เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยร่วมกับสันนิบาตเทศบาลจังหวัดภูเก็ตและเทศบาลนครภูเก็ตได้จัดการประชุมและการสัมมนาทางวิชาการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3/2563 ณ โรงแรมอังสนา ลากูน่า ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยได้รับเกียรติจากนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการเปิดประชุม
โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิเช่น นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต คณะกรรมาธิการบริหาร นายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาลปลัดเทศบาล และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมฯ
ในการประชุมดังกล่าวได้มีการบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ 1. ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 2. พันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ 3. รองศาสตราจารย์วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด และเป็นกลไกสำคัญในการทำงานเพื่อแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาและทำให้บริการสาธารณะเข้าถึงประชาชนได้ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็ง
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปประกอบกับประชาชนมีความคาดหวังกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ท้องถิ่นจำเป็นต้องปรับตัว และสร้างความเข้มแข็งให้เท่าทัน และสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ตและนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยได้กล่าวว่าสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นองค์กรกลางของหน่วยงานในสังกัดระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งช่วยเรื่องการบริหารจัดการและมีบทบาทในการผลักดันให้กฎหมายหรือระเบียบไปในทิศทางที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์ และความผาสุกแก่ประชาชน ปัจจุบันสมาคมฯ มีเทศบาลสมาชิก จำนวน 2,302 แห่ง โดยการสัมมนาวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับความรู้ และทราบถึงบริบทของเทศบาลในอนาคตเพื่อวางแนวทางในการบริหารงานได้อย่างเหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเอง ตลอดจนเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็งต่อไป
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้บรรยายพิเศษมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความใกล้ชิดและเข้าใจความต้องการที่ซับซ้อนของประชาชน จึงเป็นจุดจัดการปัญหาได้อย่างตรงจุด รวดเร็ว และมีประสิทธภาพ ดังนั้น ท้องถิ่นจึงควรเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา และในอนาคตท้องถิ่นควรริเริ่มการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น เช่น การจัดการการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องสนับสนุนพิเศษ เช่น ความพิการ ความบกพร่องทางการเรียนรู้ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการศึกษา โดยท้องถิ่นต้องมีบทบาทสำคัญในการมีสังคมที่ปลอดภัย ส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม และความร่วมมือของทุกภายส่วนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ในโอกาสนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำโดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. และนางสาวนิสา แก้วแกมทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ ได้รับเชิญจากสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยร่วมจัดนิทรรศการเพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ด้อยโอกาส ด้วยนวัตกรรมการจัดการเชิงพื้นที่ (Area-based Education) และเทคโนโลยีสารสนเทศ
โดย กสศ. นำเสนอ 2 เครื่องมือสำคัญ คือ 1) ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) ซึ่งเป็นระบบข้อมูลสารสนเทศที่ช่วยค้นหาเด็กและเยาวชนที่ยากจน ด้อยโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลือ ตลอดจนเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เครื่องมือดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นค้นหาและให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) แนวทางการพัฒนาเมืองตามกรอบแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ ขององค์การยูเนสโก ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาเมืองแบบองค์รวม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชากรทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ให้ข้อมูลว่า แนวทางการพัฒนาในอนาคต เมืองจะเป็นกลไกสำคัญในการปฏิวัติการเรียนรู้ และการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ยั่งยืน เพราะเมืองแต่ละแห่งมีบริบท เงื่อนไข ปัญหา และจุดแข็งที่แตกต่างกัน ด้วยเทคโนโลยีด้านข้อมูลสารสนเทศ และ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเตอร์เนตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IOT) ขอบเขตของห้องเรียนจะไม่สิ้นสุดอยู่ในรั้วโรงเรียนอีกต่อไปแล้ว แต่ห้องเรียนของเด็กเยาวชนในอนาคตคือเมืองทั้งเมืองที่เชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยี และการจัดการเมืองให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง
โดยแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ กสศ. ได้นำเสนอในโอกาสนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเมืองที่ท้องถิ่นเป็นผู้ริเริ่มและทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม นางสาวนิสา แก้วแกมทอง เสริมว่า การให้ท้องถิ่นเป็นจุดจัดการปัญหาจะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน