารู้จักใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ และรับชมเนื้อหาที่มีสาระความรู้ด้วย
“อีกหนึ่งเป้าหมายหลักของโรงเรียนมือถือคือการเก็บเกี่ยวร่องรอยการเรียนรู้ของผู้เรียน เราเชื่อว่าเด็กทุกคนผ่านกระบวนการเรียนรู้บางอย่างอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว อาจจะผ่านการช่วยงานที่บ้านและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว สิ่งที่ขาดไปคือเราจะสามารถเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้ที่เขาได้รับมาได้อย่างไร
“ทางออกคือการให้เขาคอยบันทึกความรู้ที่ตนเองได้รับในแต่ละวันเอาไว้ในโพสต์ เช่นนี้เราก็จะสามารถทำการ Tracking กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ เมื่อเราได้ทำความรู้จักเขาผ่านโพสต์เหล่านี้แล้ว จนสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเขาถนัด ชอบ หรือใกล้ชิดกับความรู้แบบใด เราก็จะสามารถช่วยเปิดโลกของเด็กแต่ละคนให้กว้างขึ้นได้ ด้วยการยื่นมือเข้าไปช่วยสะกิดสัญชาตญาณการเรียนรู้ พร้อมแนะนำแหล่งข้อมูล รวมถึงแนวทางในการเรียนรู้ศาสตร์นั้นๆ ให้กับเขา”
กระจาย ‘ความเป็นเจ้าของ’ ทักษะและองค์ความรู้ไปสู่ตัวเด็กด้วยเทคโนโลยี
อีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดโรงเรียนมือถือคือ ครูหน่อง-วิทิต เติมผลบุญ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนซีวายเอฟ (CYF Thailand) พ่วงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน และเขาได้ร่วมอภิปรายถึงภาพสะท้อนความท้าทายที่ตนเองและคนใกล้ชิดต้องพบเจอ
“อย่างแรกเลยที่คนทำงานการศึกษาควรคำนึงถึงคือจะทำอย่างไรให้การศึกษาเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่ครู ไม่ใช่แค่ในโรงเรียน แต่การเรียนรู้ควรเกิดขึ้นได้และได้รับการสนับสนุนในทุกที่ทุกเวลา ปัญหาของการศึกษาในระบบคือพวกเราจัดการศึกษากันโดยเลียนแบบระบบราชการ เริ่มแปดโมงเช้า จบสี่โมงเย็น เวลาเรียนถูกซอยแบ่งถี่ยิบ และกระบวนการเรียนรู้ใดๆ ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากในคาบเรียนของวิชานั้นๆ หรือกระทั่งนอกเวลาทำการของโรงเรียน ก็จะไม่ถูกนับ ไม่ถูกบันทึกเป็นความก้าวหน้าทางกระบวนการเรียนรู้
“เพราะเหตุนี้ โรงเรียนจึงควรมีการเปลี่ยนแปลงให้ยืดหยุ่นและตอบโจทย์มากขึ้น และสถานศึกษาควรกระจายความเป็นเจ้าของทักษะและองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่ตัวเด็ก ให้เขาได้มีส่วนในการเลือกและออกแบบ นอกจากนี้ก็ควรลดปัจจัยที่อาจมาขัดขวางกระบวนการเรียนรู้หรือกีดกันเด็กอย่างตัวชี้วัดและมาตรฐานลงเสียหน่อย
“โรงเรียนมือถือเองก็ดำเนินการด้วยหลักคิดคล้ายกัน โดยที่เราแค่เอาเทคโนโลยีไปกระตุ้นความต้องการการเรียนรู้ของเด็ก สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับให้ได้คือกระบวนการเรียนรู้ของคนมันเปลี่ยนไปตามโลก เชื่อเถอะว่าคนทำอาหารสมัยนี้น้อยคนที่จะเดินไปซื้อตำราหรือสูตรตามร้านหนังสือมาเปิดทำตาม ส่วนใหญ่ก็พึ่งพาเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันบนอินเทอร์เน็ตกันหมดแล้ว
“เราจึงคิดออกแบบสถานศึกษาอีกระบบหนึ่งที่จะมาสอดรับกับปรากฏการณ์นี้ โดยปัจจุบัน กสศ.ได้นำแนวคิดไปพัฒนาต่อว่าจะทำอย่างไรให้ระบบต้องรองรับเด็กได้มากขึ้น พร้อมกับทุ่นแรง ทุ่นเวลาให้บุคลากรทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้นแต่เหนื่อยน้อยลง จากเวอร์ชัน 2.1 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่มีการพึ่งพาแพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ ChatGPT ในอนาคตอันใกล้ เราหวังว่าจะได้ไปสู่เวอร์ชัน 3 ซึ่งอยู่ในแพลตฟอร์มโลกเสมือนจริงแบบ Metaverse ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนรู้และเชื่อมต่อกับเนื้อหาที่ต้องการได้อย่างใกล้ชิดกว่าที่เคย”
ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม กับภารกิจ ‘รับไม้ต่อ’ ดูแลเด็กที่เคยผ่านกระบวนการยุติธรรม
ด้าน ครูติ๊ก-ชัชวาลย์ บุตรทอง ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม และครูรุ่นใหม่ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตในฐานะข้าราชการครูมา 8 ปีเต็ม ณ โรงเรียนสวนหลวงสาธิต สปจ.อุตรดิตถ์ ก็ได้แบ่งปันเรื่องราวความท้าทายทั้งก่อนและหลังจากเขาก้าวเข้ามาบริหารศูนย์การเรียนฯ เมื่อ 2 ปีก่อน เขาเชื่อว่าตนเองและครูหลายๆ คนต่างเคยมีส่วนทั้งในกระบวนการดึงเด็กหลุดจากระบบการศึกษากลับเข้ามา และกระบวนการที่บังเอิญไปทำให้เด็กหลุดหายไปไกลยิ่งกว่าเดิม
“หลายปีก่อนเคยมีนักเรียนคนหนึ่งที่จำเป็นต้อง Dropout จากการเรียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พอห่างหายไปสักพักแกก็กลับเข้ามาใหม่ เดินเข้ามาหาผมเพื่อขอโอกาสกลับเข้ามาเรียนในโรงเรียนอีกครั้ง แต่ด้วยกระบวนการและข้อกำหนดหลายอย่างทำให้ในท้ายที่สุดเด็กคนนั้นไม่สามารถกลับเข้ามาได้ และภายในเดือนเดียวกันนั้นเอง แกก็ถูกตำรวจจับอีก
“แน่นอนว่าผมไม่โทษสถานศึกษาทั้งหมด หลายครั้งสถานศึกษาเองก็จำนนด้วยปัจจัยและข้อจำกัดมากมายที่มาจากส่วนกลาง อีกทั้งยังไม่มีอะไรมาการันตีว่าหากแกกลับเข้ามาเรียนแล้วจะไม่ถูกจับ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ผมเผลอหยุดคิดอยู่บ่อยครั้งว่าหากวันนั้นสถานศึกษาตัดสินใจให้โอกาสเขาไปโดยไร้เงื่อนไข เรื่องราวมันจะยังจบลงแบบเดิมไหม
“เป้าหมายของผมหลังจากการก้าวเข้ามาทำศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตชีวิตเพื่อสังคม จึงกลายมาเป็นการ ‘รับไม้ต่อ’ ดูแลเด็กที่กลับออกมาจากกระบวนการยุติธรรมให้เขาได้หาเส้นทางของตัวเองเจออีกครั้งและก้าวไปสู่ความฝันได้ เพราะชีวิต ‘ช่วงรอยต่อ’ หลังกลับออกมา ถือเป็นช่วงที่เขากำลังเปราะบางและถูกสังคมตีตราว่าเป็น ‘เด็กคุก’ ไม่ว่าคดีความของเขาจะเป็นคดีลหุโทษที่เล็กน้อยเพียงใดก็ตาม”
โจทย์ของคนในระบบคือต้องปรับระบบให้สอดรับ เพิ่มโอกาส เพิ่มทางเลือกการศึกษา
ปิดท้ายด้วย ดร.สิทธิพล พหลทัพ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จังหวัดราชบุรี กล่าวถึงความท้าทายที่ตัวเขาประสบในฐานะคนในระบบว่า
“จากที่ฟังปัญหาที่สะท้อนมาจากทุกฝ่าย โจทย์ที่ใหญ่ที่สุดที่ผมเชื่อว่าเราจะต้องตีให้แตกคือ ในเมื่อปัจจุบันนี้ การศึกษาในระบบยังคงเป็นรูปแบบการศึกษาที่เราลงทุนกับมันมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นรูปแบบการศึกษาที่ประกันคุณภาพได้ง่ายที่สุด แล้วเราควรจะทำอย่างไรที่จะยื้อเด็กที่เหมาะกับระบบเอาไว้ ให้เขาเข้าเรียนและจบการศึกษาตามระบบให้ได้มากที่สุด
“เด็กในระบบที่เราพบเจอทุกวันนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กกลุ่มบนที่มีความพร้อม เด็กกลุ่มกลางคือเด็กทั่วไปที่อาจไม่พร้อมแค่ในบางด้าน แต่มีศักยภาพพอที่จะแข่งขันในระบบเดียวกับเด็กกลุ่มบนได้ ตามมาด้วยเด็กกลุ่มท้ายซึ่งถูกเหนี่ยวรั้งเอาไว้ด้วยความขาดแคลนหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางครอบครัว การเงิน สุขภาพ
“เมื่อผู้เรียนในระบบมีความหลากหลายเช่นนี้ การออกแบบระบบที่จะสามารถรองรับและตอบสนองความต้องการของผู้เรียนทุกกลุ่มได้จึงไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะสำหรับเด็กกลุ่มท้ายที่เสี่ยงถูกผลักให้ห่างออกไปจากระบบการศึกษาเรื่อยๆ หากเรามัวใช้แต่ระบบเดิมๆ ที่บังคับให้เรียน 80% และส่งงานเป็นปริมาณเท่านั้นเท่านี้เพื่อให้มีสิทธิ์สอบ ทั้งที่เด็กกลุ่มท้ายบางคนไม่มีแม้แต่เครื่องเขียน ข้าวกลางวันวันพรุ่งนี้ หรือแม้กระทั่งผู้ปกครอง
5 ข้อเสนอจาก 5 หัวหอกขับเคลื่อน ‘รูปแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น’ ในจังหวัดราชบุรี
คุณเมทิกา อำนาจเจริญพล: “ปัจจุบันทางหอการค้าได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะอนุกรรมการดูแลเด็กและสตรีที่ท้องก่อนวัยอันควร พร้อมจัดกิจกรรมให้เด็กและสตรีกลุ่มนี้ทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบ ทั้งโคฟเวอร์แดนซ์ ร้องเพลง กีฬา งานฝีมือ ฯลฯ ให้เขาได้เข้ามาทำแสดงความสามารถ ค้นหาตัวเอง และปรึกษาเส้นทางอาชีพต่อไป
“จากประสบการณ์ที่ได้ลงไปสัมผัสเด็กๆ และสังเกตการณ์กิจกรรมเหล่านี้ พบว่าการเปิดโอกาสเด็กๆ ได้เข้ามาพบปะพูดคุยกับคนทำงานนั้นช่วยได้มาก หลายครั้งเด็กๆ เริ่มมีกำลังใจ เริ่มมองเห็นที่ทางของตัวเอง และเริ่มจินตนาการออกว่าจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางใดก็ต่อเมื่อได้มาเห็นชีวิตจริงๆ ของคนทำงานกับตาตัวเอง”
ครูหน่อง-วิทิต เติมผลบุญ: “ขอส่งสารไปถึงคนที่ทำงานดูแลประเทศว่า กสศ.ได้วางโครงสร้างและแผนงานเอาไว้ยาวไปถึงปี 2570 ว่าจะสามารถ Set Zero ระบบ แล้วสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายขึ้นในระบบได้อย่างไรบ้าง สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ
1. ความร่วมมือในการทำงานผลักดันจากทุกกรม ทุกกระทรวง ให้นโยบายล้อไปด้วยกันและสอดรับซึ่งกันและกัน
2. การเก็บเกี่ยวข้อมูลของเด็กเข้ามาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะดึงมาจากทะเบียนราษฎร์หรือจากทางใดก็ตาม ให้มั่นจะว่าเราจะสามารถไปสู่เป้า Zero Dropout ได้จริง
3. การตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าจะทำให้สำเร็จภายในกรอบเวลาเท่าไร เช่น หากสำเร็จได้ภายในปี 2570 ตามเป้าของ กสศ. ก็จะดีมากทีเดียว”
ครูตูน-พิมพ์ชนก จอมมงคล: “อยากเห็นราชบุรีกลายเป็น Learning City หรือ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ โดยแท้จริงที่บูรณาการโยงหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ ทั่วเมืองให้เชื่อมถึงกัน เช่น หากเด็กสนใจด้านนาฎศิลป์ก็สามารถเดินทางไปเรียนกับสถาบันที่เชี่ยวชาญด้านนี้ หากสนใจหนังใหญ่ก็สามารถเดินทางไปเรียนจากผู้รู้จริงที่วัดขนอน
“ซึ่งถ้าจะให้ทำได้จริง สิ่งที่เราจะต้องก้าวข้ามไปให้ได้คือการจัดสรรงบให้สถานศึกษาโดยคิดเป็นรายหัว งบประมาณเป็นสิ่งที่สร้างได้ทั้งโอกาส แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถกลายเป็นข้อจำกัดได้ด้วย ยกอย่างการทำงานของทวิภาคีในช่วงที่ผ่านมา เราบูรณาการหน่วยการเรียนรู้ในจังหวัดให้ทำงานร่วมกันได้ยากมากเมื่องบถูกจัดสรรมาในรูปแบบนี้ จึงอยากตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอต่อทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า เราสามารถสร้าง Learning City ขึ้นมาได้ด้วยมือเรา ขอเพียงเราเอาประโยชน์ของเด็กๆ เป็นที่ตั้ง”
ครูติ๊ก-ชัชวาลย์ บุตรทอง: “อยากเชิญชวนคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มาช่วยกันทำการศึกษาทางเลือก ถ้าคุณกลับไปทำงานที่ภูมิลำเนาของตนเอง หลายคนก็จะสังเกตเห็นได้ทันทีว่าเด็ก Dropout นั้นมีอยู่ในทุกที่ ใครก็ตามที่มองเห็นเด็กๆ เหล่านี้และอยากช่วยเหลือ อยากเพิ่มโอกาส เพิ่มทางเลือกให้เขา คุณมีที่ปรึกษามากความสามารถมากมายให้เลือก เช่น หากอยากทำศูนย์การเรียนให้เขา ปรึกษาครูหน่อง-วิทิต
“อย่างผมเองเป็นครูในระบบ แต่ก็สามารถปลีกเวลามาทำงานบริหารศูนย์การเรียนรู้ได้ในช่วงเย็น ช่วงเสาร์อาทิตย์ ยังไม่นับช่วงเวลาปิดเทอมที่เราจะมีพละกำลังและเวลามหาศาลที่เราสามารถนำมาลงทุนกับอนาคตของเด็กๆ โดยใช้ความรู้ ทักษะ และของที่เรามีอยู่ในมืออยู่แล้ว อย่างหลักสูตรต่างๆ”
ดร.สิทธิพล พหลทัพ: “ทางออกคือโรงเรียนจึงจำเป็นจะต้องเร่งออกแบบระบบการเรียนรู้และหลักสูตรให้ยืดหยุ่นและสอดรับกับการดูแลเด็กทุกๆ กลุ่ม เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดจะอยู่ในสายตาและการดูแลช่วยเหลือของครูและบุคลากร หากโรงเรียนรู้จักนักเรียนทุกคนอย่างทะลุปรุโปร่งไปถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขของเด็ก เราก็จะสามารถออกแบบโปรแกรมการเรียนรู้สำหรับเด็กแต่ละคนออกมาได้
“นวัตกรรมล่าสุดที่น่าสนใจจากส่วนกลางและสมัชชาการศึกษาจังหวัดราชบุรี คือโครงการ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ กล่าวคือภายในโรงเรียนเดียว นอกจากรูปแบบการศึกษาสำหรับนักเรียนกลุ่มทั่วไปที่ไม่ได้มีปัญหา ก็จะยังมีรูปแบบการศึกษาอีก 2 ระบบที่รองรับเด็กกลุ่มเปราะบางด้วย โดยที่เขาไม่จำเป็นจะต้องถูกบังคับเข้ามานั่งในห้องเรียนทุกวัน สามารถเข้าเรียนได้ตามสะดวก พร้อมหาทางให้นักเรียนสามารถเข้าถึงบทเรียนจากที่บ้านได้ โดยครูมีหน้าที่เข้าไปบูรณาการการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน หรือชั่วโมงการทำงานของเด็กให้เข้ากับสาระการเรียนรู้ เพื่อที่จะได้นับหน่วยกิตได้
“และสุดท้าย อยากฝากถึงทุกคน ไม่เฉพาะแค่คนในระบบการศึกษา โปรดอย่าลืมว่าการศึกษาเป็นเรื่องของเราทุกคนโดยแท้จริง เมื่อไรก็ตามที่เกิดปัญหาขึ้นในสังคม เมื่อไรที่มีเนื้อหาข่าวสะท้อนภาวะพลเมืองไม่มีคุณภาพ ทุกคนจะมองย้อนกลับมาโทษการศึกษาก่อนเป็นอย่างแรก เห็นได้ชัดว่าทุกคนได้รับผลกระทบจากความบกพร่องของระบบการศึกษาหมด ฉะนั้น หากเราต้องการให้ระบบดีขึ้น เราทุกคนจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันผลักดันให้สิ่งนี้กลายเป็นวาระแห่งชุมชน วาระจังหวัด และวาระแห่งชาติต่อไป”