เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) มอบรถเข็นไฟฟ้าสำหรับคนพิการให้กับวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ กสศ. ที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว

นางสาวพัชราภา กิตะพาณิชย์ หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาความยั่งยืน กล่าวว่า บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) มีปรัชญาการดำเนินธุรกิจ คือ ‘3 สมบูรณ์ สร้างสมดุล’ ประกอบด้วย ฅนสมบูรณ์ ธุรกิจสมบูรณ์ และชุมชนสมบูรณ์ ‘ฅนสมบูรณ์’ ในที่นี้หมายถึง การส่งเสริมให้พนักงานสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง สร้างคุณค่าให้กับองค์กร และสร้างคุณค่าให้กับสังคม ‘ธุรกิจสมบูรณ์’ หมายถึง การสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นการสร้างประโยชน์ตอบโจทย์ผู้ร่วมทุนอย่างมีธรรมาภิบาล ‘ชุมชนสมบูรณ์’ หมายถึง การมีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้ชุมชนรอบข้างโรงงาน และสังคมในวงกว้าง อาทิ การสร้างโอกาสทางการศึกษา ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน เป็นต้น
“เชื่อมั่นว่า การช่วยกันดูแลกลุ่มเปราะบางในสังคม จะเป็นแรงหนุนให้เยาวชนกลุ่มนี้ออกไปแสดงศักยภาพของตัวเองได้ในอนาคต ด้วยความที่บริษัทเราทำเกี่ยวกับชิ้นส่วนยานยนต์ จึงมองว่า เรื่องของการช่วยเหลือเพื่อให้มีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงได้ติดต่อ กสศ. ให้ประสานกับวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ เพื่อจัดสรรวีลแชร์ไฟฟ้าให้กับนักศึกษาที่มีความต้องการแต่ขาดทุนทรัพย์ เพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวเคลื่อนตัวในชีวิตประจำวันง่ายมากขึ้น”


นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า กสศ. มีความเชื่อมั่นว่าผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ มีศักยภาพและมีความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ทั้งระดับประเทศ ระดับชุมชนท้องถิ่น และต่อตนเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำงาน เพราะที่ผ่านมาสถิติพบว่า ภาพรวมเยาวชนผู้พิการในประเทศไทยมีเพียง 1 ใน 3 ที่มีโอกาสเรียนหนังสือ และส่วนใหญ่เรียนจบเพียงระดับประถมศึกษาเท่านั้น กสศ. มีโอกาสทำงานกับวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ในการผลักดันเรื่องนี้มากว่า 3 ปี โดยพยายามหาคำตอบว่าการศึกษาแบบไหนจะทำให้เยาวชนกลุ่มนี้มีโอกาสทางการศึกษามากที่สุด และเห็นตรงกันว่า การเรียนสายอาชีวศึกษาน่าจะตรงกับความจำเป็นและความต้องการของเยาวชนกลุ่มนี้มากที่สุด เพราะเป็นการศึกษาที่ใช้เวลาเรียนไม่นานก็สามารถจบออกไปทำงานได้ ทั้งนี้ โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ มีระบบการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และทำงานร่วมกับภาคเอกชน
“เอกชนถือเป็นพาร์ตเนอร์ที่สำคัญในการทำงานส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ เนื่องจากมีความพร้อมทั้งรูปแบบในการทำงานและทรัพยากรที่สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาสทางการศึกษาได้ และมีกฎหมายที่เปิดโอกาสให้สามารถส่งเสริมเยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษ ให้สามารถทำงานได้ตั้งแต่ช่วงที่กำลังเรียนหรือการฝึกงาน รวมไปถึงการมีงานทำหลังเรียนจบ เอกชนสามารถมีบทบาททั้งเรื่องทุนการศึกษา การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หรือการช่วยเหลือเฉพาะทางด้านอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น การมอบรถเข็นไฟฟ้าในครั้งนี้”


ด้านนายคำพันธุ์ ราชดา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา กล่าวว่า รถเข็นไฟฟ้าที่บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) มอบให้กับวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่พัทยา จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเป็นอย่างมาก เพราะนักศึกษาทุนส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว เวลาเข็นรถไปไหนมาไหนบางครั้งต้องมีคนช่วย หากเป็นรถเข็นไฟฟ้าก็จะช่วยให้สามารถพาตัวเองไปไหนมาไหนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน