เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจเพื่อการสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ร่วมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านการศึกษาจากสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยได้รับเกียรติจากนายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ความสำคัญเปิดการประชุม ณ โรงแรมอมารีดอนเมืองแอร์พอร์ต กรุงเทพฯ
นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า สถ. และ กสศ. ได้ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก้าวสู่ปีที่ 6 เพื่อพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับเด็กเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และพัฒนาครู สถานศึกษา มาอย่างต่อเนื่องภายใต้ความร่วมมือการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงาน ทำให้เกิด 2 ผลลัพธ์สำคัญ คือ 1.การส่งต่อเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนสำหรับการคัดกรองความยากจนนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด อปท. ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้วยการจัดสรรเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค ได้มากกว่า 17,000 คน ต่อปีการศึกษา 2.เกิดการปฏิรูปรูปแบบการจัดสรรเงินปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ด้วยการใช้ข้อมูลการคัดกรองความยากจนชี้เป้าเพื่อการจัดสรรเงินนักเรียนเป็นรายบุคคล ได้มากกว่า 25,000 คน ต่อปีการศึกษา
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ผลลัพธ์ดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของผู้บริหารสถานศึกษาและคุณครูทั่วประเทศ ที่ร่วมกันลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียน ค้นหาและบันทึกข้อมูลนักเรียนเข้ามาสู่ระบบสารสนเทศเพื่อการคัดกรองความยากจนในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นฐานข้อมูลต้นทางสำคัญที่นำไปสู่การช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด 76 จังหวัด เป็นกลไกตัวกลางสำคัญในการสนับสนุน ติดตาม และประสานความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ยังมีสถานศึกษาและนักเรียนที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการคัดกรองความยากจนมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งส่งผลโดยตรงกับนักเรียนที่จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการจัดสรรเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค และเงินปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ที่อาจทำให้นักเรียนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษากลางคันเพราะความยากจนได้
“ต้องยอมรับว่าบริบทของท้องถิ่นมีประชากรที่มีฐานะหลากหลาย แม้บางจังหวัดจะเป็นเมืองเศรษฐกิจก็ยังพบว่า มีครัวเรือนจำนวนหนึ่งที่ยากจนและอาจจะตกสำรวจ ซึ่งประชากรกลุ่มนี้มาจากครอบครัวที่ไปใช้แรงงานในพื้นที่ มีเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ถูกทิ้งให้อยู่กับปู่ย่าตายาย จึงจำเป็นต้องสำรวจหาพวกเขา เพื่อนำข้อมูลนักเรียนยากจนในสถานศึกษาในสังกัด อปท. มาขับเคลื่อนการทำงาน เพราะยังมีข้อมูลที่น้อยเกินไปหรือข้อมูลยังไม่อัปเดต กสศ. จึงเป็นองค์กรที่ผมให้ความสำคัญมาก และขอขอบคุณแทนพี่น้องชาวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ และอยากให้ท้องถิ่นทุกแห่งให้ความร่วมมือร่วมกันสำรวจข้อมูลจากแต่ละพื้นที่ให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ลูกหลานของเรามีทุนทรัพย์และมีแนวทางการช่วยเหลือที่ช่วยให้พวกเขาได้ไปต่อ หวังว่าการปฏิรูปรูปแบบการจัดสรรปัจจัยพื้นฐานครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างปรากฏการณ์การขับเคลื่อนการดูแลเด็กนักเรียนยากจนในทุกมิติ เพื่อช่วยกันสร้างพวกเขาให้เป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป” นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าว
ด้าน นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ภายหลังจากที่ กสศได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ สถ. เมื่อปี 2562 เพื่อดำเนินการพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส และการพัฒนาคุณภาพครู สถานศึกษา แม้ MOU ดังกล่าวจะทำให้เกิดกลไกสนับสนุนสถานศึกษาเพื่อค้นหา คัดกรองความยากจน รับรองข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับความช่วยเหลือและเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาผ่านโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) หรือทุนเสมอภาค แต่ในปีการศึกษา 2566 กสศ. สำรวจพบว่า มีสถานศึกษาสังกัดสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวนกว่า 942 แห่ง จากสถานศึกษา 1,722 แห่งที่ไม่ได้คัดกรองข้อมูลนักเรียนเข้าสู่ระบบ ซึ่งทำให้นักเรียนในสถานศึกษาสังกัด อปท. อีกจำนวนมากไม่ได้รับการคัดกรอง ทำให้ไม่มีฐานข้อมูลสำหรับการช่วยเหลือนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส ส่งผลให้เสียโอกาสได้รับทุนเสมอภาคและความช่วยเหลือในมิติอื่นๆ
“กสศ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของการคัดกรองความยากจนนักเรียนโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค ซึ่งสามารถต่อยอดข้อมูลการคัดกรองความยากจนไปสู่การจัดทำคำของบประมาณปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนสำหรับช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ช่วยเป็นตัวกลางเชื่อมประสานไปยัง อปท. และสถานศึกษาในพื้นที่ดูแลของท่าน ได้เข้าใจและเห็นความสำคัญเพื่อสร้างกลไกเครือข่ายในระดับท้องถิ่น”
นายจีรศักดิ์ กาสรศิริ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาภาคีเครือข่าย สำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. นำเสนอสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ระบุว่า ปีการศึกษา 2566 ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองเป็นกลุ่มนักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษราว 1.8 ล้านคน โดย กสศ. สนับสนุนทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ (Extremely Poor) จำนวนกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด ขณะเดียวกัน กสศ. ได้ส่งข้อมูลจำนวนนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มยากจนทั้งหมดไปยังหน่วยจัดการศึกษาต้นสังกัด เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับจัดสรรเงินปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนเป็นรายบุคคล การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อค้นหาและบันทึกข้อมูลนักเรียนเข้ามาสู่ระบบสารสนเทศเพื่อการคัดกรองความยากจนนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด อปท. จึงมีความสำคัญต่อการนำไปสู่การช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายจีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า จากการที่ สถ. และ กสศ. ได้ร่วมกันผลักดันการทำงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดปีการศึกษา 2566 การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อค้นหาและบันทึกข้อมูลนักเรียนเข้ามาสู่ระบบสารสนเทศเพื่อการคัดกรองความยากจนของคุณครูสังกัด อปท. ทำให้นักเรียน 22,901 คน ได้รับทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากต้นสังกัด ในจำนวนนี้มีนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ 12,965 คน ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. Top up อีกทางหนึ่ง
“ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง อาจจะไม่ทราบว่าต้องใช้ข้อมูลจาก กสศ. และ สถ. สำหรับตั้งงบประมาณปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนขอตรงไปยังสำนักงบประมาณ เราจึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับโรงเรียนในสังกัด เพื่อให้ได้ข้อมูลจากการคัดกรองนักเรียนยากจนมาให้ท้องถิ่นนำไปตั้งงบประมาณสนับสนุนตามสิทธิ ซึ่ง กสศ. จะช่วยให้ท้องถิ่นมีข้อมูลอ้างอิงตัวเด็กกับสำนักงบประมาณได้ และนักเรียนในกลุ่มยากจนพิเศษจะได้รับทุนเสมอภาคเพิ่มเติมจาก กสศ.”