เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมกับ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และมูลนิธิพัฒนาประชาสังคม ได้จัดสัมมนาและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ‘เครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา’ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ได้ร่วมแสดงความเห็นในช่วงการเสวนาหัวข้อ ‘การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ’ โดยกล่าวสนับสนุนแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับภาคประชาสังคมและชุมชนเป็นกลุ่มหรือเป็น “เครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา” ว่าเป็นแนวทางที่ดีในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและลดความเหลื่อมล้ำ
ในงานวิจัยล่าสุดของ Raj Chetty นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดที่นำเอาข้อมูลจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก 72.2 ล้านคนในสหรัฐอเมริกามาวิเคราะห์ พบว่า หากเด็กในกลุ่มยากจนด้อยโอกาสได้รับโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่มีระดับเศรษฐฐานะสูงกว่า หรืออยู่ในโรงเรียนหรือเมืองที่มีระดับความกลมกลืนระหว่างเศรษฐฐานะสูง จะทำให้พวกเขามีทัศนคติในชีวิตที่มีความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จดีขึ้น และนำไปสู่รายได้ในระยะยาวที่มากกว่า
“ที่ผ่านมา กสศ.ได้ริเริ่มโครงการนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network) ที่มีการนำนักเรียนทุนเสมอภาคกับนักเรียนในกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ มาทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์และนำไปขายในช่องทางต่างๆกันด้วยกัน นอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะด้านการทำงานร่วมกันแล้ว ยังทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างเด็กที่มาจากพื้นฐานแตกต่างกัน ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างคนในสังคมมากขึ้น นอกจากนั้น กสศ. ยังมีโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือที่เรียกว่า TSQP (Teacher and School Quality Program) ที่สามารถนำหลักการและประสบการณ์หลายด้านมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนาได้ โดยเฉพาะแนวทางในการพัฒนานักเรียนให้มีระเบียบวินัย มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความเป็นประชาธิปไตย”
ดร.ภูมิศรัณย์ ยังได้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลในการทำงานร่วมกันในการออกแบบการเรียนรู้ รวมถึงนำมาใช้เพื่อพิจารณาการให้ความช่วยเหลือให้ตรงจุด ซึ่ง กสศ.ใช้ระบบฐานข้อมูลนี้ในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน หน่วยงานรัฐและภาคีเครือข่าย เพื่อทำให้เห็นภาพที่ตรงกันจากฐานข้อมูลชุดเดียวกัน โดย กสศ. ยินดีที่จะร่วมมือในเรื่องการพัฒนาฐานข้อมูลให้ขยายออกไปอย่างครอบคลุม และพร้อมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนที่ กสศ.ทำงานด้วย กับโรงเรียนในกลุ่มร่วมพัฒนา เพื่อร่วมสนับสนุนกันและกันในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ในการสัมนาและพิธีลงนามครั้งนี้ มี นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป รองประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย สมาชิกวุฒิสภา ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้แทนคณะกรรมการสถานศึกษา 23 โรงเรียน เข้าร่วม
นายแพทย์พลเดช กล่าวว่า ความยากจนเป็นปัญหาเรื้อรังที่ประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวพ้นไปได้ ผลจากการพัฒนา 60 ปี ทำให้ประเทศมีความเจริญเติบโตในทุกด้าน แต่ยังคงติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางอยู่กว่า 2 ทศวรรษ จำนวนคนยากจนขยับขึ้นลงตามสถานการณ์วิกฤติ ความเหลื่อมล้ำด้านต่าง ๆ ในสังคมยิ่งขยายกว้างมากขึ้น ดังนั้น ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพคือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการแก้ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ดังตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่สามารถฟื้นฟูประเทศได้อย่างรวดเร็วภายหลังสงคราม
สำหรับแนวคิดโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ถือเป็นแนวคิดที่มีความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาแนวใหม่ ที่สามารถขจัดความเหลื่อมล้ำและลดความยากจนได้ โดยมีลักษณะสำคัญ 10 ประการคือ
1) มุ่งสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ
2) เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง
3) การปรับการเรียนเปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ
4) คิดนอกกรอบ ทำสิ่งที่แตกต่าง
5) สอนประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในชีวิตจริง
6) เอาใจใส่ต่อกลุ่มชายขอบ
7) ตั้งคำถามให้คิด คิดคำตอบให้ตรงคำถาม
8) ฝึกวินัยต่อตนเอง
9) ฝึกนวัตกรรมรุ่นเยาว์
10) เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน
ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ ด้วยความร่วมมือกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ มูลนิธิพัฒนาประชาสังคม และเครือข่ายศูนย์ประสานภาคีการพัฒนาจังหวัด (สภาประชาสังคมไทย) จึงได้ประสานความร่วมมือขยายเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา โดยในปี 2565 มีพื้นที่ที่สนใจเข้าร่วมแล้ว จำนวน 108 แห่ง ใน 21 จังหวัด ซึ่งสามารถเริ่มดำเนินการได้ก่อนจำนวน 20 โรงเรียน ส่วนที่เหลือจะได้ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคีสนับสนุนต่อไป