เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จัดงาน ‘ผนึกกำลังขับเคลื่อนไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม’ ภายในงานมีการจัดเสวนาเรื่อง ‘From Research to Practice: การใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เพื่อขับเคลื่อนประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13’ โดยมี ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมเสวนาและนำเสนอแนวทางในการใช้ข้อมูลและงานวิจัยออกแบบระบบงบประมาณด้านการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางสร้างเสมอภาคอย่างยั่งยืน
นายดนุชา พิยชนันท์ เลขาธิการ สศช. ระบุว่า วิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรม คือเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อพลิกโฉมประเทศไทย และเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา งานวิจัยยังสามารถสร้างแนวทางที่ชัดเจนและตรงเป้าหมายในการผลิตและพัฒนากำลังคนแบบก้าวกระโดด ให้เกิดความสามารถและสมรรถนะที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคต
นอกจากนี้ วิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรม ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์และบูรณาการนโยบายในการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจโดยใช้ชุมชนเป็นฐานรากของการพัฒนา เกิดกลไกความร่วมมือในพื้นที่ สนับสนุนบทบาทท้องถิ่นในการจัดทำแผนพัฒนาที่สอดคล้องกับการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาความยากจนในกลุ่มคนเปราะบางให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเองและหลุดพ้นจากวงจรความยากจนข้ามรุ่น
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การผลักดันงานวิจัยและเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการทำวิจัยเพื่อปิดช่องว่างในส่วนที่ยังต้องการคำตอบ สร้างกลไกการทำงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ เชื่อมโยงฐานข้อมูลและเป้าหมายในการทำงานให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้ความรู้จากงานวิจัยเป็นฐานในการกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อการแก้ไขปัญหาไได้อย่างตรงจุด
ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. กล่าวว่า เป้าหมายในการพัฒนาระบบ ววน. คือการพัฒนาบุคลากรสู่ความเป็นเลิศ มุ่งหวังให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทุนและทรัพยากร โดยที่ผ่านมามีการนำผลงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมไปใช้ในการยกระดับพื้นที่ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ. เป็นหน่วยงานที่นำผลงานวิจัยมาใช้ในการออกแบบระบบงบประมาณด้านการศึกษาเพื่อความเสมอภาคและเป็นธรรม โดยมีการสร้างเครื่องมือ Provincial Education Account หรือ PEA ที่พัฒนามาจากระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Account of thailand: NEA) ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทยจากทุกแหล่ง ครอบคลุมทั้งรายจ่ายของภาครัฐส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจเอกชน และภาคต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด
ทั้งนี้ กสศ. ได้นำข้อมูลดังกกล่าวมาจำแนกและวิเคราะห์ความเท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายทรัพยากรทางการศึกษาของแต่ละจังหวัด เชื่อมโยงกับคุณภาพด้านการศึกษาและสภาพเศรษฐกิจรายพื้นที่ รวมถึงนำไปสร้างต้นแบบและพื้นที่นำร่องเพื่อการจัดการทรัพยากรและงบประมาณด้านการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
“งานวิจัยสามารถสร้างมิติการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ซึ่งแตกต่างกันได้ และสร้างแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด งานวิจัยที่ไม่หยุดนิ่งจะเป็นกลไกที่ดีในการสร้างนโยบายที่สำคัญทั้งต่อการปฏิรูประบบการศึกษาในมิติคุณภาพ และมิติความเสมอภาคต่อผู้เรียนทุกคนในระบบการศึกษา สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการในแต่ละพื้นที่ รวมถึงสามารถปรับสมดุลในการลงทุนด้านการศึกษา ปิดจุดอ่อนที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบ และเอื้อให้เด็กตัดสินใจเรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เยาวชนไทยมีความรู้ในระดับมาตรฐานสากล ลดปัญหาด้านการผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ อันจะส่งผลให้ GDP ของประเทศเติบโตได้ถึง 3 เปอร์เซ็นต์” ดร.ไกรยส กล่าว
ด้าน ดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ หัวหน้าทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ NECTEC สวทช. กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรม ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารกับทุกภาคส่วน เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศ โดยที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การพัฒนาประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรม ในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าได้ และมีการเก็บข้อมูลในมิติต่างๆ ในระดับครัวเรือน เช่น สุขภาพ ความเป็นอยู่ โอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมถึงข้อมูลเชิงลึกระดับครัวเรือนของแต่ละจังหวัด ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้แต่ละจังหวัดสามารถนำไปออกแบบความช่วยเหลือและบริหารจัดการได้อย่างถูกจุด และลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐได้