เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศรายชื่อ 64 เมือง จาก 35 ประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ในเครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ (GNLC) ของยูเนสโกในการประชุมระดับสูงแบบเสมือนจริง ‘เสริมศักยภาพผู้เรียนทุกวัย: เมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกพลิกโฉมชีวิต’ (Empowering Learners of All Ages: UNESCO Learning Cities Transform Lives) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการเชิดชูความพยายามอันโดดเด่นในการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เป็นจริงได้สำหรับทุกคนในระดับท้องถิ่น
ปีนี้มีเมืองของประเทศไทยได้รับคัดเลือกและประกาศรับรองให้เป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกจำนวน 3 เมือง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เทศบาลนครขอนแก่น และเทศบาลนครยะลา คุณลักษณะสำคัญของการได้รับคัดเลือกคือการเชื่อมโยงเข้าหากันของสถาบันศึกษา สถาบันฝึกอบรม และสถาบันวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของพันธมิตรที่หลากหลาย เช่น ตัวแทนจากภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และผู้ว่าจ้าง การเป็นเมืองที่สามารถระดมทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และนับรวมทุกกลุ่มคนตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยฟื้นฟูการเรียนรู้ในครอบครัวและในชุมชน อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้สำหรับสถานที่ทำงาน ในขณะเดียวกันก็ขยายการใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้สมัยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 (SDG4) การศึกษาที่มีคุณภาพ และเป้าหมายที่ 11 (SDG11) ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน
เครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก เป็นเครือข่ายระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชนทั้งหลายของตน เมืองแห่งการเรียนรู้ใหม่เหล่านี้ได้รับการเพิ่มเข้าไปในเครือข่ายตามคำแนะนำของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ เงื่อนไขสำคัญในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้คือ ความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของนายกเทศมนตรีและฝ่ายบริหารของทางการเมืองต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนต้องมีประวัติที่แสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มด้านนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดี
ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก กล่าวว่า “เมืองต่าง ๆ ล้วนเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้สิทธิด้านการศึกษากลายเป็นความจริงที่จับต้องได้สำหรับผู้คนทุกวัย ด้วยการเพิ่มสมาชิกใหม่ในครั้งนี้ เครือข่ายจึงประกอบด้วยเมืองสมาชิกทั้งหมด 356 เมืองจากทั่วโลก ซึ่งแบ่งปันความรู้เชิงปฏิบัติการและปูทางสำหรับโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับพลเมือง 390 ล้านคน”
การได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกอย่างเต็มที่ โดยจะได้รับคำแนะนำ แนวทาง และการสนับสนุนในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ มีโอกาสในการเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติ/ภูมิภาค ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานกับเมืองที่เป็นสมาชิกเครือข่ายทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีโอกาสในการเสนอผลการดำเนินงานที่มีความโดดเด่นเพื่อรับรางวัล UNESCO Learning City Award ซึ่งมีการมอบรางวัลทุก 2 ปีด้วย
ประเทศไทยมีสมาชิกที่เป็นเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้รวมทั้งสิ้น 10 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย (เป็นสมาชิกเมื่อปี 2562) เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา (เป็นสมาชิกเมื่อปี 2563) จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพะเยา เทศบาลนครหาดใหญ่ (เป็นสมาชิกปี 2565) และกรุงเทพมหานคร เทศบาลนครขอนแก่น และเทศบาลนครยะลา ได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกล่าสุดในปีนี้
รายชื่อเมืองสมาชิกใหม่เครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก