เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ จัดประชุมชี้แจงการเปิดรับข้อเสนอโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง ปี 2568 จากสถานศึกษาทั่วไปที่สนใจและจัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญา สถานศึกษานวัตกรรมต่อเนื่อง และสถานศึกษาผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสการพัฒนาและศึกษาต่อในสายอาชีพชั้นสูง สอดรับแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 สร้างโมเดลพัฒนากำลังคนสายอาชีพตอบโจทย์ความต้องการเชิงพื้นที่ และความต้องการตลาดแรงงานในประเทศ
ทั้งนี้ กสศ. จะคัดเลือกข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพสูงสุดตามเกณฑ์เพื่อสนับสนุนงบประมาณเพื่อการดำเนินงานตามโครงการที่ผ่านการพิจารณา โดยขอเชิญสถานศึกษาที่สนใจจัดส่งข้อเสนอโครงการผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 13 – 27 ธันวาคม 2567
ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สร้างโอกาสให้เยาวชนได้ศึกษาต่อในระดับสูงกว่าภาคบังคับในสายอาชีพชั้นสูง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ปัจจุบันมีเยาวชนได้รับทุน 13,924 คนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ เรียนจบแล้ว 6,596 คน ส่วนใหญ่เป็นคนแรกของครอบครัวที่เรียนสูงกว่า ม.6 ได้ใช้ทักษะในการทำงานยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวให้หลุดพ้นวงจรจนข้ามรุ่นได้ทันที โดย กสศ. มีการประเมินผลลัพธ์การลงทุนกับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ภายใต้การลงทุน 1 บาท สามารถสร้างมูลค่าทางสังคมได้ถึง 2.57 บาท
การลงทุนภายใต้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาสายอาชีพและสถานประกอบการ พัฒนาต้นแบบการสนับสนุนทุนการศึกษาสายอาชีพ ให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายได้พัฒนาตนเองในสาขาอาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน สนับสนุนสถาบันการศึกษาสายอาชีพให้ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน สร้างสมรรถนะ รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมจัดการศึกษาในระบบทวิภาคีที่มีประสิทธิภาพสูง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบดูแลป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา และระบบส่งเสริมสุขภาพจิตผู้เรียนไปพร้อมกัน
โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จึงเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมเยาวชนทุกคนให้เข้าถึงโอกาสที่เสมอภาค ในการศึกษาและพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ และจะเป็นกุญแจสำคัญให้ประเทศไทยสามารถยุติปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และเป็นเครื่องมือในการพาประเทศไทย หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางในประชากรรุ่นนี้
นายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวถึงนโยบายการจัดการศึกษาสายอาชีพเพื่อนำไปสู่การมีงานทำสำหรับเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ว่าประเทศไทยมีความต้องการกำลังคนสายอาชีพจำนวนมาก ขณะที่อัตราการผลิต ณ ปัจจุบันยังไม่เพียงพอ และไม่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำในมิติเศรษฐกิจและการศึกษาที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ดังนั้นการใช้ ‘ทุนการศึกษา’ เข้ามาเป็นกลไกหนึ่งในการรับมือกับปัญหาที่กล่าวมา จึงเป็นทางออกหนึ่งของการพาประเทศพ้นจากสภาวะที่เป็นอยู่
“ทุนพิเศษในรูปของทุนการศึกษา จะมีส่วนอย่างมากในการช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มด้อยโอกาส ให้เข้าถึงโอกาสในการเรียนที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ และสามารถพัฒนาตนเองจนเป็นบุคลากรสายอาชีพที่มีทักษะขั้นสูง อันหมายถึงการเพิ่มขีดความสามารถของทุนมนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศโดยตรง ทั้งนี้หลังหลังจากที่ กสศ. และ สอศ. ได้ร่วมมือกันผลิตบุคลากรสายอาชีพรุ่นใหม่มาแล้วหลายรุ่น ในปีการศึกษา 2568 ที่จะถึงนี้ ได้มีการพิจารณาถึงความร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างระบบผลิตและพัฒนากำลังคนระดับจังหวัด โดยมี 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.จะทำอย่างไรถึงสามารถเพิ่มกำลังแรงงานที่มีสมรรถนะสูงได้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ 2.จะพัฒนาหลักสูตรอย่างไรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และ 3.จะมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้สถานศึกษาพัฒนาบุคลากรพร้อมการันตีการมีงานทำได้ 100%
“ที่ผ่านมา สอศ. ได้ร่วมมือกับหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างหลักสูตรผ่านการสอบถามความต้องการจากสถานประกอบการ ด้วยแนวคิด ‘เอาคนเป็นตัวตั้ง’ ก่อนพัฒนาหลักสูตรที่ออกแบบร่วมกันให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปเพื่อผลิตคนได้ตรงกับการใช้งานที่สุด นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการพัฒนาบุคลากรครูและเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อให้ท้ายที่สุดนักศึกษาสายอาชีพที่จบออกมาจะต้องทำงานได้จริง ซึ่งหลักสูตรที่ประสบความสำเร็จและให้ผลตอบแทนสูง คือการจัดการเรียนการสอนแบบ ‘ทวิภาคี’ ที่ผู้เรียนจะได้ศึกษาพร้อมลงมือปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ ซึ่งประโยชน์แรกคือการเห็นสถานการณ์จริงและได้เรียนรู้เทคโนโลยีปัจจุบัน สองคือการมีรายได้ระหว่างเรียนซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการดูแลตนเองและแบ่งเบาภาระครอบครัวได้โดยไม่ต้องรอให้เรียนจบ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า นักศึกษาบางคนต้องหลุดจากการเรียนรู้กลางทาง ด้วยภาระทางเศรษฐกิจ วิธีการนี้จึงช่วยเติมความเชื่อมั่นให้ผู้เรียน และเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องอย่างยิ่งต่อการศึกษาในปัจจุบัน”
นายภาคภูมิ สกลภาพ คณะกรรมพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทย กล่าวถึงนโยบาย Connect the Dot ของหอการค้าไทย ที่เชื่อมต่อจุดสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ เริ่มจากสภาหอการค้าไทยรวบรวมผู้ประกอบการภาคเอกชนทั่วประเทศ เชื่อมต่อกับ กสศ. ในฐานะหน่วยงานที่ให้ทุนการศึกษา และ สอศ. ในฐานะผู้ออกแบบหลักสูตรและผลิตกำลังคน โดยสภาการค้าไทยที่มีหอการค้าจังหวัด รวมผู้ประกอบการหลากหลายอาชีพเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งได้มองถึงการเชื่อมต่อจุดเพื่อสร้างระบบผลิตคนทำงานที่มีประสิทธิภาพ หรือการสร้างเครือข่ายพัฒนากำลังคนในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัด ทั้งนี้ได้มองถึงการผลักดันกลุ่มเยาวชนด้อยโอกาสแต่มีศักยภาพ ให้ได้รับการศึกษาต่อในสายอาชีพระดับสูง และในปี 2568 จะเป็นครั้งแรกของ ‘หลักสูตรสถานศึกษาผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพระดับจังหวัด’ ที่นำร่องใน 3 จังหวัดเป็นต้นแบบได้แก่ ขอนแก่น กำแพงเพชร และภูเก็ต
“ในกระบวนการทำงานเชิงพื้นที่ อันดับแรกคือเราจะเลือกกลุ่มอาชีพตามยุทธศาสตร์จังหวัด โดยสอบถามความต้องการจากสภาหอการค้าจังหวัด ต่อมาคือเลือกสถานศึกษา ซึ่งจะไปสู่ขั้นตอนต่อไปคือพัฒนาหลักสูตรร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและสถานศึกษา ให้เป็นหลักสูตรที่ทันต่อความต้องการ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงการผลิตคนที่ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ โดยเมื่อได้นักศึกษาผู้รับทุนแล้ว จะมีการบ่มเพาะให้มีทักษะการทำงานพร้อมเสริมด้วยทักษะอนาคต (Future Skills) ผ่านการจัดการเรียนรู้แบบทวิภาคี ซึ่งเป็นการเรียนเชิงประสบการณ์ที่ผู้เรียนจะใช้เวลาประมาณ 50% ในสถานประกอบการ ดังนั้นผู้เรียนจะได้เรียนรู้งานจากการปฏิบัติและสามารถทำงานได้จริง และเนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องมีการเติมทักษะเพื่อการพัฒนาตนเองรองรับอนาคต
“การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับผ่านประสบการณ์ และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ยกระดับทักษะฝีมือได้รวดเร็ว อีกทั้งทักษะซึ่งพัฒนาขึ้นผ่านการทำงานจริง จะตรงกับความต้องการและสามารถต่อยอดได้โดยไม่ล้าสมัย ที่สำคัญเด็กจะมีรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งส่งผลต่อการไม่หลุดจากการศึกษา และด้วยเป้าหมายของการการจัดการศึกษาแบบทวิภาคีคือมุ่งไปที่การมีงานทำ จึงการันตีได้ว่าเมื่อจบการศึกษาแล้วผู้เรียนจะทำงานต่อเนื่องได้ทันที โดยสถานประกอบการเองก็ไม่ต้องเสียเวลาเทรนงานใหม่”
คณะกรรมพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการจัดการศึกษาบนหลักสูตรสถานศึกษาผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพระดับจังหวัด คือเยาวชนในพื้นที่ที่ได้รับการบ่มเพาะ จะมีวุฒิการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับ มีความรู้ ทักษะ ความชำนาญเฉพาะทางในสายอาชีพนั้น ๆ ส่วนสถานประกอบการก็จะได้คนที่ตรงกับความต้องการ คือสมรรถนะสูง มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน สำหรับสถานศึกษาก็จะได้พัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยร่วมกับสถานประกอบการ และท้ายที่สุดย่อมหมายถึงแผนงานพัฒนาจังหวัดก็จะเดินไปข้างหน้าได้ ด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์ที่เป็นระบบ”
นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปีการศึกษา 2568 จะเน้นที่หลักสูตร 2 ปี (ปวส./อนุปริญญา) เปิดรับ 3 ประเภททุน ได้แก่
- ทุนสำหรับสถานศึกษาทั่วไป โดยต้องเป็นสถานศึกษาที่เคยรับทุนจาก กสศ. มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
- ทุนสำหรับสถานศึกษานวัตกรรมต่อเนื่อง หมายถึงสถานศึกษาที่ได้รับทุนในปีการศึกษา 2567 และได้รับเลือกเป็นสถานศึกษานวัตกรรม ซึ่งได้รับการประเมินการให้ได้รับทุนต่อเนื่อง
- ทุนสำหรับสถานศึกษาที่ผลิตพัฒนากำลังคนระดับจังหวัด ซึ่งเปิดรับเป็นปีแรก นำร่อง 3 จังหวัด ซึ่งทุนนี้จะเปิดกว้างสำหรับทั้งสถานศึกษาใหม่และสถานศึกษาที่เคยเข้าร่วมโครงการมาก่อนในพื้นที่ 3 จังหวัด และสถานศึกษาที่อยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เคียง
*ขอนแก่น (จังหวัดพื้นที่ใกล้เคียง/หนองบัวลำภู อุดรธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา)
*กำแพงเพชร (จังหวัดพื้นที่ใกล้เคียง/ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์
*ภูเก็ต (จังหวัดพื้นที่ใกล้เคียง/พังงา กระบี่ ตรัง)
“ทุนสำหรับสถานศึกษาผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพระดับจังหวัด เป็นความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด สอศ. และ กสศ. เกิดขึ้นจากแนวคิดเรื่องการให้ความสำคัญกับการมีงานทำ โดยเฉพาะการทำงานในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้เรียน ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและลดช่องว่างของการผลิตพัฒนากำลังคน โดยจะเป็นตัวแบบโมเดลจังหวัดด้วยมุมมองที่ว่า ‘จังหวัด’ เป็นพื้นที่ที่มีขนาดไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไปในแง่ของการพัฒนากำลังคน ดังนั้นจึงสามารถดึงความร่วมมือจากสถานประกอบการ และหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาได้ ขณะเดียวกันก็มีเรื่องของยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัดที่มีเป้าหมายพัฒนาต่างกัน ทุนนี้จึงจะเข้าไปตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในจังหวัดนั้น ๆ โดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการทำงาน (Area Based) เพื่อส่งเสริมเยาวชนให้ได้ศึกษาและทำงานในพื้นที่บ้านเกิด เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ในระยะยาว” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าว
สถานศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถศึกษาข้อมูลที่ครบถ้วนได้ในประกาศโครงการฯ คลิก