“ไข่ไก่” เป็นอาหารที่มีโภชนาการโปรตีนสูง รับประทานง่าย ดัดแปลงเป็นเมนูได้หลากหลาย ที่สำคัญเป็นอาหารจานโปรดของเด็กๆ ทุกเพศทุกวัย แต่ทว่ายังมีเด็กยากจนพิเศษอีกนับแสนชีวิตในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล แม้เพียงไข่ไก่สักฟองยังไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะซื้อมารับประทานเป็นอาหารบำรุงสมองและร่างกาย ร่างกายจึงอ่อนแอลงเรื่อยๆ ทำให้การพัฒนาทางสมองไม่เติบโตตามช่วงวัย หรือเติบโตช้าว่าเด็กวัยเดียวกัน
โรคขาดสารอาหารนับเป็นวายร้ายตัวฉกาจทำให้เด็กยากจนพิเศษไม่อยากไปโรงเรียน เพราะอับอายที่เรียนไม่ทันเพื่อนจากความหิวโหยอดยากที่ตัวเองประสบ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซ้ำเติมความยากจน ทำให้เด็กนับแสนชีวิตต้องเผชิญปัญหาทุพโภชนาขาดสารอาหารมากขึ้นทวีคูณ จึงกลายเป็นที่มาของโครงการดีๆ “อัคราอาสาปันอิ่ม ปันยิ้มให้สังคม” ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สร้าง “เครือข่ายขนส่งโภชนาการอาหาร” โดยเลือกบริจาค “ไข่ไก่” นับแสนฟองไปตามโรงเรียนแร้นแค้น เพื่อไปประกอบเป็นอาหารมื้อกลางวันเด็กที่ได้ทุนเสมอภาค แทนที่จะบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง ปลากระป๋อง หรือ เงิน ซึ่งไม่ได้ทำให้ท้องอิ่นเท่ากับ ไข่ไก่
โรงเรียนบ้านเขาส่องกล้อง อ.บ้านนา จ.นครนายก นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่ กสศ. เลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบร่วมจัดกิจกรรมโครงการ “อัคราอาสาปันอิ่ม ปันยิ้มให้สังคม” บริจาคไข่ไก่กว่าแสนฟองให้เป็นเมนูอาหารกลางวันแก่เด็กทุนเสมอภาค โดยใช้เครื่องมือระบบ iSEE ชี้เป้าโรงเรียนเพื่อช่วยเหลือน้องๆ ให้มีโภชนาการด้านอาหารและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

พร้อมสาธิตการทำอาหารจากเมนูไข่เลี้ยงเด็กๆ ทั้งโรงเรียนโดยฝีมือของคุณคมสันต์ วงศ์ษา หรือ ‘เดียว มาสเตอร์เชฟ’ อาทิ ไข่ตุ๋น ไข่พะโล้ ฯลฯ สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากความอร่อยที่ได้รับ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ได้เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ ความยากจนเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากปัญหาสังคมนั้นคือ “ความมั่นคงทางอาหาร” ที่บั่นทอนสุขภาพร่างกาย จิตใจ และครอบครัวเด็กยากจนพิเศษให้ต้องเป็นโรคขาดสารอาหาร หรือทุพโภชนาการส่งผลกระทบให้ไม่พร้อมมาโรงเรียน เนื่องจากความหิวโหยต้องอดมื้อกินมื้อทำให้พัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจถดถอย ดังนั้นโครงการ “อัคราอาสาปันอิ่ม ปันยิ้มให้สังคม” ถือเป็นโครงการฯ ที่เข้ามาเติมเต็มการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารให้กับนักเรียนกลุ่มเสี่ยงจากปัญหาขาดสารอาหาร ที่มีอยู่ราว 7 แสนคน และอีก 3 – 4 หมื่นคนที่เป็นโรคทุพโภชนาการได้ท้องอิ่มกลับมาเรียนหนังสือได้ตามปกติ
“เด็กนักเรียนทุนเสมอภาค 90% ไม่ได้ทานมื้อเช้า เพราะความยากจน พ่อแม่ต้องทำงานไม่มีเวลา จะกินอิ่มท้องเฉพาะมื้อกลางวันที่โรงเรียนเท่านั้น ส่วนมื้อเย็นเด็กบางคนทางโรงเรียนต้องห่อข้าวให้กลับบ้านไปทานที่บ้าน หรือเด็กบางคนไปขอข้าวก้นบาตรวัดข้างโรงเรียนมาทาน นี่คือปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารที่เด็กๆ ต้องเผชิญอยู่ ซึ่งเราจะเห็นว่าก่อนปิดเทอมเด็กจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่พอเปิดเทอมกลับร่างกายซูบผอม” ดร.ไกรยส กล่าว
สำหรับการสร้างความมั่นคงทางอาหารถือเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคเอกชนบริษัทผลิตอาหาร และ กสศ. ต้องมาช่วยกันสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply chain ด้านอาหารให้ไปถึงโต๊ะโรงอาหารกลางวันในโรงเรียน หรือแม้แต่จะทำอย่างไรให้สามารถส่งอาหารไปถึงบ้านครอบครัวเด็ก หากทำสำเร็จจะเป็นการสร้าง “เครือข่ายขนส่งโภชนาการอาหาร” ให้กับโรงเรียนและครอบครัวเด็กทุนเสมอภาคได้ท้องอิ่มไม่อดมื้อกินมื้ออีกต่อไป นับเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต้องมองมิติอื่นๆ ด้วย เช่น สถาบันครอบครัว จากการพูดคุยกับน้องๆ เด็กนักเรียนทุนเสมอภาคที่โรงเรียนบ้านเขาส่องกล้องที่ได้รับทุน พบว่ากว่า 50% เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ส่วนใหญ่อยู่กับปู่ยาตายาย ดังนั้นครูและโรงเรียนต้องเป็นที่พึ่งและให้การดูแลเด็กกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ อีกปัญหาที่พบ คือ ความปลอดภัยในการเดินทางมาโรงเรียน ช่วงวัยประถม 1 – 6 ยังมีความปลอดภัยอยู่ เพราะบ้านกับโรงเรียนอยู่ใกล้กัน แต่หากขึ้นระดับการศึกษาสูงชั้นมัธยมต้น โรงเรียนอยู่ไกลออกไปเด็กต้องเดินทางไกลไปเรียนย่อมมีค่าใช้จ่ายและความไม่ปลอดภัย จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยหลุดออกนอกระบบการศึกษา
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ปัญหาภายในโรงเรียนเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่อยากมาโรงเรียนโดยเฉพาะการกลั่นแกล้งกัน หรือ Bully ซึ่งโรงเรียนต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเหล่านี้อยู่ในระบบการศึกษาให้ได้นานที่สุด ที่สำคัญชุมชน คือฐานการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน ต้องมาช่วยกันสร้างหลักคุ้มครองทางสังคมแก่เด็กให้ยังคงอยู่ในระบบการศึกษาให้ได้นานที่สุด

ขณะที่ นายธนาวุฑ เอื้อละพันธ์ รองประธานกรรมการบริหาร เครือบริษัทแสงทองสหฟาร์มและอัครากรุ๊ป กล่าวว่า โครงการ “อัคราอาสาปันอิ่ม ปันยิ้มให้สังคม” เริ่มต้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้เด็กนักเรียนทุนเสมอภาคไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ต่อมาเกิดปัญหาความขาดแคลนในกลุ่มครอบครัวที่ยากจน และพบว่ามีเด็กทุพโภชนาการจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงจัดโครงการดังกล่าวขึ้นมา ด้วยการบริจาคไข่ไก่
เพราะไข่ไก่เป็นอาหารที่มีโภชนาการโปรตีนสูง รับประทานง่ายสามารถปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด และไข่ไก่เป็นเมนูที่เด็กๆ โปรดปรานที่สุด เช่น ไข่เจียว ไข่ตุ๋น ไข่พะโล้ ไข่ลูกเขย เป็นต้น
สำหรับโครงการนี้ยังได้ดึงประชาชนผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมเพียงซื้อไข่ไก่ของอัคราทุก 1 แพ็ค ๆ ละ 10 ฟอง จะช่วยบริจาคไข่ไก่ จำนวน 2 ฟอง ให้กับน้องๆ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ตามพื้นที่หรือโรงเรียนที่ห่างไกล โดยทาง กสศ. จะเป็นเหมือนพี่เลี้ยงเป็นฝ่ายสำรวจว่าโรงเรียน หรือนักเรียนคนใดที่ขาดแคลน และควรได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้นความช่วยเหลือจะประกอบไปด้วยภาคเอกชน ประชาชนผู้บริโภคไข่ไก่ และ กสศ. ตัวเลขล่าสุดยอดบริจาคไข่ไก่ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ประมาณ 112,748 ฟอง นับเป็นแนวทางในการสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่น้องๆ ที่เป็นเด็กนักเรียนทุนเสมอภาคให้มีโภชนาการทางด้านอาหารและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค