กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ บริษัท Sea (Thailand) เครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ
St Andrews International School Bangkok และคุณมารีญา พูลเลิศลาภ ในฐานะ Friend of Equity ชักชวนกันไปร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เบื้องหลังผลิตภัณฑ์งานคราฟต์อันประณีตจากน้อง ๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านป่าเลา จังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งได้ร่วมกันพัฒนากับเพื่อน ๆ โรงเรียนนานาชาติ จนกลายเป็นสินค้าชั้นดี
สำหรับกิจกรรมนี้เพื่อการศึกษาและต่อยอดแนวทางการทํางานร่วมกัน สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ระหว่างสถานศึกษา ครู นักเรียนในพื้นที่ชนบท และสถานศึกษาในเขตเมือง โดยการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันเพื่อส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ ความคิดสร้างสรรค์ และความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและโรงเรียนในเมือง
ที่สำคัญยังได้เรียนรู้การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลชนบทและโรงเรียนเมือง ผ่านโครงการพัฒนาความยั่งยืนของนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา “Equity Partnership’s School Network” ที่เดินทางมาถึงรุ่นที่ 4 แล้ว กับการเชื่อมความสัมพันธ์ของน้อง ๆ นักเรียน ที่เกิดขึ้นระหว่างทางของโครงการฯ ไม่ใช่แค่ความคิด ไอเดีย หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่น้องๆ ร่วมกันเนรมิตขึ้นจากความตั้งใจ
อะไรคือสิ่งที่ซ้อนอยู่ในโครงการนี้ เราไปฟังจาก ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. มาช่วยเฉลยความสงสัยว่า โรงเรียนบ้านป่าเลาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Equity Partnership เป็นโรงเรียนที่ได้ทำโครงการเมื่อปีที่ผ่านมาร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ และมีการทำผลิตภัณฑ์ประกวดได้รางวัลชนะเลิศ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของโครงการ Equity Partnership’s School Network ที่เห็นความร่วมมือระหว่างน้อง ๆ จากโรงเรียน St. Andrews International กับน้อง ๆ โรงเรียนในเครือข่ายนักเรียนทุนเสมอภาคของ กสศ. ที่เป็นโรงเรียนกลุ่มในพื้นที่ห่างไกลชนบท
โครงการดังกล่าวต้องการทำเพื่อช่วยสนับสนุนความคิด ทักษะอาชีพของน้องๆนักเรียน ที่สำคัญกว่านั้นยังมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลชนบท จะทำให้น้องๆนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้มีทักษะเรื่องของการทำงาน หรือมีทักษะในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนจนเกิดเป็นรายได้ ในขณะที่เครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ จะเข้าใจเรื่องสภาพปัญหาสังคมของประเทศไทยเกี่ยวกับการศึกษา ที่แม้จะเรียนในวัยช่วงชั้นเดียวกันกลับพบว่า คุณภาพการศึกษาต่างกัน ยิ่งกว่านั้นยังเกิดสัมพันธ์ที่ดีระหว่างน้องๆนักเรียนจากโรงเรียนพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย ทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงาน ได้การเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างนักเรียนที่มีความหลากหลายทางพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม มีการทำกิจกรรม การเรียนรู้ การทำงานร่วมกัน
“การทำให้สังคมไทย หรือทำให้ผู้คนมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในระยะยาวเชื่อว่าการที่เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันจากน้อง ๆ กลุ่มต่าง ๆ จะมีผลต่อเรื่องของการสร้างความเข้าใจ สำหรับนักเรียนกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ เขาอาจจะไม่ค่อยได้เห็นสภาพปัญหาของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลชนบทมากนัก การที่ได้มีโอกาสให้น้อง ๆหรือครูโรงเรียนนานาชาติ ออกมานอกสถานที่ ได้เห็นสภาพจริง ๆ ว่าประชากรส่วนใหญ่ของไทยเป็นอย่างไร เป็นการเปิดโลกทัศน์ที่ชัดเจน ในระยะยาวเขาจะสามารถนำประสบการณ์ หรือโอกาสทำงานร่วมกับโรงเรียนเหล่านี้กลับมาช่วยเหลือสังคมไทย หรือว่ามาช่วยเหลือโรงเรียนในประเทศไทยได้ เราหวังในระยะยาวว่าจะเป็นอย่างนั้น” ดร.ภูมิศรัณย์ สำทับอย่างหนักแน่น
แน่นอนเพียงภาครัฐอย่างเดียวคงไม่พอที่จะเข้าไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้สำเร็จทันที ถ้าไม่มีใครมาร่วมลงแรงและกำลัง แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง Sea (Thailand) มองเห็นโอกาสนำไปสู่แสงสว่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำ เรื่องนี้
คุณพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร Sea (Thailand) เปิดใจเล่าให้ฟังว่า ในปีนี้ sea ประเทศไทย ในนามของ Shopee ได้เข้าร่วมโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว ประโยชน์ของโครงการที่เห็นได้ชัดคือ น้อง ๆนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนนานาชาติ ได้ร่วมเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในการต่อยอดการขายผลิตภัณฑ์ให้ชุมชนจนเกิดรายได้จริง การได้เข้ามาเรียนรู้ด้วยกันเหมือนกับเป็นการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เปิดใจ ทดลองทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มที่เป็นรูปแบบใหม่ ๆ เมื่อได้ทดลองทำจะเห็นว่า Shopee มีเครื่องไม้เครื่องมือที่สามารถช่วยให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการมองเห็นจากกลุ่มเป้าหมายได้เพิ่มขึ้น โดยที่มีต้นทุนในการใช้งานที่ต่ำไม่ต้องลงทุนมาก นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนต่าง ๆ เห็นความสวยงามของผลิตภัณฑ์แล้วสั่งเป็นของขวัญปีใหม่เป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นอีกช่องทางสำคัญที่เราทุกคนจะเข้ามาช่วยกันสนับสนุนศักยภาพของน้องๆ นักเรียนให้สำเร็จตามฝัน
“น้อง ๆ นักเรียนสามารถที่จะขายของต่อไปบนช่องทางของ Shopee ได้ เพราะ Shopee มีโปรแกรม ที่ทำให้น้อง ๆ สามารถขยายโอกาสในการขายสินค้าออกนอกประเทศไทย เช่น ไปที่ประเทศสิงค์โปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ถ้าจะให้แนะนำไอเดียของผลิตภัณฑ์ อาจเป็นเรื่องการพัฒนาโดยดูจากรสนิยมของคนต่างชาติว่าเขามีความชอบสินค้าชนิดไหน ผลิตภัณฑ์ของน้อง ๆ มีความสวยอยู่แล้ว แต่ว่าจะทำอย่างไรให้มันใช้งานได้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ก็อาจจะต้องไปต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสในการกระจายสินค้าให้ได้เพิ่มขึ้น”
กว่าเส้นทางความสำเร็จของน้องๆ นักเรียนจะเดินทางมาถึงวันนี้ การมีโค้ชที่ดีย่อมสำคัญ อาจารย์สุเธียร โกกาธรรม ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าเลา อ.แม่ทา จ. ลำพูน หัวเรือใหญ่ของโรงเรียนบ้านป่าเลา ได้ย้ำว่า โรงเรียนบ้านป่าเลาเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีเด็กนักเรียนรวมทั้งหมด 103 คน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ ปกาเกอะญอ ล้วนมีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์และมีความสามารถในการทอผ้าได้สวยงามเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ที่เด็ก ๆ นักเรียนของโรงเรียนกับน้องๆนักเรียนโรงเรียนนานาชาติได้ร่วมกันออกแบบสร้างขึ้นมาประกวดจนได้รางวัล และขายสร้างรายได้ให้กับชุมชนในปัจจุบัน
“โอกาสนี้คือโอกาสที่ดี เพราะเป็นโครงการระดับประเทศ ทำให้เด็กมีความกระตือรือร้น สิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นเรื่องเดิม ๆ ตั้งแต่เด็ก เห็นแม่เห็นยายนั่งทอผ้ามองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ จบมาเขาไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่พอมาถึงตรงนี้เขาได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน สามารถต่อยอดไปขายในช่องทางออนไลน์สร้างรายได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าโรงเรียนทำจะทำได้แค่
โปรโมทในเพจโรงเรียน สื่อสารกันเฉพาะผู้ปกครองหรือคนที่ติดตามเพจ หรือว่าอาจจะลงได้แค่ในเขตพื้นที่จังหวัดลำพูนเท่านั้น” ผอ.โรงเรียนย้ำเป็นโอกาสดี
จากผ้าทอพื้นถิ่นตอนกำลังกลายเป็นความคิดจะทำให้ยั่งยืนควรเป็นอย่างไร เช่น การสร้างเป็นหลักสูตรท้องถิ่นของจังหวัดลำพูนเลยหรือไม่ โดยเริ่มต้นจากกระบวนการว่า สีมาจากไหน ย้อมอย่างไร ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลเรียนรู้พื้นฐานจนถึงระดับชั้นมัธยม สามารถเอาความรู้ที่ได้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลและระดับชั้นมัธยมมาทอผ้าได้ รู้ตั้งแต่กระบวนการทอผ้าพื้นฐานจนถึงทอแบบลายน้ำถือว่ายากที่สุด ตอนนี้เพียงไม่กี่คนที่ทำได้ หากเราสามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการทำได้ทุกคน ก็จะกลายเป็นว่าน้องๆนักเรียนได้เรียนหนังสือควบคู่กับการทำเสื้อขายผ่านช่องทางของโรงเรียนไปด้วย สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวและชุมชน โดยรายได้ส่วนหนึ่งสามารถเอากลับไปคืนสู่สังคมพัฒนาโรงเรียน พัฒนาสังคม
ด้าน Miss. Ananya Jagota นักเรียนจาก St. Andrews International School Bangkok ที่ได้เข้าร่วมโครงการ เปิดเผยว่า ที่ประทับใจที่สุดคือ การที่ทั้งสองโรงเรียนได้เปิดใจ เอาความคิดไอเดียต่าง ๆ มาแชร์มาแสดงความคิดเห็นกัน ยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน จนสุดท้ายมาลงตัวกลายเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนชอบกัน ทำให้มีความสุขและประทับใจมาก ที่มามารถทำผลงานร่วมกันออกมาได้ด้วยดี
“ข้อดีตรงที่ว่าเรามีไอเดียมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันมาก ตอนที่เราเอามาเข้าด้วยกัน เราก็จะได้สินค้าที่ใหม่มากที่คนส่วนมากเขาก็ไม่เคยเห็นมาก่อน มันทำประทับใจมาก ๆ ด้วยแม้ที่เราจะไม่ได้เป็นคนทำผ้าออกมา แต่ว่าเราดีใจที่จะได้ช่วยน้อง ๆ ขายสินค้าของเขา ก็ดีในมาก ๆ ที่ได้ร่วมงานนี้ค่ะ”
ปิดท้ายด้วยความรู้สึก ตัวแทนเพื่อนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่าง น้องน้ำเพชร ยอดขาว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านป่าเลา หนึ่งในนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เล่าความรู้สึกอย่างตื่นเต้นว่า ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เวลาว่างอาจจะไปเล่นโทรศัพท์ เล่นเกม แต่ครั้งนี้ได้ใช้เวลามาทอผ้า ได้มาคิดว่าต้องทำอย่างไรให้ลายผ้าไม่ซ้ำใคร ได้ทำงานกับคนที่ไม่รู้จัก ต่างวัฒนธรรมต่างภาษา ได้แลกเปลี่ยนได้พูดคุย ได้สื่อสารกับคนใหม่ ๆ ฝึกการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ แม้ต่างคนจะมีความคิดไม่เหมือนกันบ้าง แต่เมื่อเอาความคิดมารวมกันก็สามารถทำงานไปได้ด้วยดี จนทำผลงานได้สำเร็จออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อย่างที่เห็น รู้สึกดีใจมากที่ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่สำคัญยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนจากโรงเรียนนานาชาติ ที่มีวัฒนธรรมภาษา ความคิด แตกต่างกัน แต่เราสามารถเรียนรู้ทำงานร่วมกันอย่างลงตัว ดึงศักยภาพของแต่คนมาช่วยกันลงความคิดจนไปสู่ความสำเร็จ
สำหรับใครที่รอช้อปสินค้างานคราฟสุดประณีตของน้องๆนักเรียน อดใจรอกันอีกนิดเดียวทุกคนจะได้ร่วมกันอุดหนุนฝีมือของน้อง ๆ กันได้แน่นอน ซึ่งจะมาพร้อมสินค้าอีกหลายหลายแบบให้เลือกช้อปเลือกซื้อกัน
ชวนกันมาช้อป น้อง ๆ สุขใจแน่นอน…
ร่วมสนับสนุนโครงการ ฯ ได้ที่ คลิก